หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

บทความวิชาการ เรื่อง นวัตกรรม: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0

โพสท์โดย Sirawat Kro0404

นวัตกรรม: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0

Innovation: The Buddhist Applying Human Resource Development during Thailand 4.0 Era

ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ*

บทคัดย่อ

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการบริหารจัดการงานและการจัดการคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามทฤษฎีตะวันตก และตามหลักการทางพระพุทธศาสนา มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ทฤษฎีตะวันตกเน้นการพัฒนาเพื่อสนองความต้องการ การแสวงหาผลประโยชน์แก่ตน กลุ่มของตนให้ได้มากที่สุด แต่พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีปรัชญาที่ว่า มนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง และเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถฝึกฝนพัฒนาให้ดีได้ กระบวนการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มต้นที่ตัวบุคคล เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดี และมีประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์การ พัฒนาสังคม และประเทศชาติ ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

ปัจจุบันเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ ยุคที่เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ หรือยุคที่เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 4 ประเภท ได้แก่ ด้านการผลิต เปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ด้านการบริการ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการ ด้านกระบวนการ เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ และด้านการจัดการ มีการจัดการด้านการตลาด การเงิน องค์การเข้าไว้ด้วยกัน พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และอีกประการหนึ่ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น จะต้องมีการพัฒนาบุคคล พัฒนาวิชาชีพ และพัฒนาองค์การไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในที่สุด

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ คือ การพัฒนากาย การพัฒนาจิต และการพัฒนาปัญญาเข้าด้วยกัน จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำเอาหลักภาวนา 4 คือ การทำให้เป็นให้มีขึ้นและการฝึกอบรม มาประยุกต์ใช้ในการบริหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้สูงยิ่งขึ้น

 คำสำคัญ: นวัตกรรม, การพัฒนา, ทรัพยากรมนุษย์, ไทยแลนด์ 4.0

 

Abstract

The human resource development is the process of work and personnel management to achieve goals. The goals of the western HRD is different from of the Buddhist applying HRD. The western HRD focuses on the development to response the demand and to get self or own group benefits, however, the Buddhist applying HRD focuses on the sustainable development. The Buddhist philosophy is that human being is the noble being which can be trained to be the better being. The HRD process begins with personal training for developing knowledge, skills, good attitude, better performance in responsible work, and determination for self-development, organization development, social development as well as nation development to response the changes of the world.

Presently it is in the era of Thailand 4.0 which is the new economic model driven forward by the four types of innovation. The manufacturing innovation trend will change from pushing forward commodities to innovation products. The service innovation will change the focus on manufacturing section to service section. The process innovation will change from the industrial section to the tech creative innovation. The management innovation will integrate the marketing management, the financial management and the organization management including to apply new knowledges to make the most of its benefits. Moreover, the human resource development should conclude personal development, career development and organization development to create security, wealth and sustainability.

The Buddhist applying HRD is an integration of the physical development, the mind development and the wisdom management. Therefore the Buddhist applying HRD is the sustainable development. The Bhavana or development of life in four ways, which are cultivating and training, are applied to use in the management to enhance human potential.

Keywords: innovation, development, human resource, Thailand 4.0

 

  1. บทนำ

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ โดยการนำเอาคำ  สั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นฐานความคิด ให้มีความรูู้ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน มีความเจริญเติบโตทั้งทางด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ด้วยวิธีการพัฒนาตนตามหลักภาวนา 4 คือ การทำให้เป็นให้มีขึ้น และการฝึกอบรม ซึ่งสามารถที่จะเป็นเกณฑ์ในการวัดประสิทธิผลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ด้วย เพราะผู้ที่พัฒนาตนตามหลักภาวนา 4 ประการนี้ ถือเป็นบุคคลที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นบุคคลที่มีปัญญา ทำงานต่าง ๆ อย่างมีสติ ไม่มีข้อผิดพลาด สังคมจะพัฒนาไปมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์ จะก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ในกฎระเบียบที่สังคมได้วางเอาไว้ เมื่อทรัพยากรมนุษย์ได้ถูกพัฒนาให้มีทั้งความรู้ และความดีแล้วก็จะทำให้ระบบอื่น ๆ ในสังคม มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงไปในทางที่ดีงามตามมาอีกด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นการพัฒนาตน เป็นการพัฒนาคุณสมบัติที่อยู่ในตัวบุคคล ทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ที่พัฒนาตนแล้ว ย่อมได้รับความเคารพนับถือ ยกย่องเชิดชู การพัฒนาตนจะช่วยให้บุคคลสำรวมกายและใจมากขึ้น รู้จักควบคุมตนเองในการแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักข่มใจ มีความอดทนอดกลั้น เพื่อรักษาความดี ความงามของตน จนได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร การพัฒนาตน คือ การสร้างคนใหม่ในตนเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สุขภาพจิตดี มีทักษะในด้านกำลังใจและจุดมุ่งหมายของชีวิต (สงวน สุทธิเลิศอรุณ, 2543: น.145-146.)

 การศึกษามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคล ให้ดำรงคงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การเพิ่มพูนความรู้ด้วยการศึกษานั้น จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังที่สำคัญของชาติ
เพราะการศึกษาจะสร้างและพัฒนาคนในชาติให้มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม
และทำงานได้อย่างดี เกิดประสิทธิภาพในทุกวงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันเป็นการตอบสนองต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จากสภาพสังคมในปัจจุบัน เป็นสังคมที่นิยมความเจริญด้านวัตถุและเทคโนโลยีอันทันสมัย อันเป็นผลให้ค่านิยมของคนมุ่งไปที่วัตถุมากกว่าจิตใจ การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เพราะต่างคนต่างมุ่งคิดที่จะเอาตัวรอด โดยจะดำเนินชีวิตไปตามบทบาทหน้าที่ที่ตนได้รับ ซึ่งบางครั้ง อาจเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น (กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, 2542 : น.2.)

ประเทศไทยเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ จะมีสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เพิ่มขึ้น องค์การจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับคนยุคใหม่ ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่พึ่งพาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเชื่อมโยงของโลกในยุคโลกาภิวัตที่มีความเข้มข้นทำให้เรามีโอกาสเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและคาดไม่ถึง การเกิดที่ทำงานแบบใหม่ที่เรียกว่า Digital Workplace ข้อมูลแทบทุกอย่างในอนาคตจะถูกเชื่อมโยงอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตจะอยู่ใน Mobile Technology วัฒนธรรมการเชื่อมโยงกันของคนในอนาคตจะเป็นการติดต่อที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา สังคมของการมีส่วนร่วม ในอนาคตสังคมจะต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่การผลิตสินค้าใด ๆ ก็ตาม หากผู้ซื้อสามารถมีส่วนในการออกแบบ แลกเปลี่ยนไอเดีย สินค้านั้นจะขายดี มีการเรียนรู้ผ่าน Social ไม่ว่าจะเป็น Social networking, Social media หรือ Social Learning และองค์การในอนาคต ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โลกยุคใหม่กำลังขับเคลื่อนจาก CSR (Corporate Social Responsibility) ไปเป็น CSV (Creating Shared Value) ที่ปลูกฝังจิตสำนึกค่านิยมในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ชีวิต สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ เพราะเหตุนี้ ผู้บริหารองค์การจึงควรประยุกต์ใช้นวัตกรรม 4 ประเภท คือ ด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านกระบวนการ และด้านการจัดการ มาพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

