เรื่องน่ารู้ "G6PD" คือโรคอะไร ทำไมถึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
"G6PD" หรือ "โรคแพ้ถั่วปากอ้า"
“โรคแพ้ถั่วปากอ้า” หรือ “ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD”หรือ “โรคแพ้ถั่วปากอ้า” คือ การที่ร่างกายมีระดับของเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าคนปกติ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เม็ดเลือดแดงคงตัว และป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
สาเหตุของโรค
โรคพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่จะพบการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกชาย ในประเทศไทย โดยเพศชายเป็นโรคนี้ประมาณ 15% ส่วนผู้หญิงพบประมาณ 3-4% ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นพาหะ และผู้ชายจะเป็นโรค ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด
การที่เม็ดเลือดแดงแตกตัว เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสาร หรือยาบางอย่าง เช่น ถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระมาก โดยเฉพาะถั่วปากอ้าสด จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายกว่าการรับประทานถั่วปากอ้าที่ผ่านการปรุงสุกมาแล้ว
การได้รับยาบางกลุ่ม เช่น ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟาหรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น
การรับประทานเชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง และการได้รับกลิ่นลูกเหม็น
หากคนไข้ไม่ได้กินอาหารต้องห้าม หรือยาดังกล่าวข้างต้น ก็จะไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องรู้ว่าจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารและยาอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ
อาการในเด็ก
เด็กแรกเกิดจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ต้องรับการส่องไฟ จะเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แพทย์ก็จะเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ G6PD ซึ่งจะทำให้ทราบตั้งแต่ตอนนั้นว่าเด็กเป็นโรคนี้หรือไม่
อาการในผู้ใหญ่
คนไข้จะมีอาการเมื่อได้รับยา หรือสารต้องห้าม เนื่องจากเจ้าตัวไม่ได้รู้มาก่อนว่าเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก คนไข้จะมีอาการซีดลง รู้สึกเหนื่อยเพลีย โดยจะมีอาการ 1-2 วันหลังจากได้รับสารต้องห้าม นอกจากนั้นปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีโค้กหรือสีน้ำปลา เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนที่ไต และทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี ซึ่งหากมีอาการนี้ควรรีบมาพบแพทย์
การรักษา
เนื่องจากโรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตราย หากคนไข้ไม่ได้รับสาร หรืออาหารต้องห้าม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา หรือรักษาให้หายขาด
การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ในกรณีที่คนไข้มีอาการเหนื่อยเพลีย หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะเป็นสีโค้ก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารสีโค้กให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงก็จะหยุดการแตกตัวได้ภายใน 7-10 วัน
การดูแลผู้ป่วยโรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD
1. ผู้ป่วยจะต้องมีสมุดประจำตัว เวลาไปพบแพทย์หรือเภสัชกร จะได้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงยาชนิดใดบ้าง
2. หลีกเลี่ยงการกินถั่วปากอ้า การกินเชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง
3. หลีกเลี่ยงการได้กลิ่นลูกเหม็น
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา หรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น
5. เมื่อมีอาการซีด เหนื่อย เพลีย ตัวเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนสี ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ไม่เลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ชอบ
7. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการสูบบุหรี่
การป้องกัน
เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม จึงไม่สามารถป้องกันได้ การป้องกันจึงทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงยาและสารกระตุ้นที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภากลาโหมเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ออกตามความ ร่าง พ.ร.บ.การรับราชการทหาร พ.ศ.2497 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม 3 กลุ่มโรค จากเดิม 12 โรค รวมเป็น 15 โรค ได้แก่
โรคที่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
- โรคหรือความผิดปกติของตา
- โรคหรือความผิดปกติของหู
- โรคของหัวใจและหลอดเลือด
- โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด
- โรคของระบบหายใจ
- โรคของระบบปัสสาวะ
- โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และ กล้ามเนื้อ
- โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม
- โรคทางประสาทวิทยา
- โรคติดเชื้อ
- โรคทางจิตเวช
- โรคอื่น ๆ อาทิ กะเทย, มะเร็ง, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง, คนเผือก, โรคลูปัสอิธิมาโตซัส, กายแข็ง และรูปวิปริตต่างๆ
- โรคตุ่มน้ำพอง
- โรคลำไส้พองแต่กำเนิด
- โรคพร่องเอนไซม์ G6PD
เอกสารที่ต้องเตรียมในการเกณฑ์ทหาร 2567
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
- ใบสำคัญความเห็นแพทย์ หรือประวัติการรักษา (ถ้ามี)
- ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานการศึกษา (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าขึ้นไป)
- หนังสือสำคัญแสดงวิทยฐานะของผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 2 หรือหนังสือรับรองดังกล่าว ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร ไปแสดงต่อคณะกรรมการการตรวจเลือกด้วย
เกณฑ์น้ำหนัก ขนาดร่างกาย สำหรับผู้ที่เข้ารับคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร
สำหรับการเกณฑ์ทหาร ทางคณะกรรมการตรวจเลือกจะคัดเลือกคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี น้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งจะต้องมีน้ำหนักและขนาดร่างกายเป็นไปตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ มีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไปเวลาหายใจออก
- ผู้ที่มีส่วนสูงตั้งแต่ 146 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกคนที่สูงตั้งแต่ 150 เซนติเมตรขึ้นไปก่อน หากมีจำนวนมากกว่าที่ทางราชการต้องการ ให้ทำการจับสลาก เพื่อกำหนดคนเข้ากองประจำการต่อไป
สำหรับรายละเอียดในการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารประจำปี 2567 สามารถสอบถามได้ผ่านช่องทาง
- หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
- กองการสัสดี
- หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลราชวิถี, กรุงเทพธุรกิจ, หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน