ไปต่างประเทศใช้บัตรไหนดี บัตรเครดิต vs บัตรเดบิต vs travel card
ปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศง่ายและสะดวกขึ้นมาก จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หนาแน่นอยู่ในสนามบิน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศก็คือการแลกเงิน ที่มีวิธีการที่สะดวกมากขึ้นจากเดิมที่ต้องพกเงินสดไปแลกเป็นเงินสกุลของประเทศที่จะเดินทางไป เช่น แลกเงินเยนเพื่อไปใช้ที่ญี่ปุ่น หรือแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อไปใช้ที่อเมริกา เป็นต้น แต่ทุกวันนี้เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless) แบบเต็มตัว หลายๆธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งสามารถใช้ บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ Travel Card ในการใช้จ่ายค่าบริการหรือซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้แทบทั้งหมด มาดูกันว่าบัตรแต่ละใบมีข้อดีหรือข้อเสียอะไร ที่แตกต่างกันบ้าง
บัตรเครดิต (Credit Card)
คือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต่าง ๆ ออกให้ เพื่อใช้จ่ายแทนเงินสด และต้องชำระคืนภายในเวลาที่กำหนด
ข้อดี :
สามารถใช้จ่ายอะไรก็ได้ กับร้านค้าหรือบริการใด ๆ ก็ได้ที่รองรับ ตามวงเงินในบัตร โดยไม่ต้องจ่ายเงินทันที รอใบแจ้งหนี้มาแล้วค่อยจ่าย ใช้รูดปื๊ดไปก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง และถ้าจ่ายเงินคืนได้ครบตามจำนวนเงินที่รูดไปตรงเวลา ก็ไม่เสียค่าดอกเบี้ยด้วย
มีความปลอดภัยในการใช้จ่าย โดยเฉพาะกับสินค้าที่มีราคาแพง เพราะไม่ต้องพกเงินสดเป็นจำนวนมาก บัตรเครดิตมักมีคะแนนสะสมแต้มผ่านการใช้งาน หรือเครดิตเงินคืนเมื่อใช้จ่าย บัตรบางใบอาจมีโปรโมชั่นพิเศษ เช่น ฟรีประกันการเดินทาง การใช้บริการเลาจ์ของสนามบินฟรี เป็นต้น
หากต้องการยกเลิกการทำรายการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ก็สามารถทำได้ เพียงติดต่อสถาบันการเงินที่ออกบัตรให้ โดยปกติจะได้รับเงินคืนเข้าบัตรเครดิตค่อนข้างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งบัตรเครดิตแต่ละใบมีเงื่อนไข และระยะเวลาคืนเงินไม่เหมือนกัน ควรศึกษาข้อมูลก่อนทุกครั้ง
กรณีบัตรหายหรือบัตรถูกขโมยแล้วนำไปใช้ สามารถโทรอายัดและปฎิเสธการชำระเงินที่เกิดขึ้นจากการที่บัตรถูกผู้อื่นนำไปใช้ได้
ข้อเสีย :
ก่อนใช้จ่ายที่ร้านค้า ต้องดูให้ดี เพราะบางร้านอาจไม่รับบัตรเครดิตหรือบางร้านอาจจะรับเฉพาะบางบัตร ประเภทบัตรเครดิตหลักก็มี VISA, MasterCardและ JCB
มีการคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินตราต่างประเทศ เป็นเงินบาทในอัตราไม่เกินร้อยละ 2.5 จากยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และเรทการเปลี่ยนแปลงค่าเงินก็จะเป็นเรทที่มักจะสูงกว่าเรทการแลกเงินสดตามร้านแลกเงิน การรูดปื๊ด รูดปื๊ดในต่างประเทศ จะเห็นว่าตอนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บเงินจะมียอดเงินที่สูงกว่ายอดเงินที่เราคำนวณไว้ตอนซื้อ อ่านต่อได้ที่ https://board.postjung.com/1519142
เสียค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดในต่างประเทศ
บัตรเดบิต (Debit Card)
คือบัตรที่ผูกไว้กับบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตร เพื่อใช้ทำรายการถอน ฝาก โอนเงินผ่านทางตู้ ATM รวมถึงชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ
ข้อดี :
การใช้บัตรเดบิต ช่วยให้เบิกถอนเงินสด ออกมาใช้ได้อย่างสะดวก ผ่านทางตู้ ATM ของประเทศนั้น ๆ
สามารถใช้รูดซื้อสินค้าหรือบริการได้เหมือนบัตรเครดิต โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่จะเป็นการหักเงินจากบัญชีเงินฝากทันที รูดปุ๊บตัดปั๊บ จึงช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะใช้เงินได้เท่าที่มีจริงๆ
ข้อเสีย :
เงินจะถูกตัดออกจากบัญชีทันที ดังนั้นต้องมีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด
หากมีข้อผิดพลาด แล้วต้องการจะยกเลิกการชำระเงินจะทำได้ยาก อาจจะต้องเสียเวลาเป็นเดือน ๆ กว่าจะได้ยอดเงินที่ตัดไปแล้วกลับคืนมา
การทยอยกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มในต่างประเทศ ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการกดเงินแต่ละครั้งสูง และค่าเงินก็จะถูกแปลงตามเรทของธนาคารซึ่งมักจะสูงกว่าเรทแลกเงินสดทั่วไป
หากใช้รูดซื้อสินค้า ต้องเสียค่าความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน ร้อยละ 1 – 2.5 จากยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ถ้าบัตรหายหรือถูกขโมยแล้วนำไปใช้ สถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะแจ้งอายัดบัตร เพราะบัตรนี้เปรียบเหมือนเงินสด บัตรหายก็เหมือนเงินหาย
Travel Card
คือบัตรเดบิตที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ รูดจ่ายค่าสินค้า/บริการ หรือกดเงินจากตู้ ATM
ข้อดี :
เติมเงินเข้าบัตรไปเท่าไร ก็จะใช้เที่ยวต่างประเทศได้เท่านั้น ควบคุมค่าใช้จ่ายและไม่ปะปนกับเงินฝากในบัญชี
สามารถจัดการแลกเปลี่ยนเงินในบัตรเป็นสกุลเงินใด ๆ ก็ได้ที่บัตรรองรับได้ด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบออนไลน์
ไม่ต้องเสียค่าความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน
แลกเงินเก็บไว้ล่วงหน้าได้ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนดี และเมื่อนำไปใช้จ่ายจะคิดตามเรทในวันที่ใช้
ข้อเสีย :
หากรูดซื้อสินค้าผิดพลาด เงินในบัตรก็จะถูกหักออกไปเลย
มีค่าธรรมเนียมในการออกบัตร แต่ส่วนใหญ่หลายธนาคารจะออกโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมออกบัตรและค่าธรรมเนียมรายปี
ไม่รองรับทุกสกุลเงิน โดยปกติ Travel Card จะรองรับสกุลเงินหลักๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) เยนญี่ปุ่น (JPY) และสกุลเงินของประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมอื่น ๆ
ถ้าบัตรหายหรือถูกขโมยแล้วนำไปใช้ สถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะแจ้งอายัดบัตร เพราะบัตรนี้ก็เหมือนกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินสด ถ้ากระเป๋าสตางค์หายคนเก็บได้เอาเงินไปใช้ก็ไม่สามารถตามเงินคืนได้
ทั้งหมดนี้คือบัตรที่สามารถนำไปใช้ขณะท่องเที่ยวต่างประเทศทั้ง 3 ประเภท แต่ละบัตรก็มีข้อดีและข้อเสียในการใช้งานที่ต่างกัน ก็ลองเปรียบเทียบดูว่าไปเที่ยวต่างประเทศครั้งต่อไปอยากจะเลือกใช้บัตรใบไหน