หายนะของเอลซัลวาดอร์ ประเทศแรกที่ใช้บิทคอยน์?
AREA แถลง ฉบับที่ 180/2567: วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีข่าว “การเดิมพันกับบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์ ผลิดอกออกผลแล้วหรือไม่” ในสำนักข่าว BBC ดร.โสภณ จึงนำมาให้ทุกท่านได้ดู จะได้ไม่ไปหลงลงทุนในบิทคอยน์ ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่กำหนดให้บิทคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ต่างจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของเอลซัลวาดอร์
มีข่าวว่า ประธานาธิบดีของเอลซัลวาดอร์กำลังเฉลิมฉลองหลังจากที่เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปบิทคอยน์ เริ่มกลับมามีกำไรท่ามกลางการขึ้นของราคาบิทคอยน์อย่างต่อเนื่อง โดยนับแต่ปี 2021 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) ไปซื้อบิทคอยน์ 2,764 เหรียญ ประธานาธิบดีได้ทวิตว่า “(ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการซื้อบิตคอยน์ของเอลซัลวาดอร์) ถอนคำพูดและขอโทษซะ” แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า มันเร็วเกินไปที่จะฉลองการเดิมพันความเสี่ยงสูงครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการผลักดันให้ผู้คนใช้บิทคอยน์เพิ่มขึ้น โดยชี้ว่ารัฐบาลเอลซัลวาดอร์ทำกำไรได้ 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (130 ล้านบาท) เท่านั้น
ณ จุดหนึ่งในอดีต บิทคอยน์ของประธานาธิบดีมีมูลค่าลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของราคาต้นทุนที่จ่ายไป แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาของบิทคอยน์ได้พุ่งสูง แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในเอลซัลวาดอร์และในประเทศอื่น ๆ ต่างบอกว่านี่อาจจะไม่ใช่โมเมนต์ที่มีนัยสำคัญเท่าที่นายบูเคเลอยากให้เป็น โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการพัฒนาแอปพลิเคชันชิโววอลเล็ต (Chivo Wallet) การติดตั้งตู้เอทีเอ็มซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้งานไม่ได้ เมื่อรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นบวกเท่าไหร่ ถือว่าประเทศขาดทุนอย่างหนัก
นายทาเทียนา มาร์โรควิน นักเศรษฐศาสตร์จากพรรคอินดิเพนเดนท์ ซัลวาดอเรียน (Independent Salvadorean) บอกว่า "ทำนองการพูดจาที่แสดงถึงชัยชนะเกี่ยวกับการที่บิทคอยน์ขึ้นราคาของบูเคเลนั้น ค่อนข้างจะจอมปลอม" "มันไม่สามารถชดเชยต้นทุนทางเศรษฐกิจจากโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบิทคอยน์ได้เลย" "มันเป็นความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์" นางลอร์ดส์ โมลินา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่สถาบันการคลังศึกษาแห่งอเมริกากลาง กล่าว "แทบจะไม่มีใครในเอลซัลวาดอร์ใช้บิทคอยน์เลย กระทั่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีใครใช้เลย" โมลินา เห็นด้วยว่าการโอบรับบิทคอยน์ไปใช้นั้นน้อยลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มูลค่าของบิทคอยน์อยู่ในช่วงขาขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใสด้วย ไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่ติดตามการใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับบิทคอยน์ รวมถึงสถานะของเงินสำรอง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกนำไปซื้อบิทคอยน์ด้วย "ไม่มีข้อมูลทางการนอกเหนือไปจากทวีตของประธานาธิบดีบูเคเล" แฟรงก์ มูซี นักวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน กล่าว
เซเฟเดียน แอมมัส ผู้เขียนหนังสือ "The Bitcoin Standard: ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง" ซึ่งมีรายงานระบุด้วยว่าเขาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจบิทคอยน์ในรัฐบาลของนายบูเคเลในเดือน พ.ค. ก็ไม่ได้ตอบคำถามของบีบีซีเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใสเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขาตอบกลับมาว่า การที่เงินสำรองในรูปบิทคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้นถือเป็นเรื่องที่น่าเฉลิมฉลอง
"สิ่งสำคัญก็คือ บิทคอยน์และการลงทุนของเอลซัลวาดอร์ได้ฟื้นคืนกลับมาหลังจากขาดทุนตัวแดงอยู่สองปี เพราะว่านักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ย้ำอยู่หลายครั้งว่านโยบายเกี่ยวกับบิทคอยน์ของนายบูเคเลนั้นล้มเหลว เนื่องจากราคาตก" เขากล่าว พร้อมระบุอีกว่า การที่การลงทุนในบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์กลับมามีกำไรอีกครั้ง ถือเป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่าบิทคอยน์เป็นทางเลือกที่น่านึงดูดที่อาจมาแทนการถือเงินตราระหว่างประเทศหรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่าลดลงอยู่ตลอดเวลาได้
"มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะปฏิเสธกลยุทธ์เกี่ยวกับบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์ จากความกังวลในระยะสั้น ซึ่งเกิดจากการโอบรับบิทคอยน์ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพียงน้อยนิดของผู้บริโภค แต่พวกเขามองไม่เห็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น" ดร.แอมมัส กล่าว สิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องการใช้จ่ายของผู้บริโภค คือบทบาทของบิทคอยน์ในเรื่องความเป็นเอกราชทางเศรษกิจและการคลังของเอลซัลวาดอร์ ซึ่งบิทคอยน์ถือเป็นสินทรัพย์สำรองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และมีสภาพคล่องสูง"
นายบูเคเลได้วิจารณ์สถาบันอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งเตือนเขาเกี่ยวกับความเสี่ยงของสกุลเงินคริปโตต่อประเทศเอลซัลวาดอร์ อยู่หลายครั้ง โดยไอเอ็มเอฟบอกด้วยว่า หากเอลซัลวาดอร์ยังลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากอย่างบิทคอยน์ต่อไป ก็อาจจะเป็นการยากที่จะกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ไม่ได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับกระแสข่าวล่าสุดดังกล่าวมา โดยนายบูเคเล ยอมรับว่าราคาของบิทคอยน์คงจะผันผวนต่อไป แต่เขาก็ยังไม่มีแผนที่จะขายบิทคอยน์ที่ถืออยู่ในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในตอนนี้
นี่แหละครับประเทศยากจน แต่เป็นประเทศแรกที่รับบิทคอยน์สู่ความหายนะหรือไม่ ลองดูกันต่อไป
อ้างอิง https://www.bbc.com/thai/articles/cw82zjp6ng7o