รับมือเปลวสุริยะ! ป่วนสัญญาณสื่อสาร
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ประกาศเตือนว่าพายุสุริยะระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ยากได้เดินทางมาถึงโลกตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และอาจส่งผลกระทบไปจนถึงสัปดาห์หน้า
ในขณะที่ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อาจได้เห็นสิ่งที่คล้ายแสงเหนือสีเขียวในช่วงสุดสัปดาห์ พายุสุริยะครั้งนี้อาจส่งผลถึงดาวเทียม ระบบสื่อสารและระบบนำทาง NOAA จึงแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ในโรงผลิตไฟฟ้าและอากาศยานในวงโคจรโลก รวมถึงองค์การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินให้ระมัดระวังผลกระทบจากดวงอาทิตย์
ชอน ดาห์ล นักพยากรณ์อากาศอวกาศของ NOAA กล่าวว่า พายุสุริยะครั้งนี้มีระดับความรุนแรงที่ระดับ 4 (จาก 5 ระดับ) ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับสายไฟฟ้าแรงสูง แต่สายไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบ นอกนั้นก็อาจกระทบกับดาวเทียมในวงโคจรโลกซึ่งอาจกระทบต่อการใช้งานระบบนำทางและการสื่อสารบนโลก
NOAA ยังระบุอีกว่าพายุสุริยะครั้งนี้เกิดขึ้นจากเปลวสุริยะที่ปะทุขึ้นมา ซึ่งเป็นวงจรเมื่อถึงจุดสูงสุดของวงในรอบ 11 ปี
ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA กล่าวว่าพายุสุริยะจะไม่กระทบต่อนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ระดับรังสีที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นความเสี่ยงต่อมนุษย์ซึ่งต้องไปหลบภัยในบริเวณที่มีการป้องกัน นอกจากนี้พายุสุริยะอาจสร้างความเสียหายให้ดาวเทียมวิทยาศาสตร์ ซึ่งทาง NASA จะต้องปิดอุปกรณ์ที่พิจารณาว่าเปราะบางต่อสถานการณ์ แต่อากาศยานที่ศึกษาดวงอาทิตย์จะคอยจับตาดูปรากฏการณ์หายากครั้งนี้
พายุสุริยะในครั้งนี้เกิดจากพลาสมาเจ็ดสายที่พ่นออกมาจากดวงอาทิตย์เมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งอาจเทียบได้กับความรุนแรงของเหตุการณ์ Carrington ในปี 1859 ซึ่งทำให้การสื่อสารทั่วโลกหยุดชะงักและทำให้ไฟไหม้สถานีโทรเลข
สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ในสังคมที่พึ่งพาเทคโนโลยี พายุแม่เหล็กที่มีขนาดใหญ่นี้อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของระบบไฟฟ้า ไฟฟ้าดับ และอาจก่อความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่
- ปัญหาการควบคุมแรงดันไฟฟ้าและการทำงานผิดพลาดของระบบป้องกันในระบบไฟฟ้า
- กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำในท่อส่งที่รุนแรงขึ้น
- การเข้าปะทะพื้นผิวและแรงลากที่เพิ่มขึ้นบนดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลก
- ปัญหาการติดตามและการวางแนวสำหรับยานอวกาศ
- การนำทางผ่านดาวเทียม (GPS) ที่เสื่อมสภาพหรือใช้งานไม่ได้หลายชั่วโมง
- การแพร่กระจายของคลื่นวิทยุความถี่สูง (HF) เป็นระยะๆ หรือหมดไป
ในอดีตเคยเกิดพายุสุริยะในปี 2003 จนเกิดเหตุไฟดับในสวีเดน และหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายในแอฟริกาใต้ ประชาชนทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวอะไรแต่ให้เข้าใจว่าระบบไฟฟ้าและการสื่อสารอาจเกิดการขัดข้องได้ในช่วงนี้





