ทำไมเรียก "ลอดช่องสิงคโปร์" ทั้งที่จริงแล้วเป็นของไทยแท้ๆ ?
ทำไมเรียก "ลอดช่องสิงคโปร์"
ความจริงแล้ว "ลอดช่องสิงคโปร์" เป็นของไทยแท้ๆ คิดค้นโดยคนไทยนี่เอง โดยมีต้นกำเนิดจากร้านอาหารชื่อ "สิงคโปร์โภชนา" นายณรงค์ จักรธีรังกูร เจ้าของร้านสิงคโปร์โภชนา เจ้าของต้นตำรับลอดช่องสิงคโปร์เล่าว่า
คุณพ่อเป็นผู้คิดค้นสูตรลอดช่องที่มีลักษณะพิเศษ คือ แป้งเหนียวนุ่ม หอมและใหม่สดทุกวัน ทำขายมาเกือบ 70 ปีแล้ว
สาเหตุที่คนติดปากเรียกว่า "ลอดช่องสิงคโปร์" เพราะเป็นชื่อร้าน ซึ่งมีที่มาจากร้านสาขาดั้งเดิมตั้งอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ไทยชื่อ "โรงภาพยนตร์สิงคโปร์" แต่ไม่รู้ว่าร้านอาหารสร้างก่อนโรงภาพยนตร์ หรือโรงภาพยนตร์สร้างก่อนร้านอาหารเพราะเกิดไม่ทัน
อีกสาเหตุหนึ่ง คือ สมัยก่อนแป้งที่ทำลอดช่องนำเข้ามาจากสิงคโปร์ คนที่มากินลอดช่องต่างเรียกว่า "ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์" ไปๆ มาๆ ก็เหลือเพียง "ลอดช่องสิงคโปร์"
คนที่มาดูหนัง พากันมากินลอดช่องทั้งก่อนและหลังเข้าไปชมภาพยนตร์ ต่อมาโรงภาพยนตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น "เฉลิมบุรี" ก่อนจะปิดตัวไปเนื่องจากต้านกระแสวิดีโอไม่ไหวและทุบทิ้งไปแล้ว
การที่ร้านเราสามารถครองใจลูกค้ามาได้ยาวนานถึง 70 ปี เนื่องจากการคงคุณภาพวัตถุดิบ และสูตรของขนมลอดช่องสิงคโปร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการใช้กะทิ แบบเข้มข้น เพื่อให้ได้ความหอม มัน ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนเส้นของลอดช่อง ก็มีความเหนียวนุ่ม โดยสีที่นำมาใช้จะเป็นสีเขียวของใบเตยและสีผสมอาหาร ซึ่งหากใช้สีของใบเตยเพียงอย่างเดียวจะทำให้สีไม่สวย สดใส ในขณะที่น้ำเชื่อมก็ไม่หวานจนเกินไปนัก พร้อมใส่ขนุนลงไปในน้ำเชื่อมด้วย ทำให้ลูกค้าในปัจจุบันมีทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เคยมารับประทานตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มสาว ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นลูกค้าประจำแม้อายุจะล่วงเลยไปถึง 70-80 ปี แล้วก็ตาม โดยทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มานั่งกินลอดช่องสิงคโปร์เพื่อมารำลึกความหลัง”
เดิมขายอยู่ถ้วยละไม่ถึง 1 บาท ก่อนจะขยับราคามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ปัจจุบันมีการประกาศย้ายร้านไปเมื่อ ธันวาคม 2566
โดยบริการในบรรยากาศร้านดั้งเดิมวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้าย พบกันที่ร้านใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566
ร้านใหม่ของเราอยู่ห่างจากร้านเดิมประมาณ 70 เมตร