ภารกิจสุดหิน! จับ “อิกัวนาเขียว”เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความพยายามและระมัดระวัง
วันนี้ (16 พ.ย.2566) นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) พร้อมทีมเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลพบุรี จำนวน 16 คน ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล นำอุปกรณ์จับ “อิกัวนาเขียว” โดยใช้สารพัดวิธี ทั้งแหดัก บ่วงคล้อง ปีนต้นไม้สูงและนำพืชผัก เช่น กวางตุ้งกะหล่ำ ผักกาดขาวและอาหารเป็ด มาใช้เป็นเหยื่อล่อ
จุดแรก บ้านเลขที่ 209 บ้านห้วยบง ซอย 15 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี จุดนี้ชาวบ้านบอกว่ามีอิกัวนาหลายรุ่น มากกว่า 30-40 ตัว อาศัยอยู่บนต้นไม้ ท้องร่องและตามชายน้ำ ซึ่งจุดนี้บนต้นมะขามที่สูงกว่า 20 เมตร พบมีอิกัวนานอนตามกิ่งไม้หลบแดดถึง 6 ตัว มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
เจ้าหน้าที่ต้องปีนขึ้นไปและใช้ห่วงคล้อง ถือว่าค่อนข้างยากและใช้เวลาไล่จับตัวอิกัวนานานเกือบครึ่งชั่วโมง เนื่องจากอิกัวนามีความไว สามารถกระโดดไปตามกิ่งไม้ กระโดดลงน้ำและวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว โดยตัวแรกที่เจ้าหน้าที่จับได้พบว่ามีลำตัวยาวจากหัวจรดหางเกือบ 1 เมตร น้ำหนักคาดว่าเกือบ 10 กก.และปราดเปรียว จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้สายรัดขาไพร่หลังเพื่อไม่ให้ดิ้นไปมา โดยวันนี้มีการเตรียมกรงเหล็กใส่สัตว์ประมาณ 5 กรงเพื่อจับอิกัวนาและจะนำไปไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก
ด้านนายสุทธิพงษ์ ยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ค่อนข้างยาก แต่ได้มีการประยุกต์ใช้จากการจับตัวเงินตัวทองและสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ แต่อิกัวนามีขนาดเล็กกว่า ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอิกัวนามีเชื้อซาโมเนลลา เชื้อโรคอื่นปะปน เจ้าหน้าที่ต้องใช้ถุงมือยางและถุงมือหนังอย่างหนา ป้องกันหนามบริเวณลำตัว เล็บและป้องกันการแว้งกัด
เบื้องต้นจะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ถึงปัญหาว่าต้องจับออก ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลา เพราะจากรายงานพื้นที่นี้มีประชากรค่อนข้างเยอะ เฉพาะบ้านหลังแรก ต้นมะขามต้นเดียวมีเกือบ 10 ตัวและมีขนาดต่างกัน
เมื่อถามว่าหากชาวบ้านต้องการให้พัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นไปได้หรือไม่ นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า ตามหลักกฏหมายไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้อยู่ในบัญชีสัตว์ควบคุมของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หรือเอเลียนสปีชีส์ ในบัญชี 3 ซึ่งเคยเป็นปัญหาในต่างประเทศ เช่น รัฐฟลอริดา มาแล้ว
สาเหตุที่อิกัวนามีจำนวนมากในลพบุรี
อิกัวนาเขียวเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ในประเทศไทยมีการนำเข้าอิกัวนาเขียวอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาซื้อขายค่อนข้างสูง โดยตัวเล็ก ๆ ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท ตัวใหญ่ ๆ ราคาประมาณ 10,000-20,000 บาท
อิกัวนาเขียวเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถกินพืชผักและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร จึงเป็นปัญหาต่อพืชผลทางการเกษตรและสัตว์ป่าพื้นเมือง กรณีที่เกิดขึ้นในลพบุรี คาดว่าเกิดจากการที่คนเลี้ยงอิกัวนาปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ เมื่ออิกัวนาขยายพันธุ์มากขึ้น จึงเป็นปัญหาต่อชุมชนในพื้นที่