เวลาเครียดทำไมเราถึงอ้วน…?
เมื่อร่างกายเราอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น เครียดเรื่องเรียน การสอบ อกหัก ตกงาน ปัญหาการเงิน หรือเพื่อนร่วมงาน ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดแบบ "สู้หรือหนี" เมื่อสภาวะความตึงเครียดหายไป ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะลดลงไปด้วย แต่หากมีภาวะเครียดเรื้อรัง เช่น อกหักแล้วยังทำใจไม่ได้ ยังคิดวนอยู่ ก็ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเครียดสูงเรื้อรัง ส่งผลเสียต่อร่างกายของเราหลายด้าน เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง ดูโทรม นอนไม่หลับ ไม่สดชื่น ลดแรงจูงใจในการออกกำลังกาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวมีดังนี้
เมื่อความเครียดเกิดขึ้นมักจะนำไปสู่การรับประทานอาหารตามอารมณ์ ฮอร์โมนเครียดจึงสั่งการให้เราหิวง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (แป้ง) หรืออาหารที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูง เช่น ขนมคบเคี้ยว, ไอศครีม, เค้ก และช็อคโกแล็ตที่มีรสหวาน
นอกจากฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสั่งการไปที่สมองแล้ว ยังสั่งการไปถึงเซลล์ไขมัน โดยเพิ่มการเคลื่อนตัวของไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไปสะสมในเซลล์ไขมันมากขึ้น เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน และสั่งการให้เซลล์ไขมันมาสะสมบริเวณพุงมากขึ้น
วิธีการแก้ไขระดับฮอร์โมนเครียดสูงเรื้อรัง
1.หาสาเหตุของความเครียดแล้วแก้ไขให้ตรงจุด
2.หากิจกรรมที่คลายเครียดทำ การเบี่ยงเบนความเครียด เช่น กิจกรรมที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยลดระดับฮอร์โมนเครียดได้ดีคือ การทำสมาธิ การนอน และการออกกำลังกาย
3.การระบายพูดคุย หรือปรึกษากับคนที่เราสนิท
4.ทานขนม หรืออาหารที่ใช้ความหวานจากธรรมชาติ ไม่มีแคลอรี่ ไม่อ้วน เช่น ขนมคลีน ไม่มีแป้ง ไม่ใส่น้ำตาล แต่ไม่ควรทานในปริมาณที่มากหรืออิ่มเกินไป และควรทานผลไม้ เช่น ส้ม สับปะรด แตงโม จะช่วยบรรเทาอาการโหยของหวานได้
อ้างอิงจาก: สสส, หนังสือพยาบาล,ภาพจากcanva