สะพานซูตองเป้ สะพานแห่งศรัทธา
แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่มากมายล้ำค่าด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรม ผู้คนจิตใจดี หากใครมีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนในเขตอำเภอเมือง ทุก ๆ เช้า จะเห็นชาวบ้านออกมาทำบุญตักบาตรตามหลักความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนา เหมือนกับชาวบ้านหมู่บ้านกุงไม้สัก ที่มีความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างสะพานแห่งหนึ่งที่เกิดจากพลังศรัทธาอันแรงกล้านั่นก็คือ “สะพานซูตองเป้”
"สะพานซูตองเป้" เป็นสะพานไม้ไผ่ กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร สร้างขึ้นด้วยพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระภิกษุ สามเณรและชาวบ้าน เป็นสะพานที่นำเสาไม้เก่าของชาวบ้าน ปูด้วยไม้ไผ่ที่สานเป็นแผ่น ปูทอดยาวจากหมู่บ้านกุงไม้สักผ่านลำน้ำแม่สะงา ผ่านทุ่งนาของชาวบ้านถึงศาสนสถานปฏิบัติธรรมสวนธรรมภูสมะ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด สำหรับคำว่า “ซูตองเป้” นั้นเป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ สะพานแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนแห่งคำอธิษฐานสำเร็จของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์สามเณร
จากที่ได้ติดตามในสื่อโซเชียลและเห็นเพื่อน ๆ ที่ไปเที่ยวลงรูปในสื่อออนไลน์ ผู้เขียนก็มีความตั้งใจว่าจะมาเยือนสะพานซูตองเป้แห่งนี้สักครั้ง จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วผู้เขียนและเพื่อนที่มีโอกาสขึ้นไปอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากที่ช่วงบ่ายเราทำภารกิจที่จังหวัดเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสที่จะชวนกันไปเยือนสะพานซูตองเป้ ที่เราตั้งใจกันไว้ตั้งแต่แรก เราออกจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนตอนบ่าย 4 โมง แต่ด้วยความที่เราไม่ชินกับถนนที่จะไปยังสะพานซูตองเป้ ทำให้เราค่อย ๆ ขับรถไปอย่างระมัดระวัง
เราใช้เวลาไม่นานนักก็มาถึงยังสถานที่ที่เราอยากมาเที่ยวนั่นคือ"สวนธรรมภูสมะ" เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีสะพานซูตองเป้เชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะกับบ้านกุมไม้สัก ดูเวลาแล้วประมาณเกือบ 5 โมงเย็น เราไม่รอช้าที่จะเดินเข้าไปทางเดินไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำอ้อมไว้ข้างวิหารของสวนธรรมภูสมะ พอเราเดินไปได้สักพักก็เห็นรูปปั้นพระพุทธรูปเดินเรียงกันอยู่ในท่าบินทบาตรหน้าตาอิ่มเอิบ
จากนั้นเราก็เดินเที่ยวรอบ ๆ สวนธรรมก็มีศาลาสำหรับกราบไหว้พระพุทธรูปและใบธรรมสำหรับจดชื่อแขวนไว้เป็นสิริมงคลให้กับชีวิต เราเดินเที่ยวได้สักพักเราก็ลงไปยังข้างล่างตามทางเดินลงสู่สะพานซูตองเป้ ต้องบอกเลยว่าสัมผัสแรกที่เห็นสะพานไม้ไผ่ซูตองเป้แห่งนี้ รู้สึกทึ่งถือความตั้งใจและแรงศรัทธาของผู้สร้าง ต้องบอกเลยว่าความกว้างของสะพานเกือบ 2 เมตรอีกทั้งระยะทางกว่า 600 เมตร หากไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็คงไม่สามารถสร้างสะพานแห่งนี้ได้ เราเดินบนสะพานแห่งนี้ชมทิวทัศน์ด้านซ้ายขวา มองเห็นทุ่งนาของชาวบ้านจะเห็นต้นข้าวเขียวขจีออกเป็นบริเวณกว้างซึ่งต้นข้าวยังไม่สูงเท่าไรนัก เป็นที่น่าเสียดายว่าช่วงที่เราไปนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มปลูกข้าวได้ไม่นาน หากเป็นช่วงที่ข้าวออกรวงหรือช่วงข้าวสุก ชาวบ้านบอกว่าจะมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม ต้นข้าวเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งนา
ผู้เขียนเดินไปเรื่อย ๆ จนสุดสะพานไปสะดุดตาเอารูปปั้นฤๅษีตนหนึ่ง ด้วยความสงสัยจึงได้ถามคุณลุงท่านหนึ่งถึงที่มาที่ไปของรูปปั้นฤๅษีตนนี้ คุณลุงได้บอกกับผู้เขียนว่า “ในครั้งอดีตกาลที่ประเทศอินเดียพระพุทธเจ้าทรงออกบิณฑบาต ระหว่างทางมีน้ำไหลผ่าน ไม่สามารถข้ามไปได้ ฤๅษีตนนี้จึงได้ทอดกายเหยียดยาวให้พระพุทธเจ้าเดินข้ามน้ำไปบิณฑบาต" เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ ที่อยู่ติดสะพานซูตองเป้แห่งนี้และถือเป็นเรื่องราวดี ๆ สำหรับเราก่อนที่จะกลับบ้าน
สำหรับสะพานซูตองเป้ ตั้งอยู่ที่บ้านกุงไม้สัก อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์มาตามทางหลวงหมายเลข 1095 สามารถเดินทางเข้าสู่สะพานซูตองเป้ ได้สองเส้นทาง
1. จากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเข้ามาทางแยกหมู่บ้านกุงไม้สัก เลี้ยงซ้ายทางไปภูโคลนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงแยกเข้าหมู่บ้านให้ลอดซุ้มประตู เข้าไปทางขวามือตามถนนในหมู่บ้าน โดยสามารถจอดรถไว้ที่วัดกุงไม้สักได้
2.จากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเข้าทางแยกสวนธรรมภูสมะ เลี้ยวซ้ายจากปากทาง ผ่านถนนลูกรังระยะทางประมาณ 1กิโลเมตร จอดรถที่สวนธรรมภูสมะได้