เกาะกระแสละครดัง พิภพมัจจุราช
"พิภพมัจจุราชใครถึงฆาตดับชีวี
สุวรรณตรวจดูบัญชีใครทำดีให้ไปสวรรค์
ทำชั่วพญายมว่าไง ก็ส่งไปนรกโลกันต์
ต้นงิ้วกะทะทองแดงเอาหอกแหลมแทงทุกวัน ทุกวัน"
เชื่อเหลือเกินว่าหากใครได้ยินวรรคทองจากเพลง พิภพมัจจุราช นี้ หลายคนคงจะนึกถึงความสยดสยองน่ากลัวชวนขนหัวลุกของเรื่องราวเกี่ยวพญามัจจุราช หรือ พญายมราช สุวรรณ สุวาน บัญชีหนังหมา ยมบาล และนรกขุมต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกนำมาทำเป็นละครแล้วหลายเวอร์ชั่น
(ละคร พิภพมัจจุราช พ.ศ. 2511)
(ยมบาลเจ้าขา พ.ศ.2556)
รวมไปถึงหนังสือการ์ตูน และแอนนิเมชั่น ที่ครั้งหนึ่งเคยครองใจคนไทยทั่วบ้านทั่วเมือง
โดยล่าสุดในปี 2566 นี้ บริษัท กันตนา ก็ได้นำเอาละครไทยเรื่อง พิภพมัจจุราช มาปัดฝุ่นทำเป็นละครอีกครั้ง ซึ่งได้เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 และออนแอร์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7 นำแสดงโดย
เคลลี่ ธนะพัฒน์ รับบท มัจจุราช
เบิร์ด ธราธิป สีหเดชรุ่งชัย รับบท สุวรรณ
หรูหรา ปิยะวัฒน์ รัตนหรูวิจิตร รับบท สุวาน
บอส ธวัชนินทร์ ดารายน รับบท ยมฑูต ยมนา
ฟิล์ม ฉัตรดาว สุปรีย์ชา รับบท ยมฑูต ยมณี
โดยในครั้งนี้ได้บริษัท กันตนา ผู้ผลิตละครเรื่องนี้ ได้ทำการปัดฝุ่นยกเครื่องใหม่ด้วยการหยิบยกเอาเหตุการณ์ในปัจจุบันมาดำเนินเรื่องราว อาทิ คดีมอมเหล่าเอ็นเตอร์เทนเนอร์จนเสียชีวิตแล้วอำพรางศพ คดีฆ่าหั่นศพ คดีใช้สารพิษปลิดชีพเจ้าหนี้ คดีแชร์ลูกโซ่ คดีหวยทิพย์ คดีทำร้ายร่างกายเด็กที่เป็นลูกเลี้ยงหรือแม้แต่ลูกในสายเลือด
การหลอกลวงฉ่อโกงผ่านทางสื่อออนไลน์ การคดโกงเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนจนนำไปสู่การทำร้ายทำลายผู้อื่นทั้งทางร่างกายและจิตใจจนถึงแก่ชีวิต การจัดตั้งสำนัก ลัทธิ อวดอ้างเป็นผู้วิเศษเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ มีความเชื่อผิด ๆ ลุ่มหลงงมงายอยู่ในอบาย โดยไม่เกรงกลัวบาปกรรม รวมไปถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองน้ำดีต้องมาจบชีวิตลงเพราะถูกผู้มีอิทธิพลสังหารด้วยเรื่องผลประโยชน์และการโกงกิน เมื่อตายตกไปก็ถูกพญามัจจุราชตัดสินในต้องไปชดใช้กรรมชั่วในนรกขุมต่าง ๆ เหตุการณ์เหล่านี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็สามารถเตือนใจพวกเราปุถุชนได้เป็นอย่างดี เรื่องราวที่นำเอามาทำเป็นบทละครนั้นก็สนุกสนานไม่แพ้เรื่องราวตำนานทางศาสนาหรือเรื่องเล่าเก่า ๆ ที่เคยถูกนำมาทำเป็นบทละครเลยแม้แต่น้อย และมาพร้อมกับวรรคทองที่ว่า
"กฎหมายอาจไม่ยุติธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ"
ที่พญามัจจุราช หรือพญายมราชมักจะพูดเพื่อปลอบขวัญดวงวิญญาณที่ถูกกระทำ และข่มขู่ดวงที่กระทำชั่วให้รู้สึกสำนึกกลัว ก็แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่น เที่ยงธรรม ของผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย แต่ว่าพญามัจจุราชนั้นเป็นใคร และมาเป็นพญามัจจุราชเจ้าแห่งนรกได้อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกัน
ยม यम ยมธรรม यमधर्म ยมราช यमराज หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามพระยามัจจุราช เป็นเทพเจ้าแห่งความตายในศาสนาฮินดู มีลักษณะกายสีฟ้า ดำ มี 4 กร ถือตรีศูร กระบอง บ่วงบาศ และวัชร(สายฟ้า) ทรงมหิงษาสีดำเป็นพาหนะ มียมทูตเป็นบริวาร สถิตอยู่ยังเมืองยมปุระในยมโลกหรือนรก มีสุนัขสีตาสองตัวเฝ้าประตูเมือง มีแร้งและนกแสกเป็นพานะสื่อสาร
ยมราชมีหน้าที่ชำระดวงวิญญาณบาปให้บริสุทธิ์ด้วยการลงโทษ ส่งวิญญาณไปสวรรค์และนรกตามกรรมที่ทำไว้ นอกจากมีหน้าที่ในการตัดสินบาปบุญของดวงวิญญาณแล้ว ยมราชยังให้ที่พักพิงและเป็นที่พึ่งพิงแก่วิญญาณทั้งปวง หลังจากความตายเมื่อดวงวิญญาณเดินทางมายังยมโลกก็จะได้พบเจอกับยมราชเป็นคนแรก จึงขนานนามยมราชว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย และด้วยความเที่ยงธรรมในการตัดสินความดีและความชั่วของดวงวิญญาณก่อนจะส่งไปยังสวรรค์หรือนรก จึงขนานนามว่า ธรธรรมราช หรือ ธรรมเทพ แม้จะขนานนามว่าเทพเจ้าแห่งความตาย แต่ยมราชไม่ได้มีหน้าที่พรากชีวิตหรือนำดวงวิญญาณมายังยมโลก ท่านเป็นเพียงผู้พิพากษาความดีความชั่วเท่านั้น แต่เมื่อใดที่ผู้คนสิ้นชีพยมราชจะส่งทูตไปรับดวงวิญญาณมายังยมโลก เรียกกันว่า ยมฑูต
ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดูกล่าวพระยมนั้นบรรพบุรุษของมนุษย์ ด้วยเป็นมนุษย์คนแรกที่ถือกำเนิดมายังโลกมนุษย์ และเป็นดวงวิญญาณของมนุษย์คนแรกที่ตายลงและกลายมาเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย เป็นบุตรของพระอาทิตย์กับพระนางศรัณยา บางตำนานกล่าวว่าพระองค์เป็นพี่น้องฝาแฝดกับ ยมีเทวี यमी หรือมีอีกชื่อ กลินทิเทวี कालिंदी เทวีผู้ดูแลแม่น้ำยมุนา
เชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ลงอาบน้ำในแม่น้ำยมุนานี่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานจากความตายได้ เพราะไม่ว่าใครที่เกิดมาก็ต้องตาย ไม่ว่าจะมนุษย์ สัตว์ พืชพันธ์ แม่น้ำ ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก จักรวาล หรือแม้แต่เทวะล้วนถูกกำหนดมาให้ถึงจุดจบ มีแต่ยมราชเทพแห่งความตายเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครควรจะตายเมื่อใดและที่ไหน มีเพียงยมราชเท่านั้นที่มีสิทธิ์ปลิดชีวิต หากผู้ใดได้อาบน้ำในแม่น้ำยมุนานี้ก็ได้รับการบรรเทาจากความเจ็บปวดทรมานของความตาย
เรื่องราวของยมปุระหรือยมโลกนั้นถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ครุฑปุรณะและกะทะอุปนิษัทว่าสิบสองวันหลังความตาย ดวงวิญญาณจะต้องเดินทางไปยังยมโลก
ในมหาภารตะยมราชได้อวตารไปเป็น วิฑูร บุตรของฤๅษีวยาสและนางกำนัลชื่อปาริศรามีที่เกิดจากพิธีพิธีนิโยค เนื่องจากพระยมถูกพระฤๅษีมาณฑวยะสาปให้มาเกิดเป็นบุตรของนางกำนัล มีบุตรที่เกิดแต่นางกุนตีชื่อ ยุธิษฐิระ วิฑูรเป็นผู้ที่ปัญญาหลักแหลมและมีความเที่ยงธรรมด้วยเป็นอวตารของธรรมเทพหรือยมราช
และมีเทวะตำนานเกี่ยวกับพระยมราชที่กล่าว พระยมราชเคยเกิดเป็นกษัตริย์กรุงโกศัมพี แคว้นไวศาลี ฝักใฝ่ในการสงคราม ก่อนตายได้อธิษฐานให้ตนนั้นได้เกิดเป็นเจ้านรก เมื่อตายแล้วได้มาเกิดเป็นยมราชเจ้านรกจริง ๆ แต่ก็ยังต้องรับกรรมโดยการดื่มน้ำทองแดงวันละ 3 เวลา เมื่อสิ้นกรรมแล้วจะได้เกิดเป็นท้าวสมันตราช
ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มีตำนานเกี่ยวกับยมราชว่าเป็นดวงวิญญาณของผู้เที่ยงธรรมเมื่อสิ้นอายุไขก็ได้ถือกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา และเป็นเจ้าแห่งเวมานิกเปรต ในคัมภีร์ปปัญจสูทนีกล่าวว่า พระยายมราชไม่ใช่เทพ แต่เป็นตำแหน่ง อันได้แก่ ในมหานรกแต่ละขุมมีพระยมประจำอยู่ทั้ง 4 ประตู มหานรกมี 8 ขุม จึงมีพระยมทั้งสิ้น 32 องค์ พระยมในยมโลกียนรกมี 320 พระองค์ และพระยมองค์ประธานในยมโลกอีก 1 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 353 พระองค์
ในเทวทูตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระยมมีหน้าที่ซักถามสัตว์นรกเกี่ยวกับเทวทูต 5 ได้แก่ ทารกแรกเกิด คนแก่ คนป่วย นักโทษ และคนตาย เพื่อให้สัตว์นรกนั้นได้ระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยทำมา หากสัตว์นรกจำได้ก็จะพ้นจากนรก หากจำไม่ได้ยมบาลก็จะนำตัวสัตว์นรกนั้นไปลงโทษตามบาปกรรมที่ได้ทำมา
ส่วนในศาสนาพุทธลัทธิฝ่ายมหายานกล่าวว่า ยมราชเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทำหน้าที่พิพากษาแก่ดวงวิญญาณทั้งหลายในนรกเฉกเช่นกัน
และยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตชาติพระยมเกิดเป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีปัญญา ตัดสินคดีความอย่างเป็นธรรม ครั้งหนึ่งบิดาของท่านกระทำผิดกฎหมาย ท่านจึงต้องตัดสินประหารบิดาตนเอง หลังจากนั้นท่านเสียใจและออกบำเพ็ญตบะในป่า เมื่อตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นอสูรเทพบุตรในสวรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในเมืองทางทิศใต้ ท้าววิรุฬหกจึงได้แต่งตั้งให้เป็นพญายมราช ทำหน้าที่ตัดสินชำระความดวงวิญญาณและเป็นเจ้าผู้ควบคุมแห่งภูติผีวิญญาณ
ในเทวะตำนานฮินดูยังมีเรื่องเล่าถึงตำนานพระยมราชเอาไว้ว่า มีชายผู้หนึ่งชื่ออมฤต อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ได้ทำการบูชาพระยมราชทั้งเช้าค่ำ ด้วยเขานั้นถูกความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายคอยหลอกหลอน อมฤตบูชายมราชทั้งเช้าค่ำจนยมราชนั้นพอใจและได้ปรากฎกายต่อหน้าเขา ยมราชและได้บอกให้เขานั้นบอกความปราถนาแก่พระองค์ แต่อมฤตได้ขอพรให้ตนนั้นเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย พระยมราชจึงบอกแก่เขาว่าทุกสรรพสิ่งเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่ว่าคน พีช สัตว์ แม่น้ำ ภูเขา หรือแม้แต่เทวะก็มีจุดที่สิ้นสุด ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ได้ยินดังนั้นอมฤตจึงได้บอกว่าหากความตายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้พระยมราชช่วยส่งสัญญาณเตือนแก่เขา ทำให้เขาได้รู้ว่าจะต้องตายเมื่อไรจะได้ไม่เป็นกังวล พระยมราชก็รับคำว่าจะส่งสัญญาณเตือนให้ได้รู้ว่าอมฤตจะต้องตายเมื่อไร แต่ก็มีข้อแลกเปลี่ยนว่าหากได้รับการแจ้งเตือนแล้ว อมฤตจะต้องเตรียมตัวเพื่อลาจากโลกนี้ทันที
หลายปีผ่านไปอมฤตที่เชื่อมั่นในคำสัญญาของพระยมราชว่าจะส่งสัญญาณแก่เขาว่าจะต้องตายเมื่อไร ทำให้อมฤตประมาทต่อการใช้ชีวิต เขาเลิกปฏิบัติบูชาต่อพระเป็นเจ้า แล้วหันมาใช้ชีวิตด้วยความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสตัณหา ผ่านไปไม่กี่ปี ผมของอมฤตก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว ฟันเริ่มหักหลุดร่วงไปตามวัย ไม่นานนักตาของเขาก็ฝ้าฟางจนบอด แต่อมฤตก็ยังไม่ได้รับสัญญาเตือนจากยมราชอยู่ดีว่าจะต้องตายเมื่อไร หลังจากตาบอดไม่นานอมฤตก็เริ่มเจ็บป่วย จนในที่สุดก็เป็นอัมพาตไม่สามรถลุกจากเตียงได้ แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนไปขนาดนั้นแต่ยมราชก็ยังไม่ส่งสัญญาณมาบอกอยู่ดีว่าเขาจะต้องตายเมื่อไร ทำให้อมฤตรู้สึกขอบคุณยมราชที่ไม่ส่งสัญญาณเตือนนั้นมาสักที จนในที่สุดก็ถึงวาระสุดท้ายของอมฤตเขาได้เห็นยมฑูตมารับเอาดวงวิญญาณของตัวเองไป เมื่อไปถึงยังยมโลกอมฤตก็ได้รู้แล้วว่าตัวเองนั้นตายไปแล้ว จึงได้ถามแก่ยมราชว่าเขาตายได้อย่างไร ในเมื่อยมราชไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนอะไรไปยังเขาเลย ยมราชจึงได้ตอบกลับไปว่าได้แจ้งเตือนไปถึง 4 ครั้งแล้ว แต่เพราะความหลงระเริงมัวดมาในตัญหาและความสุขสบาย ทำให้อมฟตนั้นหูหนวกตาบอดจนไม่ได้ยินไม่ได้เห็นสัญญาณเตือนนั้น ฉะนั้นจงฟัง 4 สัญญานั้นให้ดี
สัญญาณแรก คือผมที่เปลี่ยนไปเป็นสีขาว
สัญญาณที่สอง คือฟันที่เริ่มหลุดร่วง
สัญญาณที่สาม คือตาที่ฝ้าฟางและบอดลง
สัญญาณที่สี่ คืออาการเจ็บป่วยทีละนัอยไปจนถึงขั้นเป็นอัมพาต ร่างกายทุกส่วนเริ่มหยุดทำงาน
แต่เพราะความลุ่มหลงและประมาทในการใช้ชีวิตทำให้อมฤตไม่เห็นถึงสัญญาณเตือนนี้ และได้กระทำบาปเอาไว้มาก จึงต้องชำระล้างดวงวิญญาณในนรกแห่งนี้
ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งความตาย เป็นเจ้าแห่งนรก บวกกับเรื่องราวการลงโทษวิญญาณยังนรกขุมต่าง ๆ ที่ฟังแล้วชวนสยดสยอง แต่ก็ยังมีผู้ที่นับถือบูชายมราชในฐานะ ธรรมเทพ หรือ ธรรมราช เทพเจ้าผู้เที่ยงธรรม ในช่วงเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ในวันแรกของเทศกาลนอกจจากจะเป็นวันที่บูชาเทวีลักษมี ท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งของฮินดู
พระธันวันตริ เทพเจ้าแห่งอายุรเวท การแพทย์แห่งสวรรค์และเทพทั้งปวง
ก็ยังมีพิธี ยมปทีทานัม หรือการถวายประทีปแห่งแสงสว่างแด่พระยมราช เทพเจ้าแห่งความตายและความเที่ยงธรรม
เพื่อขอให้ท่านคุ้มครองจากปีศาจหรือวิญญาณบาปที่แฝงตัวอยู่ในความมืดในช่วงเทศกาลดิวาลี
โดยลักษณะของพระยมราชมักจะปรากฎในรูปของเทพ มี 1 พักตร์ 2 กร ถือกระบองและบ่วงบาศ หรือถือแต่กระบอง บางครั้งก็ปรากฎในรูป 1 พักตร์ 4 กร 2 กรบนถือกระบอง บวงบาศ 2 กรล่าง ทำมือในลักษณะอภัยมุทรา หรือ ถืออาวุธทั้ง 4 กร ได้แก่ ตรีศูร บ่วงบาศ วัชร(สายฟ้า) และกระบอง ประทับบนนั่งบนหลังมหิงษาหรือควายสีดำตัวใหญ่
เรื่องราวของเทพแห่งความตายและความเที่ยงธรรมองค์นี้หลายครั้งที่พอเราได้ยินก็รู้สึกชวนขนหัวลุก ไม่น่าพิสมัย แต่ถ้าหากฟังด้วยใจที่สงบ ใช้สติปัญญา ก็จะได้ข้อคิดไว้เตือนตัวเองว่าอย่าประมาทในการดำรงชีพ ความตายนั้นเป็นธรรมดา ราวกับว่าเรานั้นได้สัญญาณเตือนจากพระยมราชให้เตรียมตัวจากโลกนี้ด้วยความไม่ประมาท เช่นเดียวกับเรื่องราวของอมฤตที่ได้รับสารเตือนในครั้งนั้น