"ถั่วพูอุ่น" ชื่อนี้ไม่ใช่ถั่ว แต่มันคือเมนูอาหารเช้า-เย็น ยอดฮิต
ใครหลายๆคน คงเคยได้ยินชื่อ "ถั่วพู" ซึ่งเป็นชื่อของ เป็นพืชล้มลุก ดอกสีขาวอมม่วง
นำมาประกอบอาหาร หรือเป็นผักแกล้มน้ำพริกอร่อยๆ
แล้ว "ถั่วพูอุ่น" ล่ะ ใช่ถั่วที่เป็นพืชไหม พอจะมีใครรู้จัก หรือเคยทานกันแล้วบ้าง
"ถั่วพูอุ่น"
“ถั่วพูอุ่น”เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อทางวัฒนธรรมที่เชื่อมเอาผู้คนในมณฑลสิบสองปันนาของจีน, รัฐฉาน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย คนไทยรู้จักกันในหลายนามตามกลุ่มของตนเอง เช่น ชาวไทลื้อ ไทใหญ่และไทเขิน มักอาศัยอยู่ตามจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นหลัก
ด้วยความที่ด้วยชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบสูงในภูเขา ห่างไกลทะเล อาหารของชาวไทใหญ่จึงมีส่วนประกอบที่ทำจากพืชพันธุ์ธัญญาหารที่หาได้ง่ายในพื้นที่ อาทิเช่น ถั่วเน่า ซึ่งทำมาจากถั่วเหลืองหมักแล้วนำไปตากแห้ง เก็บเป็นเครื่องปรุงให้ความเค็มไว้ได้นาน หรือ โต้พู บ้างก็ออกเสียงว่า “ถั่วพู” หรือเต้าหู้ที่ทำมาจากเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งนับว่าเป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งในอาหารไทใหญ่ หรือจะเป็นพืชผักอย่าง หอม กระเทียม ขิง มะเขือเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบที่เรามักพบเห็นทั่วไปในอาหารชนิดต่างๆในสำรับฉาน ในด้านกรรมวิธีการปรุงและเครื่องปรุงนั้น นับว่ามีความหลากหลาย ได้รับทั้งอิทธิพลจากทั้งทางพม่าและจีน เรียกได้ว่าถูกปากคนไทยง่ายกว่าอาหารพม่าที่มักจะมีรสชาติของเครื่องเทศหนักอย่างอาหารอินเดียและมีความเค็มและมันมากกว่า
"ถั่วพูอุ่น" มีลักษณะคล้ายซุปข้นที่ทำจากถั่วลูกไก่ แต่ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวและยอดถั่วลันเตาลวกลงไปจากนั้นโรยหน้าด้วยข้าวแรมฟืนทอด ต้นหอม ผักชี และกระเทียมเจียว ปรุงรสด้วยซอส ถั่วป่น และงาป่น รสชาติหวานมัน ถั่วพูอุ่นถือเป็นอาหารพื้นเมืองโบราณของชาวไทใหญ่ที่สามารถหาทานได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ รสชาติจะออกข้นๆ นัวๆ อร่อย และเป็นเมนูที่ให้โปรตีนสูงมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากๆ
วิธีทำ
นำเม็ดถั่วพูไปแช่น้ำไว้ก่อนจากนั้นก็นำมาบดให้ละเอียด หรือจะใช้ถั่วพูอุ่นกึ่งสำเร็จรูป แล้วมาเคี่ยวจนน้ำถั่วพูอุ่นกลายเป็นซุปข้น ค่อยปรุงด้วยผงขมิ้น จะได้รสชาติที่หวานได้กินเนื้อถั่วพูเต็ม ๆ คำ
นอกจากถั่วพูอุ่นแล้ว ยังมีอาหารไทใหญ่ที่เป็นที่นิยมรับประทานกัน เช่น ข้าวแรมฟืน ข้าวซอยไทใหญ่ เต้าหู้ทอด ลองไปหาทานกันได้นะคะ
อ้างอิงจาก: ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม,@งาใบบูรณ์