  1. ความหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

              คำว่า “การพัฒนา” คือ การมุ่งให้เกิดความเจริญก้าวหน้า มุ่งให้ทุกคนมีความสุข เป็นกระบวนการที่นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายไว้ การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้มีคุณค่าและเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องและความต้องการของมวลมนุษยชาติ ที่มุ่งให้เกิดความเสมอภาค และการกระจายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยให้น้อยที่สุด การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานขององค์การ เพราะมนุษย์เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์การไปสู่ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวได้และถ้าองค์การใดมีบุคลากรที่มีคุณภาพ องค์การนั้นก็จะประสบกับความสำเร็จ หรือเป็นกระบวนการวางแผนล่วงหน้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความสามารถ ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์การ สังคม และประเทศชาติ การตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมนุษย์ จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่า และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (กัญญา แซ่โง้ว, 2546 : น. 9.)

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)  (2543 : น. 51.) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นการมองมนุษย์ในฐานะทรัพยากร คือ เป็นทุน เป็นปัจจัยในการที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการพัฒนามนุษย์โดยมองคนในฐานะเป็นมนุษย์ มีความหมายว่า มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ของเขาเอง ชีวิตมนุษย์นั้นมีจุดหมาย จุดหมายของชีวิต คือ ความสุข อิสรภาพ ความดี ความงามของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล

          ในด้านรัฐศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมประชาชนสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง โดยเฉพาะประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (จีระ หงส์ลดารมภ์, 2540,น.5.) และปรับปรุงพฤติกรรมของบุคลากรในการทำงานให้แก่บุคลากรนั้น โดยองค์การเป็นผู้จัดขึ้นให้แก่บุคลากรในระยะเวลาที่จำกัด ผ่านกระบวนการพัฒนาปัจเจกบุคคล เช่น การฝึกอบรม และกระบวนการพัฒนาองค์การ ทั้งนี้ เพื่อดึงเอาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเอื้ออำนวยต่อการช่วยองค์การให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (กีรติ ยศยิ่งยง, 2548: น.2.) ในส่วนของการส่งเสริมให้ทรัพยากรมนุษย์ในองค์การมีความรู้ความสามารถและมีสมรรถนะในการทำงานสูงยิ่งขึ้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่จะเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติงานในด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ อุปนิสัย ทัศนคติ และวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อองค์การอันเนื่องมาจากทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้องค์การประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว ถ้าองค์การใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถมาก องค์การนั้นก็จะมีโอกาสจัดการองค์การให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ (เชาว์ โรจนแสง, 2545 : น.393.)

              พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2549 : น.39.) ได้อธิบายถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้ว่า การศึกษาอบรมในพระพุทธศาสนายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังจะเห็นได้จากการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการและวุฒิภาวะของผู้เรียน โดยที่พระพุทธเจ้าทรงเทียบความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียนของบุคคลเข้ากับบัวสี่เหล่า และทรงจำแนกประเภทของบุคคลที่จะเข้ารับการศึกษาอบรมไปตามจริต 6 และที่สำคัญคือ พระพุทธเจ้ามุ่งให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น การบริหารงานบุคคลในพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่การรับคนเข้ามาบวช ที่ต้องมีการกลั่นกรองโดยคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้คณะสงฆ์ในการให้การอุปสมบทแก่กุลบุตร เมื่อบวชเข้ามาแล้ว พระบวชใหม่จะต้องได้รับการฝึกหัดอบรมและการศึกษาเล่าเรียนจากพระอุปัชฌาย์โดยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลขอท่านจนพรรษาครบ 5 พรรษา

