อันตรายจากการรับประทานไข่ดิบ
การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella)
การรับประทานไข่ดิบอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซาลโมเนลลา ซึ่งพบได้ในระหว่างการผลิตไข่ในตัวแม่ไก่ หรืออาจซึมผ่านเปลือกไข่เข้าไปปะปนกับไข่ดิบที่อยู่ภายใน โดยเฉพาะในระหว่างที่เราสัมผัสไข่หรือเตรียมอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ
การติดเชื้อซาลโมเนลลาอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โดยจะมีอาการท้องเสีย ปวดเกร็งท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากปัญหาสุขภาพต่างๆ
ร่างกายขาดไบโอติน (Biotin)
การรับประทานไข่ดิบเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณไบโอตินลดลง เนื่องจากไข่ขาวดิบมีโปรตีนที่เรียกว่าอะวิดีน (Avidin) ซึ่งจะเข้าไปจับกับไบโอตินในลำไส้ ทำให้ไบโอตินไม่ถูกดูดซึมและนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ตามปกติ อย่างไรก็ตาม โปรตีนอะวิดีนถูกทำลายได้ด้วยความร้อน คนที่รับประทานไข่ปรุงสุกจึงไม่ประสบปัญหาขาดไบโอตินหรือมีปริมาณไบโอตินในร่างกายลดลง
รับประทานไข่ดิบอย่างไรให้ปลอดภัย
- เลือกซื้อเฉพาะไข่ดิบที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์หรือฆ่าเชื้อโรคมาแล้วเท่านั้น ผู้บริโภคสามารถสังเกตจากบรรจุภัณฑ์ของไข่ ซึ่งจะมักระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว
- เลือกซื้อไข่ที่จัดวางไว้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือได้รับการควบคุมความเย็นอย่างสม่ำเสมอในตู้เย็นหรือตู้แช่
- ล้างทำความสะอาดไข่ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ จากนั้นเก็บรักษาไข่ไว้ในตู้เย็นด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม
หากพบอาการผิดปกติใดๆ หลังจากรับประทานอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอาการท้องเสียนานกว่า 3 วัน ท้องเสียร่วมกับมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อุจจาระปนเลือด อาเจียนติดต่อกัน ปากหรือคอแห้ง ลุกขึ้นยืนแล้วเวียนศีรษะ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว