'พิบูลสงคราม' อดีตจังหวัดหนึ่งของไทย ที่คนไทยหลายคนยังไม่เคยรู้จัก
จังหวัดพิบูลสงคราม
(Phibunsongkhram province)
เป็นอดีตจังหวัดหนึ่ง ที่ประเทศไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
ในช่วง พ.ศ. 2484 โดยยกท้องที่การปกครองเสียมราฐขึ้นเป็นจังหวัด
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องส่งดินแดนจังหวัดพิบูลสงคราม
คืนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งปกครองประเทศกัมพูชาอยู่ในขณะนั้น
ปัจจุบันคือจังหวัดเสียมราฐ จังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดบันทายมีชัย ในประเทศกัมพูชา
พื้นที่ของจังหวัดนี้ เดิมอยู่ในมณฑลบูรพา ในสมัยรัชกาลที่ 5
และตกอยู่ภายใต้ความปกครองของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2450
ก่อนได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2484
โดยชื่อจังหวัดพิบูลสงคราม ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น และยังปรากฏว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ไก่ขาวกางปีก
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจอมพลแปลก ไว้เป็นอนุสรณ์ของจังหวัดนี้
เมื่อมีการกำหนดให้มีตราประจำจังหวัดทั่วประเทศ กรมศิลปากรก็ได้นำอนุสาวรีย์ดังกล่าว
มาผูกเป็นรูปตราประจำจังหวัดไว้ด้วย ส่วนชื่ออำเภอต่าง ๆ
ที่ตั้งขึ้นในทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคล
ที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบสงครามอินโดจีน
อย่างไรก็ตาม ในการได้ดินแดนเสียมราฐคืนมาเป็นจังหวัดพิบูลสงครามนั้น
นครวัดยังคงอยู่ในเขตของฝรั่งเศส และปราสาทบันทายศรีแม้ตามเส้นแบ่งแดน
จะอยู่ในเขตจังหวัดพิบูลสงคราม แต่ฝรั่งเศสได้ขอให้ขีดวงล้อม
ให้ดินแดนที่ตั้งของปราสาทบันทายศรีเป็นของฝรั่งเศสตามเดิม
โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้เห็นชอบตามคำขอของฝรั่งเศส
ปราสาททั้งสองจึงไม่อยู่ในเขตอธิปไตยของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในระหว่างที่จังหวัดนี้อยู่ในการปกครองของประเทศไทย
ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2489
นายประยูร อภัยวงศ์ ได้เป็นส.ส. ของจังหวัดพิบูลสงคราม
และเมื่อเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้นายญาติ ไหวดี
เป็น ส.ส. จังหวัดพิบูลสงครามเพิ่มเติม ก่อนจะคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศส
จังหวัดพิบูลสงครามมีเขตการปกครองจนถึง พ.ศ. 2489 รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ
คือ อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอวารีแสน
อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย
จังหวัดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 (ประมาณ 5 ปี)