"ตีคลีไฟ" ประเพณีไทยแก้หนาว จ.ชัยภูมิ
"ประเพณีตีคลีไฟ" ส่วนมากจะเล่นกันบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเล่นเฉพาะที่บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
"ตีคลีไฟ" เป็นประเพณีในช่วงฤดูหนาวในยามออกพรรษา แต่แรกนั้นเริ่มมาจาก "ตีคลีโหลน" ที่ยังไม่มีการจุดไฟที่ลูกคลี และจะเป็นการแข่งขันตีคลีไกล ผู้ที่สามารถตีลูกคลีออกไปได้ไกลกว่าจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งต่อมามีการพัฒนามาเป็นการแข่งขันแบบทีม
ในสมัยก่อนมักจะมีการเล่นในช่วงบ่ายถึงค่ำหลังจากการไปทำไร่ทำนา และเดินทางไปอาบน้ำซึ่งระหว่างทางมีอากาศที่หนาวเย็นจึงต้องมีการคิดหาวิธีออกกำลังกายที่จะช่วยให้คลายความหนาวได้ การตีคลีไฟจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ อุปกรณ์นั้นมีเพียงลูกคลีที่ทำจากไม้งิ้ว (นุ่น) หรือไม้ทองหลางเพราะมีน้ำหนักเบา และไม้ที่ตีจะใช้เหง้าไม้ไผ่ที่มีลักษณะงอเป็นตะขอ
การตีคลีไฟมาจากการก่อกองไฟแก้หนาวในช่วงพลบค่ำ ระหว่างที่มีการเล่นตีคลีบังเอิญลูกคลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ เมื่อนำมาลองตีจะเห็นเป็นแสงไฟชัดเจนสวยงาม จึงนิยมเล่นต่อๆ กันมา จากตีโหลนจึงกลายเป็น "ตีคลีไฟ"
เมื่อเวลาผ่านไปการตีคลีไฟเริ่มเลือนหายไปจากการที่คนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานต่างเมือง จนกระทั่งได้กลับมาเล่นกันใหม่ที่บ้านหนองเขื่องและจัดขึ้นเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาได้กว่า 10 ปีแล้วโดยจัดขึ้นช่วงหลังวันออกพรรษา
ปัจจุบันการตีคลีไฟจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ใช้สนามขนาดเดียวกับการเล่นฟุตซอล ลูกคลีและไม้ตียังเป็นแบบเดิม แต่ขนาดของไม้ไผ่จะยาวประมาณ 80-120 เซนติเมตร ตามความเหมาะสมกับขนาดความสูงของผู้เล่นและใช้หลักการเล่นคล้ายคลึงกับฟุตบอล คือ ใช้ไม้ตีลูกคลีส่งต่อๆ กัน พยายามตีให้เข้าประตูฝ่ายตรงข้ามจะถือว่าได้คะแนน 1 แต้ม การตีต้องตีไม้ไม่สูงเกินระดับเอวถ้าสูงเกินกว่านี้จะถือว่าผิดกติกา ฝ่ายตรงข้ามจะได้ตั้งลูกเล่นใหม่ ณ จุดที่ผิดกติกา กติกาที่ตั้งขึ้นในปัจจุบันก็เพื่อให้การเล่นเป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะการตีคลีไฟนั้นถือว่าเป็นอันตรายมากพอสมควรสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย