ขี้สูดเพียงดิน วัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติ
ชันโรง หรือแมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ และไม่มีเหล็กในในตัวเอง นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง มีวรรณะ เช่น มีนางพญา (แม่รัง) มีสูดงาน (ไม่มีเพศ)และมีสูดสืบพันธุ์ (มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย) สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้ บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า #สูดเพียงดิน หมายถึงแมลงชนิดนี้ ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดิน ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูง เช่นโพรงไม้หรือจอมปลวก “สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายาก ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยเพราะเป็นของดี ติดเครื่องดนตรีชนิดใดก็ไพเราะจนคนไหลหลง อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไปปลุกเสกเป็นมหานิยม
การสร้างรัง ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกันสามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้
- กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้ง ที่ยืนต้นมีชีวิตที่อยู่ และยืนต้นตาย เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น “แมงขี้สูดโกน”
- กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดิน บริเวณ จอมปลวก ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ” ขี้สูดโพน”
- กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามพื้นดิน เรียกว่า “สูดเพียงดิน”
4.กลุ่มที่ทำรังตามหลืบ รอยแตกของต้นไม้ กิ่งไม้ หรือรูเล็ก ๆ ตามต้นไม้ ตามธรรมชาติ หรือทำรังในโพรง ต้นไม้ กลุ่มนี้มีตัวเล็กกว่า ชนิดที่ผ่านมา เรียกว่า “แมงน้อย”
คนโบราณเชื่อกันว่า ขี้สูดเพียงดินเป็นของทนสิทธิ์ที่มีอาถรรพ์ลี้ลับ เป็นวัตถุอาถรรพ์ตามธรรมชาติแม้ว่าไม่ต้องปลุกเสกก็ตาม อานุภาพของมันป้องกันไฟ กันคุณไสย มนต์ดำลมเพลมพัด กันเสนียดจัญไร เป็นมหาอุด และแคล้วคลาด ด้วยความที่ชันโรงเป็นแมลงที่ไม่ดุร้าย จึงถือกันว่ามีเสน่ห์ทางเมตตามหานิยมอีกด้วย