Pride Month และ LGBTQ+
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เดือนมิถุนายน หากพูดถึงเดือนมิถุนายน หลาย ๆ ท่านคงนึกถึง Pride Parade
ขบวนพาเหรดของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ พร้อมด้วยสีสันและการแต่งกายอันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ
และเมื่อปีที่แล้ว ปี 2023 ในประเทศไทยก็เป้นที่าฮือฮาและเป็นที่จับตามอง
เพราะมีการจัดแคมเปญ "The Road to Bangkok Pride 2023"
ก่อนอื่นเลย Pride Month คืออะไร และมีที่มาอย่างไร
เรามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
Pride Month หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจ
ย้อนเวลากลับไปหลายต่อหลายปีคำว่า ความหลากหลายทางเพศ นั้นยังไม่เป็นที่รู้จักและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้ผู้คนที่แสดงออกไม่ตรงตามเพศกำเนิดจะถูกกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ร้ายแรงไปถึงการถูกจับกุมหากเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงจำเป็นต้องปิดบังตัวตนเพื่อไม่ให้ใครได้รู้
ปี ค.ศ. 1969 การลุกฮือที่สโตนวอลล์ (Stonewall Uprising)
ในปี ค.ศ. 1966 จีโนวีส (Genovese) ครอบครัวกลุ่มมาเฟียที่มีอำนาจของนิวยอร์ก ได้ซื้อกิจการสโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) และก่อตั้ง "บาร์เกย์" ขึ้น โดยสถานที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่พวกเขาสามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเป็นอิสระ ะทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจได้บุกเข้ามาตรวจค้นในบาร์ แต่ครั้งนี้ผู้คนภายในบาร์เริ่มต่อสู้และทำการตอบโต้กลับ และมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม
ส่งผลให้หลังจากคืนนั้นผู้คนจำนวนหลายพันคนมาที่บาร์เพื่อชุมนุม จนเกิดเป็นการจลาจลใหญ่ซึ่งกินระยะเวลานานหลายวัน โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำมาสู่การรวมพลังกันของกลุ่มคน LGBTQ+ เพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน แต่ยิ่งตำรวจปราบปรามมากเท่าไร ฝูงชนก็ยิ่งเดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึง "ไพรด์" (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตัวเอง
Pride แปลว่า ความภาคภูมิใจ
ปี ค.ศ. 1970 กำเนิด Pride Parade
หลังจากครบ 1 ปี เหตุการณ์การลุกฮือที่สโตนวอลล์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นำโดย Brenda Howard นักเคลื่อนไหวผู้เป็นแกนหลัก ได้รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ (Pride parade) เป็นครั้งแรกที่นิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ ทำให้เดือนมิถุนายนของทุกปี กลายเป็นเดือนที่ชาว LGBTQ+ จะออกมาเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้และแสดงจุดยืนในสิทธิเสรีภาพของตนเอง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 28 มิถุนายน จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน
แต่การระลึกถึงเหตุการณ์จราจลในวันนั้น ได้ขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้าย กลายเป็นเรียกร้องแบบทั้งเดือนยาวต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นที่มาของเทศกาล "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจที่ยาวนานตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนั่นเอง
ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม
ปี ค.ศ. 1978 กำเนิด Rainbow flag
ธงสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของชาว LGBTQ+ นั้น เกิดจาก กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนผู้เป็นเกย์อย่างเปิดเผย โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976
ในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่
- สีชมพู (Hot Pink) หมายถึง เรื่องเพศ
- สีแดง หมายถึง ชีวิต
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
- สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
- สีฟ้า (Turquoise) หมายถึง เวทมนต์
- สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
ปัจจุบันคงไว้ 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ สีชมพู Hot pink และสีฟ้า Turquoise เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่างๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเคย
สีแดง – ชีวิต / สีส้ม - การเยียวยา / สีเหลือง – ความหวัง / สีเขียว - ธรรมชาติ / สีฟ้า – ศิลปะ / สีม่วง – จิตวิญญาณ
รู้มั้ยว่าธงไพรด์ ที่หลากสียังมีสีที่นอกเหนือจากธงของ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” เช่น
Philadelphia Pride Flag ธงที่มีการเพิ่มสีดำ และน้ำตาลเข้าไปในปี 2017 เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชาวผิวสี เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากกว่าธรรมดา
Progress Pride Flag ธงที่พัฒนามาจาก Philadelphia Pride Flag คิดค้นขึ้นโดย “แดเนียล ควาซาร์” ในปี 2018 โดยสีของธงยังคงมีสีดำและน้ำตาลอยู่ แต่เพิ่มสีชมพูและสีฟ้าเข้าไป เพื่อสะท้อนถึงทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศเข้าไปด้วย
LGBTQ+
เปิดความหมาย "LGBTQIAN+"
สำหรับความหมายของ "LGBTQIAN+" นั้นย่อมาจากคำเรียกเพศวิถีต่างๆ ที่มีความหลากหลาย
จากเดิมที่มีตัวอักษร "LGBT" แค่ 4 ตัว แต่ต่อมาได้ใส่ + เข้าไป เพื่อสื่อถึงความหลากหลายที่เพิ่มเข้ามา
L = Lesbian - เลสเบี้ยน คือ ผู้หญิงที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน
G = Gay - เกย์ คือ ผู้ชายที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้ชายด้วยกัน
B = Bisexual - คนรักสองเพศ คือ คนที่ชื่นชอบได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่า ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T = Transgender - คนข้ามเพศ คือ บุคคลที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้าม และแตกต่างไปจากเพศกำเนิดของตัวเอง
Q = Queer - เควียร์ เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตัวเอง ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือไม่ระบุเพศ
I = Intersex - คนที่มีเพศกำกวม คือ บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือแบบโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคคลากรทางแพทย์
A = Asexual - คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือ บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ได้โฟกัสที่ความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศ ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม
N = Non-Binary - นอนไบนารี่ เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อทำให้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ให้สอดคล้องกับเพศหญิง หรือเพศชายเท่านั้น
P = Pansexual - แพนเซ็กชวล หมายถึงคนที่รักได้ทุกเพศ ซึ่งมีขอบเขตกว้างกว่าไบเซ็กชวล
2S = Two-Spirit - ทูสปิริต หรือ 2 จิตวิญญาณ หมายถึงคนที่มีความเป็นชายและหญิงในคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมทางเพศ เพศสภาพ หรือจิตวิญญาณ มีรากคำศัพท์มาจากกลุ่มชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ
และยังมีความหลากหลายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
แม้ว่าในปัจจุบันความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น
แต่ด้วยบริบททางสังคมที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับเรื่องเพศ
ทำให้ยังมีการแบ่งแยกและบูลลี่กันในสังคม หลายคนถูกเพื่อบูลลี่เพียงเพราะพฤติกรรมการแสดงออกไม่ตรงกับเพศสภาพ
จึงอยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนเปิดใจให้กว้าง มองโลกในมุมที่หมุนไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงในทุกวัน
เพราะทุกชีวิต และทุกความแตกต่าง คือความสวยงามที่ร่วมกันขับเคลื่อนโลกใบนี้