ความเป็นมาของ " ขนม 4 ถ้วย " ขนมมงคลในงานแต่ง
ที่มาที่ไปของขนมสี่ถ้วยนี้มีจุดแรกเริ่มมาจากในแผ่นดินพระร่วงเดิม ก่อนที่จะมีการนับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการแต่งงาน คือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของสองตระกูล ด้วยของเซ่นไหว้ 4 ถ้วยเพื่อให้เป็นทองแผ่นเดียวกันโดยสมบูรณ์ โดยเรียกประเพณีนี้ว่า กินสี่ถ้วย โดยได้สืบทอดกันมา ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามจนมาถึงปัจจุบัน ขนมทั้ง 4 ชนิดนี้ได้มีกินกันมานานแล้วและมักจะใช้ในงานมงคลสมรสเพื่ออวยพรให้บ่าวสาวรักกันยืนยาว ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรแทนคำพูดนั่นเอง
โดยในสมัยก่อนจะเป็นที่รู้กันว่า หากมีชาวบ้านพูดว่า ไปกินสี่ถ้วย ก็คือให้ทราบทั่วกันว่าจะไปงานแต่งมา โดยขนมสี่ถ้วยนั้นประกอบด้วย ไข่กบ หรือเม็ดแมงลักหรือเม็ดสาคู นกปล่อย หรือลอดช่องไทย บัวลอย มะลิลอย หรือนางลอย หรือข้าวตอก และ อ้ายตื้อ หรือข้าวเหนียว (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวดำ) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนผสมสำคัญคือ น้ำกะทิ ราดเคล้าขลุกขลิกให้อร่อยเลิศขึ้นไปอีก โดยก่อนหน้านี้ที่บอกว่าแทนคำพูดอวยพร ก็คือขนมทั้ง 4 ชนิดนี้มีความหมายในตัวเองที่คนทั่วไปรู้กันดีคือ
1. ไข่กบ หมายถึง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง (เพราะกบนั้นมีลูกดกมาก)
2. อ้ายตื้อ หมายถึง ความรักอันเหนียวแน่น
3. นกปล่อย หมายถึง ความยืนยาวและความราบรื่น
4. นางลอย หมายถึง ความรักอันเบ่งบาน
การกินขนมทั้ง 4 อย่างนี้ก็แสนง่ายโดยมีขั้นตอนการกินดังนี้คือ หยิบข้าวเหนียวดำลงใส่ถ้วยตามด้วยลอดช่อง เมล็ดแมงลักแล้วราดด้วยน้ำกะทิผสมน้ำตาลโตนด โรยด้วยข้าวตอกที่จะเริ่มอมน้ำหวานทำให้เวลาเคี้ยวจะนุ่มลิ้น และกลิ่นหอมของน้ำตาลโตนดจะเพิ่มรสชาติความอร่อยขึ้นไปอีก ซึ่งนับว่ากินสี่ถ้วยเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน และในปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติตามคำโบราณนี้อยู่เพราะเป็นความเชื่อที่ฝังลึกลงในสายเลือดของเราชาวไทยนั่นเอง