นินกิ นันกะ ตำนานราชาอสูรกายสยองเลื้อยรอบแม่น้ำ
ทวีปแอฟริกา จัดว่าเป็นทวีปแสนกว้างใหญ่ไพศาล มากไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศอันหลากหลายมากมาย แต่ก็ยังคงมีปริศนาและตำนานอีกมากรอการค้นพบทางวิทยาศาตร์ หากพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่ตกสำรวจในทวีปแอฟริกาแล้ว ก็มีมากมายไม่น้อยเช่นกัน ในวันนี้ เราจะมาค้นหาตำนานเรื่องของอสูรกาย ผู้ได้ฉายาว่า อสูรมังกรแห่งหายนะของทวีปแอฟริกา
ประเทศแกมเบีย ประเทศเล็กๆ ในพื้นที่แอฟริกาตะวันตก มีสภาพแวดล้อมหลากหลายทั้งป่าดิบชื้น แม่น้ำ ทะเลสาบ และมากไปด้วยสัตว์หายากนานาชนิด ทั้งฮิปโปโปเตมัสแคระ จระเข้ปากยาวแอฟริกัน พะยูนแมนนาทีแอฟริกา และปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดแหวกว่ายในแม่น้ำ มีชนพื้นเมืองดั้งเดิมหลากหลายกลุ่มอาศัยในป่าดิบชื้นและทะเลสาบโดยรอบ
แต่พวกเขาเหล่านั้นต่างเล่าถึงนินกิ นันกะ สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีคอยาว มีลักษณะคล้ายงูที่มีขาหรือไม่ก็ตะกวด มีเขาสองข้างบนหัวแหลมตั้งขึ้นมา หรือบางทีก็ไม่มีเลย ผิวของมันเป็นเกล็ดสีน้ำตาล หรือบางทีก็สีเงินเลื่อมกับแสงอาทิตย์แล้วจะสะท้อนแสงออกมา สัตว์ตัวนี้่มีความยาวตั้งแต่สองเมตรถึงสี่เมตร มันว่ายน้ำเก่งมาก สามารถแถกไถลตัวไปตามพื้นโคลนได้อย่างว่องไว หากใครได้ยินชื่อหรือได้พบเห็นมัน จะล้มป่วยอย่างน่าประหลาดและเสียชีวิตลงไม่นานนัก จึงเป็นเหตุที่ชาวบ้านจะไม่กล่าวถึงมัน
ถึงกระนั้น นินกะ นันกะก็หวาดกลัวเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก และเพราะกระจกเองก็มีพลังอำนาจในการสะท้อนสิ่งชั่วร้ายทำให้มันอาจจะถึงตายได้ มันจึงจะไม่เข้าใกล้บ้านของมนุษย์ที่มีกระจก และพวกชาวบ้านจะหลีกเลี่ยงการหาปลาในยามกลางคืนที่ทะเลสาบหรือแม่น้ำ เพราะนินกิ นันกะจะออกหากินและอาจจะจับพวกเขาไปกินได้ พวกเขาเชื่อว่านินกิ นันกะนั้นจะขุดโพรงดินขนาดใหญ่ตามตลิ่งคันดิน และศูนย์กลางการพบเห็นอยู่ที่ ทะเลสาบเตเล และแม่น้ำแกมเบียนั่นเอง
เรื่องราวของนินกิ นันกะ ถูกเล่าขานและเป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 ช่วงที่ชาวยุโรปเเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาเพื่อหาแหล่งอณานิคมเพื่อกอบโกยทรัพยากรจนจะไม่เหลือทิ้งไว้ พวกเขาได้ฟังเรื่องเล่านี้จากชาวพื้นเมืองในแกมเบียจำนวนมาก แต่ชาวยุโรปก็ไม่เชื่อและยังได้สร้างเขื่อนกั้นกับแม่น้ำแกมเบียที่ไหลลงสู่ทะเลสาบเตเล ชาวพื้นเมืองที่ทราบก็ได้เอากระจกบานใหญ่ในบ้านมาตั้งไว้ทั้งหมู่บ้าน และทำให้เกือบเกิดเหตุต้องทะเลาะกันกับเจ้าอณานิคม ถึงกระนั้นเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จก็ไม่ได้เกิดเหตุร้ายมากนัก และเรื่องของมังกรร้ายดูจะจบลง แต่ว่า ก็อาจจะยังไม่หมดเสียทีเดียว
ในปี ค.ศ. 1986 เซลากา วิดา ชายชาวพื้นเมืองได้บอกว่าเขาได้เห็นสัตว์ตัวนี้ในคืนหนึ่งที่เขาไปกู้แหดักปลาที่ทะเลสาบเตเล เขาล่องเรือในเวลาหัวค่ำและได้ไปหยุดที่ริ่มตลิ่งฝั่งหนึ่ง เรือของเขาได้สะกิดไปโดนวัตถุขนาดใหญ่ ตอนแรกเขาคิดว่าสิ่งที่โดนเรือเป็นฮิปโปโปเตมัสไม่ก็ขอนไม้ ก่อนจะมีสัตว์คล้ายงูที่มีเขาบนหัวแหวกน้ำขึ้นมาด้วยความเร็ว
โดยเขาได้บอกว่าเขาเห็นมันเพียงส่วนหลังและหัวที่โดดเด่น มันมีสีออกเทาเข้ม ผิวสากแข็งแต่มีเกล็ดเล็กละเอียด มันว่ายวนรอบเรือของเขาด้วยความเร็วคล้ายจระเข้ก่อนจะใช้หางตีฟาดเรือของเขาจนเรือส่ายไปมา โชคดีที่เขาหันเรือและจ้ำอ้าวพายหนีออกมาได้ทันจนปลอดภัย เมื่อได้ถามเพื่อนในหมู่บ้านก็ได้ความว่า มีญาติผู้ใหญ่ของเขาเคยเจอสัตว์ตัวนี้และได้ต่อสู้กันโดยที่ญาติคนนั้นได้ใช้มีดพร้าฟันหน้าของมันจนบาดเจ็บสาหัสและจมน้ำหายไป แต่หลังจากนั้นเขาก็ได้เสียชีวิตลงด้วยแผลพุพองและอาการอาเจียนเป็นเลือดหลังจากนั้นในสามเดือน
ในปี ค.ศ. 2003 โมโมโก โวดู เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคีย์เวสต์ ชาวแกมเบีย ได้ลาดตระเวนด้วยตัวคนเดียวรอบๆ พื้นที่ชุ่มน้ำ เขาได้เห็นสัตว์ขนาดใหญ่คล้ายตะกวดตัวยาววิ่งออกมาจากโพรงดินขนาดใหญ่ สัตว์ตัวนั้นมีหัวแหลม มีเขาแหลมยาวและหางยาว ดูเหมือนตะกวดที่มีเขา มันวิ่งด้วยความรวดเร็วและลงน้ำหายไป หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้ป่วยลงด้วยอาการแผลพุพองคล้ายกับโรคผิวหนังชนิดรุนแรงและมีอาการหนาวสั่นคล้ายเป็นไข้ เมื่อรักษากับคลีนิคในหมู่บ้านไม่ได้ผล เขาจึงไปหาหมอผีที่สามารถใช้เวทย์มนตร์พื้นเมืองรักษา เมื่อรับการรักษาจากหมอผีจนเรียบร้อยแล้ว อาการโรคภัยที่โมโมโกเผชิญก็หายเป็นปลิดทิง
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2006 ได้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยสัตววิทยาฟอร์เทียน (Centre For Fortean Zoology) เดินทางมายังประเทศแกมเบีย และได้มีการสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่โมโมโก โวดู เป็นพยาน และได้นำรูปของสัตว์เลื้อยคลานทั้งที่มีในตำนานและที่มีอยู่จริงมาให้ชาวพื้นเมืองเทียบดู พวกเขากลับชี้ว่ามันคล้ายมังกรจีนมาก
จากนั้นพวกเขาจึงสำรวจป่าและทะเลสาบเตเลต่อ แต่ก็พบเพียงสิ่งที่ดูเหมือนเกล็ดแววาวจนได้ออกข่าวกับช่องรายการบีบีซี (BBC) แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเกล็ดนั้นเป็นของสัตว์ชนิดใด บางคนก็บอกว่ามันอาจจะเป็นเพียงเกล็ดปลาหรือจระเข้ที่พบได้ในทะเลสาบ และก็ยังมีกลุ่มคนและผู้เชี่ยวชาวญที่ออกมาคัดค้านการตามหานี้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และสัตว์ที่ชาวพื้นเมืองบอกก็อาจจะเป็นเพียงตะกวดแม่น้ำไนล์ที่เป็นสัตว์พื้นถิ่นในทวีปแอฟริกาที่เจอได้ทั่วไป ไม่ก็เป็นเพียงงูเหลือมขนาดใหญ่ ปลาไบเคอร์แอฟริกาที่หน้าตาเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน หรือไม่ก็ฮิปโปโปเตมัส
ถึงกระนั้น ก็มีผู้สนับสนุนกับทีมนักวิจัยกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย และตั้งทษฏีว่ามันอาจจะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อาจจะหลงมาอยู่ในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์และไม่ได้สูญพันธุ์ไป เช่น ชริงกาซอรัส (Shringasaurus) หรือตัวทรานิสโทรเฟียส (Tranystropheus) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานจากยุคไทรแอสสิค (200 ล้านปีที่แล้ว) ที่อาจจะอพยพไปยังทวีปแอฟริกาในช่วงที่แผ่นดินยังเชื่อมต่อกัน เพราะแอฟริกานั้นเคยต่อและเชื่อมติดกับทวีปอื่นๆ ทั้งอินเดีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และยุโรปในหลายๆ ยุคและช่วงเวลา และด้วยความกันดารของทวีปที่ตกสำรวจจึงทำให้อาจจะมีสัตว์ดึกดำบรรพ์สักชนิดอาศัยอยู่ก็เป็นได้
ถึงแม้จะยังเป็นปริศนาและหาหลักฐานไม่ได้ แต่ว่าเรื่องราวของอสูรกายตัวนี้กลายเป็นตัวดึงดูดการท่องเที่ยวในประเทศแกมเบียอย่างมหาศาล เป็นแหล่งรายได้ให้กับชาวบ้าน ถึงแม้ตำนานจะดูไร้เหตุผลและเป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา แต่ก็มีสิทธ์ที่จะมีพื้นฐานความเป็นจริงไม่มากก็น้อย ดังนั้น ฟังดูไว้หูจะดีกว่านะ