พระแก้วน้ำค้าง ศิลปะพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์ สวยงามมากๆเลยเด้อครับเด้อ
พระพุทธรูปแบบนี้เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยเป็นสมบัติเดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้นั้นได้จัดแสดง ณ ห้อง ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปสลักจากแก้วหินผลึกใส พระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ พระพักตร์รูปไข่ ครองจีวรห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย บนฐานทองคำลงยาราชาวดี
หินผลึกใส หรือที่เรียกกันว่า “แก้วน้ำค้าง” มีที่มาจากลักษณะของเนื้อหินที่มีความสะอาด ใสเหมือนแก้ว ไม่มีสิ่งเจือปนดุจน้ำค้างยามรุ่งอรุณ เป็นหินกึ่งมีค่า หรืออัญมณี* เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ สำหรับหินชนิดนี้อยู่ในประเภทแก้วขาวน้ำบุษย์ ส่วนการลงยาราชวดีที่ส่วนฐานพระพุทธรูปนั้นคือการลงสี ประกอบไปด้วยสีแดง สีเขียว และสีฟ้า ซึ่งเป็นสารประกอบโลหะผสมกับน้ำยาเคลือบใสและน้ำ แล้วจึงอบด้วยความร้อนให้สีติดที่ผิวโลหะ เทคนิคการทำลงยาราชาวดีมีตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
โดยที่การนำหินมีค่ามาสร้างเป็นพระพุทธรูปนั้นสัมพันธ์กับคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์ของการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งจะแตกต่างไปตามวัสดุที่นำมาใช้ในการสร้าง โดยเฉพาะในวัฒนธรรมล้านนาพบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปด้วยหินผลึกใสหรือมีสีที่เป็นของหายาก บรรจุลงในกรุเจดีย์อยู่หลายองค์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ “หินผลึก” นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งหินผลึกแบบใสและแบบมีสี ถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่มีค่า มักจะนำเอามาใช้ในการสร้างพระพุทธรูปหลายองค์ อีกทั้งพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พระแก้วมรกต (แม้ว่าองค์พระพุทธรูปจะสร้างขึ้นด้วยแก้วหินสีเขียว) นอกจากนี้ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ** ปรากฏคำว่า “ภพนพรัตน์” หมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ความเชื่อเกี่ยวกับ “นพรัตน์” หรืออัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ ยังปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “ลิลิตตำรานพรัตน” เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดย หลวงนรินทราภรณ์ กับหมื่นรักษา
*ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่คนโบราณเรียกว่า “แก้วประสาน”
ขอบคุณที่มา ,
กรมศิลปากร. พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน นพปฏิมารัตนมารวิชัย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๒.
นรินทราภรณ์, หลวง. ลิลิตตำรานพรัตน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๒ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางรักษ์ราชหิรัญ (ชิญ หังสสูต) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒)
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. โลหศิลป์ ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.