ท้าวนางที่ว่าดุที่สุดในวังหลวง
วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับท้าวนางตำแหน่งสูงส่งอีก 1 ตำแหน่งของวังหลวงซึ่งฝ่ายในทั้งหลายต้องเกรงอกเกรงใจเพราะมีหน้าที่ในการดูแลทุกคนและมากกว่านั้นสำหรับเท้านางที่วันนี้จะพูดถึงในตำแหน่งของท้าววรจันทร์เป็นผู้ที่ทำหมูหวานได้อร่อยถูกอกถูกใจพระพุทธเจ้าหลวงก่อนอื่นเราไปรู้จักตำแหน่งของเท้านางว่าคืออะไรกันก่อนนะ
ท้าวนาง คือ สตรีอาวุโสที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และมีหน้าที่รับราชการฝ่ายในในพระบรมมหาราชวัง มักเป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน หรือหญิงราชนิกุล
ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายใน โดยมีท้าววรจันทร์ เป็นหัวหน้า และมีผู้ช่วยในด้านต่าง ๆ คือ ว่าการพนักงาน ว่าการวิเสท ว่าการโขลน ว่าการทั่วไป และว่าการพระคลังใน โดยในแต่ละด้านจะมีหัวหน้ากำกับบังคับบัญชา ทั้งนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่ง ท้าววรคณานันท์ เป็นหัวหน้าอีกชั้น ทำให้ตำแหน่ง ท้าววรจันทร์ เป็นผู้ช่วย
ขอกล่าวถึงเฉพาะ ตำแหน่ง ท้าววรจันทร์ มีชื่อเต็มว่า ท้าววรจันทร์ บรมธรรมิกภักดี นารีวรคณานุรักษา หรือสะกดว่า ท้าววรจัน เป็นตำแหน่งสมเด็จพระพี่เลี้ยงของกษัตริย์หรือพระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ และพระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง บังคับบัญชาทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และพระสนมกำนัล โดยจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระพี่เลี้ยง หรือ เจ้าจอม หรือ บุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงตำแหน่งนี้
หลังจากที่ทราบเรียบร้อยแล้วว่าท้าววรจันทร์นั้นหมายถึงตำแหน่งยกตัวอย่างท้าววรจันทร์ที่ขึ้นชื่อลือชากันเขาว่าว่าท่านดุนักหนาแต่ก็มีรสมือในการทำอาหาร
ท้าววรจันทร์มีนามเดิมว่าแมว เป็นบุตรของสมบุญ งามสมบัติ (มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3) กับถ้วย งามสมบัติ (ท้าวปฏิบัติบิณฑทาน)[1] ญาติได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่วัยเด็ก โดยได้รับการเลี้ยงดูและฝึกละครจากเจ้าจอมนาค ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นป้าต่อมาเจ้าจอมนาคได้ถวายตัวท้าววรจันทรเข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในยามว่างก็ทรงให้ฝึกหัดละครและเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้ม เคยรับบทเป็นอิเหนา พระเอกเรื่อง อิเหนาเล่นได้ดีเยี่ยมจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า "แมวอิเหนา" ต่อมาจึงได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วาด
เมื่อรับราชการฝ่ายใน ท้าววรจันทร์ หรือเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุลโสณกุล ณ อยุธยา ท่านได้เรียนภาษาอังกฤษกับแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย และยังปรากฏเรื่องราวของท้าววรจันทร์ในนิพนธ์ น้ำแข็ง ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ความว่า กงสุลไทยในสิงคโปร์นำน้ำแข็งทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น ก็ตรัสเรียกพระราชโอรส-ธิดาว่า "ลูกจ๋า ๆ ๆ" ทรงหยิบน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ จากขันทองใส่พระโอษฐ์เจ้านายเล็ก ๆ พระองค์ละก้อนแล้วตรัสว่า "กินน้ำแข็งเสีย" ก่อนจะตรัสสั่งให้โขลนตามเจ้าจอมมารดาวาดมาดูน้ำแข็ง โขลนจึงไปเรียนคุณจอมว่า "มีรับสั่งให้ท่านขึ้นไปดูน้ำแข็งเจ้าค่ะ" เจ้าจอมมารดาวาดจึงถาม "เอ็งว่าอะไรนะ" โขลนตอบ "น้ำแข็งเจ้าค่ะ" เจ้าจอมมารดาวาดจึงร้องว่า "เอ็งนี้ปั้นน้ำเป็นตัว" คำนี้จึงกลายเป็นภาษิตมาแต่นั้น[5] ในขณะที่ ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า "อย่าปั้นน้ำเป็นตัว" เป็นสุภาษิตพระร่วง มีความหมายว่า "ห้ามทำอะไรฝืนธรรมชาติ" หรืออีกนัยหนึ่งว่า "แกล้งปลูกเท็จให้เป็นจริง" เป็นสุภาษิตมาแต่โบราณมิใช่เพิ่งเกิด[6]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร์ เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้กล่าวถึงท่านว่า
"...กิตติศัพท์เขาเล่าลือว่าท่านดุมาก เด็กได้ยินก็คร้ามท่านมาก เขาว่าท่านจับคนใส่ตรวนได้ เด็กเลยกลัวตัวสั่น ท่านขึ้นเฝ้าได้บางเวลาเหมือนกัน ต้องยอมรับกันในพวกเด็กว่าท่านน่าเกรงขามจริง ท่าเดินของท่านแม้แก่แล้วก็ดูออกว่าถ้าท่านเป็นสาวคงจะสวย ถ้าวันไหนเด็กเห็นท่านผ่านห้องหม่อมเจ้า เด็กจะบอกกันว่าคุณท้าววรจันทร์มาแล้ว ห้องหม่อมเจ้าจะเงียบกริบหยุดเสียงจ้อกแจ้กทันที..."
กล่าวกันว่าท้าววรจันทร์มีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเลิศ โดยครั้งหนึ่งท้าววรจันทร์ได้ถวายสำรับอาหารเป็นน้ำยาไก่และหมูหวานแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยในฝีมือของท้าววรจันทรมากโดยเฉพาะหมูหวาน ทรงตรัสยกย่องว่ามีรสชาติราวกับหมูหวานที่เคยเสวยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าพระราชทานธูปและเทียนบูชาฝีมือท้าววรจันทร และทรงประกาศว่าหากใครผัดหมูหวานได้รสเช่นนี้ได้อีก ก็จะพระราชทานน้ำตาลจำนวนสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล
นอกจากนี้ท้าววรจันทร์ยังมีความกตัญญูต่ออาจารย์ ด้วยอุปถัมภ์เจ้าจอมมารดาแย้มซึ่งเป็นครูละครให้ไปอยู่ด้วยกันที่วังปากคลองตลาดเพื่อดูแลอาจารย์ในปัจฉิมวัย หลังเจ้าจอมมารดาแย้มถึงแก่กรรม ท้าววรจันทร์ก็เป็นธุระจัดแจงพิธีปลงศพให้ และจัดการมอบมรดกมอบให้หลานของเจ้าจอมมารดาแย้มด้วย
ท้าววรจันทร์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 สิริอายุ 98 ปี
ท่านจึงถือว่าเป็นท้าววรจันทร์ที่คุณมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งความงามงานฝีมืองานครัวและความมีระเบียบวินัย
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย, หนังสือท้าววรจันทร์