กำเนิด " วุ้นมะพร้าว "
เจ้าวุ้นเคี้ยวหนึบหนับชนิดนี้ผมเห็นมันครั้งแรกในโยเกิร์ตผสมวุ้นมะพร้าว พอได้ลิ้มรสแล้วรู้สึกว่ามันเข้ากันกับโยเกิร์ตดีแท้ และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเวลาจะกินโยเกิร์ตก็เลือกกินแต่ที่ผสมวุ้นมะพร้าวเท่านั้น จากความเข้าใจที่คิดไปเองว่าเจ้าวุ้นมะพร้าวนี้น่าจะทำมาจากผงวุ้นและเนื้อหรือน้ำมะพร้าวแน่ๆ แต่คิดผิดถนัดเพราะมันทำมาจากน้ำมะพร้าวกับแบคทีเรียต่างหาก โดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นมะพร้าวอยู่มากมายประเทศหนึ่ง โดยในปี1949 นักวิทยาศาสตร์และนักเคมีหญิงนามว่า Teodula Kalaw Africa ได้เขียนงานวิจัยและคิดค้นผลิตภัณฑ์แปรรูปสุดพิเศษนี้ขึ้นมาด้วยกระบวนการหมักแบคทีเรีย โดยเธอทำงานอยู่ในสมาคมมะพร้าวแห่งชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นองค์กรรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลและส่งเสริมการปลูกมะพร้าวในฐานะของพืชอุตสาหกรรมในฟิลิปปินส์ โดยเธอเรียกเจ้าผลิตภัณฑ์ที่เธอคิดค้นนี้ว่า นาตา เดอ โคโค่ (Nata de coco) นั่นเอง
ซึ่งเจ้าวุ้นมะพร้าวที่ถูกคิดค้นขึ้นมานี้ เพื่อที่จะใช้มะพร้าวเป็นตัวแทนของสับปะรดซี่งผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างนาตา เดอ ปิญ่า ซึ่งเป็นวุ้นสับปะรดที่กินกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยนาตา เดอ ปิญ่าเป็นอาหารที่มีความต้องการซื้อสูง แต่อัตราการผลิตนั้นไม่เพียงพอจนผลิตไม่ทัน ส่วนวิธีการทำวุ้นมะพร้าวนั้นเกิดจากการหมักน้ำมะพร้าวกับแบคทีเรียเพื่อให้เกิดเป็นเซลลูโลสขึ้นมา ซึ่งกว่าที่วุ้นมะพร้าวจะถูกเผยแพร่ก็หลังจากการคิดค้นไปแล้ว 5 ปี จึงได้มีการสอนให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีทำและทำจนขายได้ในที่สุด . . .
มิน่าล่ะ ผมเคยเห็นคนฟิลิปปินส์ที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วได้โพสต์ลงโซเชียลว่า เค้ารู้สึกทึ่งที่ประเทศไทยเอาวุ้นมะพร้าวมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายอย่างคาดไม่ถึงดดยเฉพาะใส่ในโยเกิร์ต (ชอบเหมือนกันละสิ) ซึ่งมันน่าทึ่งมากๆที่มันเข้ากันเป็นอย่างดี เค้ายังบอกอีกว่าถ้าทางฟิลิปปินส์เอาจริงเอาจังได้สักครึ่งของไทย วุ้นมะพร้าวที่ประเทศฟิลิปปินส์ให้กำเนิด คงไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน