ตำนานรักโศกเศร้า ของคนกับพญานาค เรื่องเล่าขานประจำบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
สมัยก่อน บริเวณที่เป็นตัวบึงโขงหลงนั้น ไม่ได้เป็นพื้นน้ำ แต่เป็นพื้นดินที่ตั้งเมือง ชื่อว่ารัตพานคร มีผู้ปกครองนคร คือพระอือลือราชา มีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อพระนางเขียวคำ (ต่อมาอภิเษกกับพระเจ้าสามพันตา) มีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง
ตามตำนานเล่าว่า เจ้าชายฟ้าฮุ่ง เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปเป็นสมบัติ ต่อมาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระยานาคราช แห่งเมืองบาดาล ซึ่งจำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ การจัดงานอภิเษกสมรส ได้จัดทำกันใหญ่โตมโหฬารมาก ทั้งเมืองรัตพานครและเมืองบาดาล(๗วัน๗คืน) เพื่อให้สมกับการแต่งงานอันยิ่งใหญ่ในครั้งครั้งนี้ และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธไมตรี ระหว่างพระยานาคกับพระเจ้าอือลือ พระยานาคราช ได้มอบเครื่องราชกุฎภัณฑ์ ซึ่งเป็นของมีค่าประจำตระกูล ให้กับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย พร้อมกับฝากฝังลูกสาวของตน ให้เมืองรัตพานครดูแล โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่า นางคือลูกของพญานาคแห่งเมืองบาดาล
เจ้าชายฟ้าฮุ่ง กับเจ้าหญิงนาครินทรานี อยู่กินร่วมกันมา ๓ ปี ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้สืบสายโลหิตได้(เพราะธาตุมนุษย์กับนาคเข้ากันไม่ได้) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ กับทั้งสองเป็นอันมาก ซึ่งต่อมา ทำให้เจ้าหญิงนาครินทรานีล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนาง กลับกลายร่างเป็นนาคตามเดิม ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วกรุงรัตพานคร
แม้ต่อมา พระนางจะร่ายมนต์กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งก็ตาม เมื่อทุกคนทราบความจริง ว่านาครินทรานีเป็นนาค ประชาชนชาวรัตพานคร และพระเจ้าอือลือราชา ไม่พอใจอย่างมาก จึงได้แจ้งให้พระยานาคราชมารับลูกสาว พร้อมขับไล่นางนาครินทรานี กลับคืนสู่เมืองบาดาล โดยไม่ใยดี แม้กระทั้งการจะไปส่งด้วยน้ำใจก็ไม่มี ไม่เหมือนกับครั้งที่นาง มาในพิธีอภิเษกสมรส พระยานาคราชกริ้วโกรธ กับการกระทำของเมืองรัตพานคร ที่ได้กระทำต่อลูกสาวของตน แต่ด้วยความรักที่มีต่อพระธิดาของตน จึงมารับพระธิดากลับโดยดี แต่ก่อนกลับสู่เมืองบาดาล พระพระยานาคราช ได้ขอเครื่องราชกุฎภัณฑ์ ที่เป็นเครื่องประดับยศ และสมบัติที่มอบให้พระธิดา เมื่อครั้งแต่งงานคืน แต่พระเจ้าอือลือราชา ไม่สามารถคืนได้ เนื่องจากได้นำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่นแล้ว พระยานาคราชกริ้วโกรธมาก เพราะธิดาของตนถูกขับไสไล่ส่ง ก็เจ็บใจมากพอแล้ว อีกทั้งยังขอรับเครื่องราชกุฎภัณฑ์ของตน กลับเมืองบาดาลไม่ได้ พระยานาคราชแห่งบาดาล จึงได้ประกาศว่า จะกลับมาพร้อมกับไพร่พลแห่งเมืองบาดาล เพื่อถล่มเมืองรัตพานคร ให้สิ้นสภาพความเป็นเมือง
หลังจากพระยานาคราช กลับเมืองบาดาล ตกในคืนวันเดียวกันนั้น ไพร่พลแห่งพระยานาคราช ได้ยกมาถล่มเมืองรัตพานคร จนราบคาบเป็นหน้ากลอง ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์ของนาคได้ จนพื้นดินที่เคยเป็นเมืองรัตพานครในอดีต กลายเป็นผืนน้ำอันเวิ้งว้าง รัตพานครล่มถล่มลง ผู้คนแห่งเมืองล้วนล้มตายเพราะความโกรธของพระยานาคราช ที่เกิดจากชาวรัตพานคร กระทำต่อพระธิดาของตน
เนื่องจากนางนาครินทรานี ไม่ทราบว่า พระบิดา จะมาถล่มเมืองรัตพานคร แต่พอทราบภายหลัง ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง นางออกตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่งทั่วบึงของหลง ถึงแม่น้ำสงคราม แต่ก็ไม่พบ จึงได้กลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครถูกถล่ม จนกลายเป็นบึงของหลง และได้กลายมาเป็น “บึงโขงหลง” ในปัจจุบัน จากพื้นดินอันเป็นที่ตั้งของรัตพานคร กลายเป็นเวิ้งน้ำ แต่ในช่วงที่ไพร่พลพญานาค เข้าทำลายเมืองนั้น ยังมีวัดที่ตั้งอยู่ในรัตพานคร ที่พระยานาคราชและไพร่พล ไม่ทำลาย เหลือไว้เป็นที่สักการะของผู้คน ที่จะมาพบเห็นในกาลต่อไป
ซึ่งในกาลต่อมา วัดเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง กลายเป็นเกาะ และป่าขนาดเล็กที่มิได้จม หรือถูกทำลาย ให้กลายเป็นพื้นน้ำ วัดเหล่านั้น จึงปรากฏเป็นชื่อดอน หรือเกาะต่างๆ ในบึงโขงหลงในปัจจุบันดังนี้ วัดแก้วฟ้า หรือวัดดอนแก้ว ปรากฏเป็นดอนแก้วในปัจจุบัน วัดโพธิ์สัตว์หรือวัดดอนโพธิ์ มาเป็นดอนโพธิ์ และวัดแดนสวรรค์ กลายเป็นดอนสวรรค์
ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง และสิ่งหนึ่ง ที่มีชื่อปรากฏตามตำนานในปัจจุบันคือ เส้นทางที่พระธิดานาครินทรานี ตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ในเมืองรัตพานครไม่เจอ จึงออกตามหาต่อจากบึงโขงหลง ต่อไปยังน้ำสงคราม เส้นทางดังกล่าว กลายเป็นน้ำเมา ที่เชื่อมต่อบึงโขงหลง และน้ำสงคราม ส่วนคำว่าน้ำเมา หรือห้วยน้ำเมานั้น เป็นเพราะเกิดจากความลุ่มหลงในรัก ของพระธิดาของพระยานาค ที่มีต่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ซึ่งตกอยู่ในอาการที่เรียกว่า มัวเมาในความรัก จึงเป็นเส้นทางแม่น้ำที่เรียกว่าน้ำเมา
ส่วนพระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชา กลายร่างเป็นนาค เฝ้าอยู่ในภูลังกา หรือบึงโขงหลง ชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า พระอือลือราชา ได้พ้นจากคำสาปของพระยานาคราชแล้ว เพราะในอดีต พื้นที่นี้ขึ้น กับจังหวัดหนองคาย แต่ในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทย ก็ได้จัดตั้งอำเภอบึงกาฬ เป็นจังหวัดบึงกาฬ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถํ้านาคาก็ได้ถูกค้นพบขึ้น
ถ้ำนาคา ตั้งอยู่บริเวณวัดถ้ำชัยมงคล ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นก็คือ ผนังของถ้ำ มีลวดลายคล้ายเกล็ดงู มีความสูง 5–30 เมตร บริเวณดังกล่าวเป็นหินทรายขนาดใหญ่ ทางธรณีวิทยา เรียกกันว่า ซันแครก (Sun Crack) หรือ หมอนหินซ้อน ลักษณะการแตกผิวหน้าของหิน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดลักษณะเป็นชั้น ๆ จากการคำนวณแล้ว หินทรายชนิดนี้ มีอายุประมาณ 70 ล้านปี เป็นหินที่เกิดในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
ถ้ำนาคา เป็นถ้ำที่ถูกค้นพบ เมื่อราว พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์วินิจ สุเมโทร จากวัดถ้ำชัยมงคล ได้บันทึกภาพกลุ่มหินที่เกิดการกัดกร่อน มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหิน ทำให้รูปร่างโดยรวม คล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่ หรือพญานาค และโพสต์รูปภาพเหล่านั้น ขึ้นบนสื่อโซเชียล และเกิดการกระจายข่าว ไปตามความเชื่อส่วนบุคคล จนเป็นที่โด่งดัง
บึงโขงหลง ได้รับการยกฐานะ ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอบึงโขงหลง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 และยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอบึงโขงหลง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดแม่น้ำโขง แต่เดิมเป็นอำเภออยู่ในเขตการปกครอง ของจังหวัดหนองคาย หลังจากพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 18 ก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 แยกพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ บึงกาฬ เซกา โซ่พิสัย บุ่งคล้า บึงโขงหลง ปากคาด พรเจริญ และศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ อำเภอบึงโขงหลง จึงกลายเป็น 1 ใน 8 อำเภอ ของจังหวัดบึงกาฬ ตั้งแต่บัดนั้นมา
อ้างอิงจาก: ตำนานบึงโขงหลง