ทำความรู้จัก"นกตบยุงยักษ์" นกหน้าตาประหลาด สัตว์หายาก
นกตบยุงยักษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eurostopodus macrotis เป็นนกที่มีขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง จะงอยปากแบนกว้าง ไม่มีขนแข็งที่มุมปาก มีขนหูยาว ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันคล้ายกัน ปีกและหางยาวกว่านกตบยุงชนิดอื่น ๆ ในวงศ์ หัวสีน้ำตาลเหลือง กลางหัวสีดำ ท้ายทอยมีขนเป็นกระจุกคล้ายหู หน้า คอ และอกมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ บริเวณกลางคอ มีแถบสีขาวต่อด้วยสีน้ำตาลเหลืองรอบคอ มีแถบสีน้ำตาลอ่อนที่ขนคลุมไหล่ ลำตัวด้านล่างมีลายขวางสีคล้ำ
มีจุดเด่นอยู่ที่เสียงร้อง “ปิด ปี้ว” คล้ายเสียงผิวปาก ด้านพฤติกรรม เป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน แต่มักออกบินบ่อยมากในช่วงพลบค่ำและย่ำรุ่ง
อาหารของนกตบยุงยักษ์จะเป็นแมลงชนิดต่าง ๆ เป็นนกที่ไม่ทำรัง แต่จะวางไข่บนพื้นดิน ครอกละ 1-2 ฟอง เปลือกไข่สีขาวหรือสีน้ำตาล ลูกนกจะอยู่ในไข่จนโตพอสมควร ก่อนออกจากไข่
นกตบยุงยักษ์ ชอบจะอาศัยบริเวณที่เป็นป่าโปร่ง ชายป่า ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ส่วนถิ่นแพร่กระจาย จะสามารถพบในปากีสถาน อินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และออสเตรเลียตอนเหนือ
โดยนกตบยุงยักษ์ เป็นหนึ่งในนกสกุลนกตบยุงที่มีเพียง 6 ชนิดในประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ นกตบยุงพันธุ์มลายู นกตบยุงยักษ์ นกตบยุงภูเขา นกตบยุงหางยาว นกตบยุงเล็ก และนกตบยุงป่าโคก
เราสามารถเลี้ยงได้ไหม
ในทางกฎหมาย นกตบยุงยักษ์ ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในลำดับที่ 466 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกอีกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่ควรล่าหรือจับสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะอาจผิดกฎหมายได้