พญาศรีสุทโธนาคราช
พญาศรีสุทโธนาคราช
กำเนิดในตระกูลเอราปถะ พระวรกายสีเขียวมรกต ปล้องพระนาภีและพระเศียรสีทอง มี ๑ เศียรเป็นพญานาคราชผู้เป็นใหญ่ในประเทศไทย มีชาติกำเนิดเป็นนาคธรรมดาไม่ได้เป็นกษัตริย์ เป็นพระโอรสของพญานาโคศิรินาคราช กับ นางพญาศรีนคราบาดาล (แม่ย่าศรีเมือง) มีพรหมประกายโลก หรือวังนาคินทร์คำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีเป็นเวียงวังที่ประทับ เป็นพญานาคราชประจำองค์ท้าวสักกะเทวราช
มีพระมเหสี ๗ พระองค์ ได้แก่ องค์นางพญานาคิณีศรีปทุมมาวิสุทธิเทวี กำเนิดในตระกูลเอราปถะ พระวรกายสีเขียวตองอ่อน ปล้องพระนาภีและพระเศียรเป็นสีทอง
มีพระอนุชาชื่อ พญาศรีสุธาโภชน์ฯ
พญาศรีสุทโธนาคราช ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นพญานาคเช่นเดียวกันปกครองมีชื่อว่า พญาสุวรรณนาคราช และมีบริวารฝ่ายละ ๕,๐๐๐ เช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีอาหารการกินก็แบ่งกันกิน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเพื่อนตายกันตลอดมา แต่มีข้อตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปหากินล่าเนื้อหาอาหารอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องออกไปล่าเนื้อหาอาหารเพราะเกรงว่าบริวารไพร่พลจะกระทบกระทั่งกัน และอาจจะเกิดรบรากันขึ้น แต่ให้ฝ่ายที่ออกไปล่าเนื้อหาอาหารนำอาหารที่หามาได้แบ่งกันกินฝ่ายละครึ่ง การกระทำโดยวิธีนี้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตลอดมา อยู่มาวันหนึ่งสุวรรณนาคพาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้ช้างมาเป็นอาหาร ได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งพร้อมกับนำขนของช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐานต่างฝ่ายต่างกินเนื้ออย่างอิ่มหนำสำราญด้วยกันทั้งสองฝ่าย และวันต่อมาอีกวันหนึ่งสุวรรณนาคได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อ หาอาหารได้เม่นมา สุวรรณนาคได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม พร้อมทั้งนำขนของเม่นไปให้ดู ปรากฎว่าเม่นตัวเล็กนิดเดียว แต่ขนของเม่นใหญ่ เม่นตัวเล็กเมื่อแบ่งเนื้อเม่นให้สุทโธนาคจึงต้องแบ่งให้น้อยสุทโธนาคได้พิจารณาดูขนเม่นเห็นว่าขนาดขนช้างเล็กนิดเดียวตัวยังใหญ่โตขนาดนี้ แต่นี้ขนใหญ่ขนาดนี้ตัวจะใหญ่โตขนาดไหนถึงอย่างไรตัวเม่นจะต้องใหญ่กว่าช้างอย่างแน่นอน คิดได้อย่างนี้จึงให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งไปคืนให้สุวรรณนาคพร้อมกับฝากบอกไปว่า “ไม่ขอรับอาหารส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์” ฝ่ายสุวรรณนาคเมื่อได้ยินดังนั้น จึงได้รีบเดินทางไปพบสุทโธนาคเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่นถึงแม้ขนมันจะใหญ่โตแต่ตัวเล็กนิดเดียว ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้เป็นอาหารเสียเถิด สุวรรณนาคพูดเท่าไรสุทโธนาคก็ไม่เชื่อผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามกัน ฝ่ายสุทโธนาคซึ่งมีความโกรธเป็นทุนอยู่ตั้งแต่เห็นเนื้อเม่นอยู่แล้วจึงสั่งบริวาร ไพร่พลทหารรุกรบทันที ฝ่ายสุวรรณนาคจึงรีบเรียกระดมบริวารไพร่พลต่อสู้ทันทีเช่นเดียวกัน ตามการบอกเล่าสู่กันฟังมาว่าพญานาค ทั้งสองรบกันอยู่ถึง ๗ ปีต่างฝ่ายต่างเมื่อยล้า เพราะต่างฝ่ายต่างหวังจะเอาชนะกันให้ได้ เพื่อจะครองความเป็นใหญ่ในหนองกระแส จนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บริเวณหนองกระแสเกิดความเสียหายเดือดร้อนไปตามกัน เมื่อเกิดรบกันรุนแรงที่สุดจนทำให้พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวทั้งหมด เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายเกิดความเดือดร้อน ไปทั้งสามภพ ความเดือดร้อนทั้งหลายได้ทราบไปถึง พระ อินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายไปเข้าเฝ้าพระอินทร์เพื่อร้องทุกข์และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง เมื่อพระอินทร์ได้ทราบเรื่องตลอดแล้ว จะต้องหาวิธีการให้พญานาคทั้งสองหยุดรบกันเพื่อความสงบสุขของไตรภพจึงได้เสด็จจากดาวดึงส์ ลงมายังเมืองมนุษย์โลกที่หนองกระแส แล้วพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการว่า “ให้ท่านทั้งสองหยุดรบกันเดี๋ยวนี้” การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายเสมอกัน และหนองกระแสให้ถือว่าเป็นเขตปลอดสงคราม ให้พญานาคทั้งสองพากันสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึก ขึ้นอยู่ในแม่น้ำแห่งนั้น และให้ถือว่าการทำสงครามครั้งนี้มีความเสมอกัน เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพญานาคทั้งสอง ให้เอาภูเขาพญาไฟ เป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปราวีรุกรานกันขอให้ไฟจากภูเขาดงพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล เมื่อพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการดังกล่าวแล้ว สุทโธนาคจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแสสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขาหรือ อาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยากง่ายในการสร้าง เพราะสุทโธนาคเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า “แม่น้ำโขง” คำว่า “โขง” จึงมาจาคำว่า “โค้ง” ซึ่งหมายถึงไม่ตรง ส่วนทางฝั่งลาวเรียกว่า แม่น้ำของ ด้านสุวรรณนาค เมื่อได้รับเทวราชโองการดังกล่าว จึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ ของหนองกระแส สุวรรณนาคเป็นคนตรงพิถีพิถันและเป็นผู้มีใจเย็น การสร้าง แม่น้ำจึงต้องทำ ให้ตรงและคิดว่าตรงๆ จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อน ตนจะได้เป็นผู้ชนะ แม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า “แม่น้ำน่าน” แม่น้ำน่านจึงเป็นแม่น้ำที่มีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย การสร้างแม่น้ำแข่งกันในครั้งนั้น ปรากฎว่าสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อนตามสัญญาของพระอินทร์ สุทโธนาคเป็นผู้ชนะและปลาบึกจึงต้องขึ้นอยู่แม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก ตามการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า น้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำในแม่น้ำน่านจะนำมาผสมกันไม่ได้ ถ้าผสมใส่ขวดเดียวกันขวดจะแตกทันที ในกรณีนี้ยังไม่เคยเห็นท่านผู้ใดนำน้ำทั้งสองแห่งนี้มาผสมกันสักที สุทโธนาคเมื่อสร้างแม่น้ำโขงเสร็จแล้ว ปลาบึกขึ้นอยู่แม่น้ำโขงและเป็นผู้ชนะตามสัญญาแล้ว จึงได้แผลงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ ทูลถามพระอินทร์ว่า “ตัวข้าเป็นชาติเชื้อพญานาคถ้าจะอยู่บนโลกมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้ จึงขอทางขึ้นลงระหว่างบาดาลและโลกมนุษย์เอาไว้ ๓ แห่ง และทูลถามว่าจะให้ครอบครองอยู่ตรงแห่งไหนแน่นอน พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาตให้มีรูพญานาคเอาไว้ ๓ แห่ง คือ ๑ ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ๒ ที่หนองคันแท ๓ ที่พรหมประกายโลก (ที่คำชะโนด) ส่วนที่ ๑ และ ๒ เป็นทางขึ้นลงสู่เมืองบาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนสถานที่ ๓ ที่ พรหมประกายโลกคือที่พรหมได้กลิ่นไอดิน (ตามตำนานพรหมสร้างโลก) แล้วพรหมเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์หรือผู้ให้กำเนิดมนุษย์ให้สุทโธนาคไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่ที่นั้น ซึ่งมีต้นชะโนด ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ลักษณะต้นชะโนดให้เอาต้นมะพร้าว ต้นหมากและต้นตาลมาผสมกัน อย่างละเท่าๆ กันและให้ถือเป็นต้นไม้บรรพกาล และทรงอนุญาตให้สุทโธนาค กลายร่างเป็นมนุษย์ได้ในวันข้างขึ้น ๑๕ วัน และให้กลายร่างเป็นพญานาคราชในวันข้างแรม ๑๕ วัน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เรียกชื่อว่า “พญานาคราชศรีสุทโธ” ให้อาศัยอยู่เมืองบาดาล ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงกึ่งพุทธกาล นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ถอยหลังไป พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะไปพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญประจำปี หรือบุญมหาชาติที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญพระเวท ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง และบางทีจะเป็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูก (ฟืม) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำและปาฏิหาริย์ครั้งล่าสุดคือ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (รวมทั้งท้องที่อำเภอบ้านดุง) แต่น้ำไม่ท่วมคำชะโนด เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธได้จัดมีการแข่งเรือและประกวดชายงามที่เมืองชะโนด นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง ได้บวชอยู่ที่วัดศิริสุทโธ (วัดโนนตูม และได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓) ติดกับเมืองชะโนดได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากเจ้าพ่อพญาศรีสุทโธให้ไป ประกวดชายงาม และบุคคลดังกล่าวเกิดความคลุ้มคลั่งอยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ ญาติพี่น้องได้ทำการรักษาโดยใช้หมอเวทมนต์ (อีสานเรียกว่าหมอทำ) จัดเวรยามอยู่เฝ้ารักษาและในที่สุดได้หายไปนานประมาณ ๖ ชั่วโมง แล้วได้กลับมาและได้เล่าเรื่องเมืองชะโนดให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายฟังถึงความงามความวิจิตรพิสดารต่างๆ ของเมืองบาดาลให้ผู้สนใจฟัง
พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร พญาศรีสุทโธ ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค ๖ อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา หลวงปู่คำพันธ์เอ่ยชื่อ ๖ อำมาตย์แห่งพญานาคไว้เพียง ๓ คือ
๑ พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตน ตั้งแต่ตาลีฟู ถึงจังหวัดหนองคายตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง
๒ พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น
๓ พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย