เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศไทยได้อะไร ?
ปัจจุบันเทศกาลหนังเมืองคานส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทศกาลหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของการได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก การแจกรางวัลหนังที่เข้าประกวด ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพการตัดสิน ที่สำคัญยังมีสถานะเป็นเทศกาลหนัง ที่ถือว่าเป็นตลาดซื้อ-ขายหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วยเช่นกัน
(นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วธ. เดินพรมแดง Cannes เมื่อปี 2023)
กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชน เข้าร่วมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คานส์ ฟิล์ม เฟสติวัล ๒๐๒๔ (Village International Cannes Film Festival 2024) เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ - ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีภาคเอกชนเข้าร่วมงาน ๑๒ บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย ได้แก่ M STUDIO, SAHAMONGKOL FILM INTERNATIONAL, BRANDTHINK, NERAMITNUNG FILM , GDH559, YGGDRAZIL GROUP, NIGHT EDGE PICTURES , BENETONE FILMS , HOLLYWOOD (THAILAND) , KANTANA MOTION PICTURES , HALO PRODUCTIONS , RIGHT BEYOND และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย
ภายในเทศกาลมีหลากหลายกิจกรรมภายในงาน อาทิ กิจกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์และโทรทัศน์ นิทรรศการคูหาประเทศไทย เป็นต้น นำผลงานมาโชว์พร้อมกับตั้งโต๊ะเปิดการเจรจาทางธุรกิจ ทั้งพาวิเลียนและบูธหนังไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวงวัฒนธรรม
นโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจบันเทิงไทย เป็นการโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมหนังของไทย ผ่านกิจกรรมงาน Thai Night ที่มีขึ้นทุกปี และปีนี้กำหนดหัวข้อว่า “Thailand Transformed” ซึ่งเป็นการนำเสนอก้าวใหม่ในทุกมิติที่เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมหนังของไทย ให้ต่างชาติรับทราบ อาทิ บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง สถานที่ถ่ายทำที่มีความสวยงาม และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทั้งในขั้นตอนของ Production และ Post-Production ประกอบกับที่ไทยมีชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว สอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น รวมถึงมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมธุรกิจบันเทิงของไทยเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ ดึงดูดสายตาและสร้างความสนใจให้แก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์จากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Filming in Thailand : All your Film Could Ever Need” ภายใน International Village หมายเลขคูหา 112 เพื่อเชิญชวนคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ประชาสัมพันธ์สถานที่ถ่ายทำ มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน Cash Rebate สิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับกองถ่ายทำต่างประเทศ รวมทั้งแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้กับคณะถ่ายทำต่างประเทศ
ภารกิจงานครั้งนี้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างแรงจูงใจให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการสร้างภาพยนตร์ เพราะการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และสนับสนุนให้ภาพยนตร์เป็น 1 ใน Soft Power ที่ช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นการท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจ
*** อยากให้หนังไทยไปฉายเมืองคานส์ทุกปี ประกาศศักดาบันเทิงไทย ***
รูปภาพ : เครดิต FBสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม