วันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น
วันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น
1 มกราคม (元日 ganjitsu) วันขึ้นปีใหม่
วันจันทร์ที่2ของเดือนมกราคม (成人の日 seijinnohi ) วันฉลองบรรลุนิติภาวะ
11 กุมภาพันธ์ (建国記念の日 kennikukinennohi) วันสร้างชาติ
21 มีนาคม(โดยประมาณ) (春分の日jyunbunnohi) วันวสันต์วิษุวัต หรือ Vernal Equinox Day
29 เมษายน (昭和の日 showanohi) วันโชวะ
3 พฤษภาคม (憲法記念日 kenpoukinenbi) วันรัฐธรรมนูญ
4 พฤษภาคม (みどりの日 midorinohi) วันสีเขียว
5 พฤษภาคม (こどもの日 kodomonohi) วันเด็ก
วันจันทร์ที่3ของเดือนกรกฎาคม (海の日 uminohi) วันแห่งทะเล
11 สิงหาคม (山の日 yamanohi) วันแห่งภูเขา
วันจันทร์ที่3ของเดือนกันยายน (敬老の日 keirounohi) วันเคารพผู้สูงอายุ
23 กันยายน(โดยประมาณ) (秋分の日 jyuubunnohi) วันศารทวิษุวัต หรือ Autumnal Equinox Day)
วันจันทร์ที่2ของเดือนตุลาคม (体育の日 taiikunohi) วันกีฬา
3 พฤศจิกายน (文化の日 bunkanohi) วันวัฒนธรรม
23 พฤศจิกายน (勤労感謝の日 kinroukanjyanohi) วันขอบคุณแรงงาน
23 ธันวาคม (天皇誕生日 tennoutanjyoubi) วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดิ
วันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่นโดยส่วนมากจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พิธีกรรมทางการเกษตร และศาสนา ในอดีตไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ แต่ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้วันเหล่านี้เป็นวันหยุดราชการตามกฎหมาย ซึ่งโรงเรียนเเละสถานที่ราชการต่างๆจะหยุดทำการ
วันหยุดนักขัตฤกษ์บางวันมีการเปลี่ยนชื่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่นวันขอบคุณแรงงานเดิมเป็นวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิทำพิธีถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวเป็นครั้งแรกให้แก่เทพเจ้า เป็นต้น
รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีวันหยุดที่ยาวติดต่อกันมากขึ้น จึงมีการกำหนดวันหยุดชดเชยในวันจันทร์ หากวันสำคัญนั้นตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์จะมีการเปลี่ยนวันหยุดบางวันให้มาเป็นวันจันทร์แทน เช่นวันฉลองบรรลุนิติภาวะเดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 15 มกราคมปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันทำงานที่คั่นระหว่างวันสำคัญเป็นวันหยุดด้วย เช่นวันที่ 4 พฤษภาคมเดิมเป็นวันธรรมดาแต่ขั้นระหว่างวันรัฐธรรมนูญกับวันเด็กจึงกำหนดให้เป็นวันสีเขียว (みどりの日) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้มีวันหยุดพักผ่อนมากขึ้น
ต่อมาในปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ประกาศวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 วันคือวันที่ 11 สิงหาคมโดยกำหนดให้เป็นวันแห่งภูเขา(山の日) เพื่อให้ประชาชนมีวันหยุดต่อเนื่องกันเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มักปิดทำการระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคมต้อนรับเทศกาลโอบ้ง ซึ่งเป็นเทศกาลเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผู้ที่ทำงานต่างถิ่นก็มักเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษและฉลองเทศกาลโอบ้งกับครอบครัว การกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มครั้งนี้จึงทำให้วันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปีละ 15 วันเป็น 16 วัน
ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใกล้ๆกันหลายวัน บางปีหยุดติดกับวันเสาร์อาทิตย์ทำให้หยุดติดต่อกันหลายวันที่ญี่ปุ่นเรียกช่วงนี้ว่า golden week ผู้คนจำนวนมากจะใช้ช่วงเวลานี้ออกไปท่องเที่ยวหรือกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด เครื่องบินหรือรถไฟชินคันเซ็นจะมีคนจองเต็ม นอกจากนี้ทางด่วนที่ออกสู่ต่างจังหวัดก็จะมีรถติดยาวเหยียดเช่นกัน