เมื่อฉันรับบทเป็น call center
ย้อนกลับไปประมาณยี่สิบปีที่แล้ว ฉันเป็นเด็กจบใหม่ ปริญญาที่ใช้ทำมาหากินก็คือศิลปศาสตรบัณฑิต ได้เกียรตินิยมอันดับสองเลยนะ นึกถึงวันที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในตอนนั้น ก็เพิ่งรู้ว่าบัณฑิตทั้งหอประชุมต้องปรบมือให้ฉัน หลังจากขานชื่อ เพราะคำว่าเกีบรตินิยม ถึงแม้จะเป็น อันดับสอง ก็เถอะ ลึกๆ แล้ว ฉันก็แอบภูมิใจ แต่ในโลกของการทำงาน ฉันแทบจะต้องนับหนึ่งใหม่ ต้องยอมรับความจริงว่า เด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมากมายหรอกนะ ที่จะใช้ซื้อโอกาสเพื่อเข้าทำงานได้ง่ายๆ โดยเฉพาะงานประจำ ด้วยความที่ฉันอยากได้งานทำซะที ว้าวุ่นเลยในตอนนั้น การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้น ฉันต้องยอมทำงานไม่ตรงสายกับที่เรียนมา ต้องเลือกสมัครงานที่ยินดีรับเด็กจบใหม่ ไร้ประสบการณ์ แม้แต่อุปกรณ์สำนักงานก็ใช้ไม่เป็น ทักษะพิมพ์ดีดของฉันก็เหลือแค่จิ้มดีดเท่านั้น จากความพยายามร่อนใบสมัครงานแทบจะสิบทิศ เดินสายสัมภาษณ์งานไปทั่วอย่างกับทัวร์คอนเสิร์ต ในที่สุดฉันก็ได้งานประจำงานแรกที่สถานีวิทยุจิตอาสาเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ฉันดีใจเหมือนได้ฝนหลวง หน้าที่หลักคือการรับสายโทรศัพท์หลังไมค์ แต่ชื่อตำแหน่งเป็นทางการคือ เจ้าหน้าที่ข้อมูล คนส่วนใหญ่ที่โทรเข้ามาก็จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางจราจร ตรงไหนรถติดบ้าง แต่ที่น่าตื่นเต้นในงานนี้ก็คือการรับข้อมูลเพื่อประสานงานช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีรถเสีย ลืมสิ่งของไว้ในรถแท็กซี่ หรือแม้แต่ผู้หญิงใกล้คลอดที่ขอเปิดเส้นทางแบบด่วนๆ เพื่อไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะการคลอดลูกคนที่สองนั้น ทำเอาทีมงานทั้งหมดเร่งประสานงานแบบก้นไม่ติดเก้าอี้ เพราะเมื่อคุณแม่น้ำเดินแล้ว จะพร้อมคลอดทารกในทันที และฉันเพิ่งรู้ว่าคนที่ต่างจังหวัดก็ชื่นชอบการทำงานของสถานีวิทยุจิตอาสาแห่งนี้ไม่แพ้กัน ดูจากกรณีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ประชาชนที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ ที่ทยอยโทรเข้ามาแจ้ง ต่างเรียกสึนามิว่าเป็นน้ำท่วมกันหมด ฉันจึงเข้าใจได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดขึ้น แต่ก็สร้างผลกระทบมหาศาลเลยทีเดียว ด้วยความที่ฉันไม่สันทัดทักษะทางคณิตศาสตร์ ฉันจึงพอมีทักษะในการสนทนาภาษาอังกฤษอยู่บ้างเพื่อใช้ทำมาหากิน ไม่น่าเชื่อว่าจะมีชาวต่างชาติโทรเข้ามาขอความช่วยเหลือ ในวันที่ฉันต้องทำงานที่สถานีเวรกลางคืน ฉันได้รับสายโทรศัพท์จากสาวต่างชาติรายหนึ่ง นางพูดไป ร้องไห้ไป จับใจความได้ว่าแมวป่วย ปฐมพยาบาลยังไง แมวก็ไม่ดีขึ้น ฉันเลยแนะนำโรงพยาบาลสัตว์ที่อยู่ไม่ห่างจากที่พักของนาง กว่าจะปิดจ๊อบนี้ได้ ฉันก็ทำนางตกใจไปครั้งหนึ่ง เพราะออกเสียงพลาดจากคำว่า cure ที่แปลว่า รักษา ซึ่งนางฟังเป็นคำว่า kill ที่แปลว่า ฆ่า ฉันก็แอบคิด โถ แม่คุณ ใครจะแนะนำให้ฆ่าแมวป่วยได้ลงคอกันเล่า
สิ่งหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับฉันไม่น้อยเลย ก็คือน้ำเสียงในการทำงาน ตอนที่ฉันทำงานที่สถานีวิทยุจิตอาสา ฉันถูกติงว่าน้ำเสียงไม่หนักแน่นเลย เสียงเบาไป แต่พอฉันเปลี่ยนงานมาเป็น call center ให้กับบริษัทค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ โลโก้สีฟ้าขาว ฉันกลับถูกติงว่าเสียงดุเกินไปเวลาสนทนากับลูกค้า ฉันแอบคิด ถ้าดัดเสียงให้ไพเราะกว่านี้ ฉันคงต้องคุยกับลูกค้าเป็นทำนองเดอะมิวสิเคิลแล้วล่ะ แทบจะร้องเพลงให้ลูกค้าฟังละนะ ประสบการณ์จากงาน call center สอนฉันว่าความอดทนอดกลั้นนั้น สำคัญมากกับอาชีพนี้ เหมือนเป็นด่านแรกที่ต้องรองรับอารมณ์ลูกค้าประหนึ่งต้องมี service mind ในระดับบรรเทาทุกข์ชาวบ้านเลยทีเดียว ทั้งที่ปัญหาของลูกค้ามันไม่ได้เกิดมาจากฉันเลยแม้แต่น้อย แต่ในเมื่อองค์กรจ้างฉันในตำแหน่งนี้ ฉันก็ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างดีที่สุด บางครั้งฉันก็น้อยใจกับลูกค้าบางคนที่โทรมาเกรี้ยวกราดนะ เหมือนจะฆ่าจะแกงกันเลย อธิบายอะไรไปก็ไม่พอใจซะที ซึ่งในโลกของการทำงาน สิ่งเดียวที่ทำให้อยากตื่นเช้าขึ้นมาทำงาน ก็คือความสบายใจในการทำงาน ถ้าหากความอดทนในงานนั้นสิ้นสุดลงแล้ว การเปลี่ยนสายงาน ก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวในหน้าที่การงานหรอกนะ ฉันขอเป็นกำลังใจให้ call center ผู้เข้มแข็งขององค์กรทุกแห่ง และเป็นกำลังใจให้นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังตัดสินใจก้าวเข้าสู่อาชีพนี้เช่นกัน