เรื่องเล่าพระสยามเทวาธิราช
รู้หรือไม่ว่าพระสยามเทวาธิราชมีทั้งหมด 2 องค์องค์นึงเป็นองค์ที่เราคุ้นเคยแต่อีกองค์นึงมีพระพักตร์คล้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
จุดเริ่มต้นของพระสยามเทวาธิราช
ในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์มีพระราชดำริว่า สยามมีเหตุการณ์ที่เกือบจะเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่บังเอิญมีเหตุให้รอดมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นรูปสมมติขึ้น
“พระสยามเทวาธิราช” เทวดาผู้พิทักษ์กรุงรัตนโกสินทร์
เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง ๘ นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตย์แห่งพระสยามเทวาธิราช" เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองนี้ เรียกว่า พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองสามมุข ด้านหน้าขององค์พระสยามเทวาธิราชตั้งรูปพระสุรัสวดี หรือพระพราหมี เทพเจ้าแห่งการดนตรีและขับร้อง มุขตะวันออกของพระวิมาน ตั้งรูปพระอิศวรและพระอุมา มุขตะวันตกของพระวิมาน ตั้งรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หากจะกล่าวสาบานในศาล จะต้องสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง 3 อย่างคือ ศาลหลักเมือง พระแก้วมรกต และพระสยามเทวาธิราช
หากมีโอกาสก็ถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งถ้าเราจะได้สักการะพระสยามเทวาธิราชค่ะ
อ้างอิงจาก: โบราณนานมา, วิกิพีเดีย