ตำนาน "ป่าคำชะโนด"
ตำนาน "ป่าคำชะโนด" อาถรรพณ์ดินแดนพญานาค
“ป่าคำชะโนด” อันลี้ลับ.
ตำนาน "ป่าคำชะโนด" อาถรรพณ์ดินแดนพญานาค
ตำนาน “คำชะโนด” เมืองพญานาค มีเรื่องเล่ามากมายมานานแสนนาน ของแบบนี้เชื่อไม่เชื่ออย่าได้ลบหลู่เป็นเด็ดขาด สุดแท้ยากจะหยั่งถึง
“หนองกระแส” หรือ “หนองแส” ในอดีต ดินแดนที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไปในเขตประเทศลาว เล่าลือสืบต่อๆกันมานมนานแล้วว่าที่นั่นคือดินแดน “เมืองพญานาค” ว่ากันว่า...ดินแดนส่วนหนึ่งมี “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ” ปกครองอยู่ ส่วนที่เหลือก็ตกอยู่ในอำนาจครอบครองของ “เจ้าพ่อสุวรรณนาค”
ดินแดนทั้งสองขั้วอำนาจอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีอาหารก็แบ่งกัน มีทุกข์ร้อนก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปตามประสา แต่มีข้อตกลงสำคัญกันว่า “ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปล่าเนื้อหาอาหาร อีกฝ่ายจะต้องไม่ออกไปเพราะอาจเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันได้”
หาอาหารมาได้ก็แบ่ง 2 ส่วน เอามาแบ่งกัน
อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดปัญหา เมื่อมีข้อขัดข้องหมองใจเรื่องการแบ่งสรรปันอาหาร กระทั่งแคลงใจกัน คิดว่าอีกฝ่ายเล่นไม่ซื่อ มีนอกมีใน ไม่ปฏิบัติตามสัญญา แม้ว่าอีกฝ่ายจะชี้แจงแถลงไขแต่ก็
ไม่ยอมเชื่อ จนเกิดแตกหัก ทะเลาะกัน ถึงขั้นประกาศสงครามกันในที่สุด
การต่อสู้เอาเป็นเอาตายหวังชนะก็เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่เสียหายมหาศาลถึงขั้นที่ว่า...พื้นโลกสะเทือน เกิดแผ่นดินไหว เทวดาน้อยใหญ่ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนไปทั้ง 3 ภพ
ความล่วงรู้ไปถึงหู “พระอินทร์” จึงลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตรัสโองการให้นาคทั้งสองฝ่ายหยุดรบ ตัดสินให้ถือว่าเสมอกันไม่มีใครแพ้ใครชนะ หันมาช่วยกันสร้างแม่น้ำคนละสาย ใครสร้างถึงทะเลก่อนก็จะให้เอา “ปลาบึก” ไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น และป้องกันไม่ให้ทะเลาะกันอีกจึงเอาเขาดงพญาไฟเป็นเขตกั้น ห้ามข้ามไปรุกรานกันอีกต่อไป กล่าวกันว่า...แม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “แม่น้ำโขง” และอีกสายเรียกว่า “แม่น้ำน่าน”
“พญาศรีสุทโธ” สร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อน จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ทูลขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์เอาไว้ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ที่หนองคันแท และที่พรหมประกายโลก หรือคำชะโนด นั่นเอง
“ต้นคำชะโนด” ลักษณะเสมือนเป็นการรวมเอาต้นมะพร้าว ต้นหมาก ต้นตาลมาผสมสายพันธุ์เอาไว้ในสัดส่วนพอๆกันอย่างลงตัว
เรื่องเล่ามากมายเกิดขึ้นที่ “ป่าคำชะโนด” บนเนื้อที่ราว 20 ไร่แห่งนี้ นับจากชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ที่เล่าว่าได้มีโอกาสได้พบเห็น ชาวเมืองคำชะโนดทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่ไปเที่ยวงานบุญประจำปี หรือ “บุญมหาชาติ”
ผู้หญิงคำชะโนดมายืมเครื่องมือ “ทอหูก” หรือ “ฟืม” ไปทดผ้าอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังมีตำนานเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง” ที่หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้าง ก็เกิดขึ้นที่ดินแดนป่าคำชะโนดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
“คำชะโนด” เสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการปรับปรุงให้คนนอกเดินทางเข้าไปสักการะได้อย่างสะดวก
จะว่าไปแล้ว ดินแดนแห่งนี้สำหรับผู้มาเยือนครั้งแรกหลายคนอาจให้ความรู้สึกได้ถึงความลี้ลับบางอย่างที่สงบเย็นแบบที่ยากจะอธิบาย ด้วยบรรยากาศที่ “เงียบ” และ “เย็น” ปกคลุมด้วยต้นไม้สูงใหญ่...ต้นคำ
ชะโนด ประหนึ่งว่าผู้มาเยือนนั้นได้หลุดเข้าไปในโลกแห่งอดีตก็ไม่ปาน
หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นบางอย่างก็ยากที่จะพิสูจน์ บางอย่างก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ เอาเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากกันก่อน...อย่างเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง” คนอีสานเรียกว่า “ผีบังบด” หรือบ้างก็ว่าเป็น “เมืองลับแล” ดินแดนที่ผู้คนไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรมาดลใจให้เห็น
เรื่องราวมีอยู่ว่า บริษัทหนังเร่แห่งหนึ่ง ถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านวังทอง ด้วยเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องฉายจบแค่ตี 4 ของวันใหม่ และให้ออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสางและห้ามหันหลังกลับมามอง ว่ากันว่าบรรยากาศฉายหนังเป็นไปอย่างเงียบเฉียบ ไม่มีเสียงหัวเราะ เอะอะ
แม้แต่ร้านขายของกินของใช้ ร้านขายบุหรี่ก็ไม่มีให้เห็น เรื่องราวของ “ผีจ้างหนัง” จึงสะท้อนศรัทธาในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี กระนั้นในบางเรื่องที่มีข้อสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ก็มีให้เห็นอยู่บ้างแล้ว
แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องของ “ศรัทธา... ความเชื่อ” คงไม่มีใครที่จะลบหลู่ ทุกวันนี้ส่วนที่เป็นป่าก็ไม่น่าจะมีใครกล้าเข้าไปรุกล้ำกล้ำกราย เดินเข้าไปนิดเดียวก็เจอน้ำแล้ว สิ่งที่ไม่เห็น...ไม่ได้แปลว่าไม่มีจริง เรื่องราวอันลี้ลับ “ป่าคำชะโนด” ก็เป็นเช่นนั้น.