ดาวนายร้อย ความสวยที่มีประโยชน์
ดาวนายร้อย เมื่อก่อนเราเรียกดอกดาวแดง มีขึ้นให้เห็นโดยทั่วไปแถวบ้าน คนต่างจังหวัดจะเคยเห็นกันบ่อยๆ ตอนเด็กๆ เราชอบเอาตัวดอกมาวางไว้บนหลังฝ่ามือ แล้วตีลงบนตัวดอกเพื่อให้สีแดงของตัวดอกติดอยู่บนหลังมือ เหมือนมีดาวติดอยู่บนหลังมือ เวลาเจอเราจะชอบทำเป็นประจำ แต่ตีบ่อยๆเข้าก็เจ็บหลังมือเหมือนกันน่ะ
ต้นดาวนายร้อย คือพืชสายพันธุ์ไม้เลื้อย เป็นพืชวงศ์เดียวกับผักบุ้ง มีวงจรชีวิต 1 ปี ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นๆตามแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปเช่น ดอกเข็มแดง คอนสวรรค์ สนก้างปลา และแข้งสิงห์เป็นต้น
โดยพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดเริ่มต้นมาจากทวีปอเมริกา ที่ของชื่อดาวนายร้อยนี้ มาจากดอกขนาดเล็กมีรูปเหมือนดาว โดยส่วนใหญ่จะมีสีแดง สีชมพูเข้ม หรืออาจจะเป็นสีขาว ซึ่งมองดูแล้วจะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับรูปดาว ที่ประดับอยู่บนบ่าของนายร้อย นั่นเอง
โดยพืชสายพันธุ์นี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือแล้งแค่ไหน ก็จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี สามารถพบเจอกับดอกดาวนายร้อยได้ในหลายๆพื้นที่
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าหากเมล็ดของดาวนายร้อยตกอยู่ตรงไหน ขอเพียงแค่มีสารอาหารอยู่ในดินบ้างและโดนน้ำเพียงเล็กน้อย ก็จะเจริญเติบโตขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องดูแลหรือบำรุงรักษาแต่อย่างใด เรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ไม้เลื้อยที่อึดถึกและทนอย่างแท้จริงเลยทีเดียว
นอกเหนือจากประโยชน์ในเรื่องการใช้งานเพื่อความสวยงามและเป็นซุ้มบังแดดแล้ว สำหรับต้นดาวนายร้อย สรรพคุณทางยาและประโยชน์อื่นๆยังมีอีกมากมาย
โดยประโยชน์ของต้นดาวนายร้อยที่นำมาใช้ในด้านการเป็นพืชสมุนไพรนั้นมีดังนี้
ลำต้นของดาวนายร้อยมีฤทธิ์ใช้เป็นยาเย็น
นำลำต้นและใบของต้นดาวนาย ไปต้มผสมกับน้ำเปล่า เพื่อดื่มทดแทนน้ำชา ก็จะสามารถช่วย บรรเทาอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือดได้
ใบต้นดาวนายร้อยสามารถนำมาตำให้ละเอียดเพื่อรักษาริดสีดวงทวาร
ใบสามารถนำมาขยำหรือตำให้ละเอียดเพื่อพอกรักษาบริเวณที่บวมอักเสบหรือผู้ที่เป็นสิวเม็ดใหญ่และอักเสบได้
ลำต้นทั้งต้นสามารถนำมาขยำและโปะบาดแผลบริเวณที่ถูกงูหรือแมลงมีพิษกัดต่อยได้
เมล็ดของต้นดาวนายร้อยมีสรรพคุณในด้านการใช้งานเป็นยาระบายอ่อนๆ สามารถนำเมล็ดมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องได้
LOMA 🐬🐬
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คอนสวรรค์”. หน้า 172-173.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คอนสวรรค์”.