  1. ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

           ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ เป็นการดำเนินงานบนพื้นฐานกระบวนการลูกโซ่ ตั้งแต่การวางนโยบาย กำหนดแผนงาน อัตรากำลังคน การสรรหาคัดเลือกคนดีมีความสามารถเข้ามาทำงานในอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม การวางโครงสร้างและกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการ การฝึกอบรมให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนตำแหน่งโยกย้าย การพัฒนาศักยภาพให้คนในองค์การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง มีขวัญกำลังใจ และมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในองค์การ     มีความจงรักภักดีจนกระทั่งพ้นสภาพการเป็นคนในองค์การ ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. ธุรกิจอุตสาหกรรมแข่งขันกันมากขึ้น จึงเกิดความต้องการคนดีมีความสามารถสูงมาทำงานให้
  2. รัฐเล็งเห็นความสำคัญของการใช้คน ภายใต้เงื่อนไขของยุคสมัยทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่น ตามหลักมนุษยธรรมสากล สิทธิมนุษย์ชนขององค์การสหประชาชาติ และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทุกหน่วยธุรกิจถือปฏิบัติ
  3. ความซับซ้อนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการและเครื่องมือ เครื่องใช้มาอำนวยความสะดวกสบายให้แก่การดำรงชีวิตในลักษณะที่แข่งขันกันสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น
  4. พลังของสถาบันแรงงานที่เติบโตและแข็งแรงขึ้น เป็นแรงผลักดันให้นายจ้างต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานซึ่งจะบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงขององค์การ
  5. องค์การใหญ่โตซับซ้อนมากขึ้น ตามสภาพแข่งขันและความเจริญทางเศรษฐกิจการแบ่งงานกันทำในองค์การขนาดเล็ก จะมีลักษณะคนเดียวทำงานได้หลายอย่าง แต่เมื่อองค์การขยายตัวใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ก็ต้องการความชำนาญเฉพาะอย่างมากขึ้น
  6. บทบาทของการจัดการเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอันมาก เพราะต้องการผู้บริหารมืออาชีพจริง เพื่อมาบริหารงานยามวิหกฤตได้ หรือจัดการงานได้ตามสถานการณ์โดยใช้สหวิทยาการ เพื่อการแก้ปัญหา เพราะความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในองค์การและภายนอกองค์การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
  7. พฤติกรรมศาสตร์ก้าวหน้าและเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น เพราะผู้ บริหารจะต้องเข้าใจธรรมชาติของคน และธรรมชาติของงานมากขึ้นด้วย จึงจะอยู่กับเพื่อนร่วมงานในองค์การได้ดีมีสมานฉันท์ (บรรยงค์ โตจินดา, 2546 : น. 20-21.)

           จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของการจัดการทรัพยากรมนุษย์นั้น ช่วยให้บุคคลที่ปฏิบัติงานในองค์การมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เกิดความจงรักภักดีต่อองค์การที่ตนปฏิบัติงาน ช่วยพัฒนาให้องค์การเจริญเติบโต เพราะการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นสื่อกลางในการประสานงานกับแผนกต่าง ๆ เพื่อแสวงหาวิธีการให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาทำงานในองค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุดทำให้องค์การเจริญเติบโตและพัฒนายิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแก่สังคมและประเทศชาติ ถ้าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์การและผู้ปฏิบัติงาน ทำให้สภาพสังคมโดยส่วนรวมมีความสุข ความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นการพัฒนาที่ใช้กลยุทธ์เชิงรุกที่มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดในองค์การ นั่นคือบุคคลที่ทำงานทั้งกรณีที่ทำงานรวมกันและกรณีที่ทำงานคนเดียวเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้

4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนา

มีพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง ใจความว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐที่สุด” (ขุ.ธ.25/57) เพราะมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา กล่าวคือ มนุษย์ต้องเป็นผู้กระทำด้วยการฝึกอบรมให้เกิดคุณสมบัติภายในตน ซึ่งได้แก่ คุณสมบัติทางกาย ทางศีล ทางจิต และทางปัญญา ที่ส่งผลไปสู่ภายนอกตน เป็นความสัมพันธ์กับมนุษย์และวัตถุ ซึ่งแสดงออกผ่านพฤติกรรมทางกายและวาจา  ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นผู้กระทำ หรือผู้สร้างให้เกิดมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ให้เกิดการพัฒนาในแง่ความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ก็ยังเป็นผู้ที่ถ่ายทอดคุณสมบัติที่ตนทำให้มีขึ้นไปสู่ภายนอก ซึ่งเป็นการพัฒนาในแง่ของทรัพยากรมนุษย์

           คำว่า “มนุษย์” หมายความว่า ผู้มีใจสูง สูงโดยหนาขึ้น มากขึ้น พอกพูนขึ้น ก่อขึ้น สั่งสมขึ้น คือ ปฏิบัติฝึกหัดอบรมสั่งสมขึ้นนั้นเอง ใจที่ประกอบด้วยมนุษยธรรม คุณธรรม มีศีลธรรมหรือใจที่คิดเป็นบุญเป็นกุศล ส่วนอีกนัยหนึ่งหมายถึง การวัดผลแห่งการปฏิบัติว่า มนุษย์มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร โดยใช้หลักภาวนา 4 ซึ่งผู้ที่สามารถพัฒนาครบทั้ง 4 ด้าน โดยสมบูรณ์ ก็คือคุณสมบัติของพระอรหันต์นั่นเอง (พิทยา ศรีโกตะเพ็ชร, 2545 : น. 14.) 

           ความคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามี 4 อย่าง คือ

           1.พระพุทธศาสนา มีทัศนะว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมชาติ ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้น เมื่อธรรมชาติเป็นระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย มนุษย์ซึ่งเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย ก็จึงเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เป็นองค์รวม  อันนี้ การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ เราเรียกว่า ความเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย

  1. ชีวิตและการกระทำของมนุษย์ ย่อมเป็นไปตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น มนุษย์ทำอะไรขึ้นมา ก็มีผลในระบบเหตุปัจจัยนี้ กระทบต่อสิ่งภายนอกบ้าง กระทบตัวเองบ้าง และในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก ก็มีผลกระทบต่อตัวมนุษย์ด้วย คือทั้งในมุมกิริยาและปฏิกิริยา ตัวเองทำไปก็กระทบสิ่งอื่น สิ่งอื่นเป็นอย่างไรก็มากระทบตัวเอง
  2. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก ทางพระเรียกว่า เป็นทัมมะ คือ เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ข้อนี้ถือว่าเป็นความคิดรากฐานที่สำคัญที่สุด การเกิดระบบจริยธรรมในพระพุทธศาสนาขึ้นมาก็เพราะถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก หลักนี้เป็นแกนสำคัญของจริยธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้จริยธรรมมีความหมายเท่ากับการศึกษา และเพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ จริยธรรมจึงเป็นระบบที่มีความประสานกลมกลืน เช่น ทำให้จริยธรรมกับความสุข เป็นสภาพที่พัฒนาไปด้วยกันได้หรือเป็นจริยธรรมแห่งความสุข หลักการนี้ถือว่า ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนา ถ้าไม่พัฒนาแล้วมนุษย์ไม่ประเสริฐ และมนุษย์นั้นเมื่อพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงอิสรภาพและความสุขได้จริง
  3. ความสามารถของมนุษย์ที่พัฒนาแล้วอย่างหนึ่ง คือ การทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความประสานเสริมเติมเต็มกลมกลืนซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสมบูรณ์และดุลยภาพ เมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนา ทำให้เกิดความแตกต่างเป็นขัดแย้ง หรือเกิดความสับสนแล้วความแตกต่างก็กลายเป็นความขัดแย้ง

           เครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์ที่แท้จริง คือการที่ความสามารถยิ่งขึ้น ๆ ในการทำให้ความเป็นอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายเกื้อกูลเอื้อประโยชน์แก่กันมากขึ้น เบียดเบียนกันน้อยลง และทำให้โลกอุดมสมบูรณ์งดงามเหมาะแก่การอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2550 : น.151.) 

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนานั้น ต้องพัฒนาตนให้เป็นคนดีก่อนแล้ว สังคมก็จะดีไปด้วย ซึ่งตรงกับข้อความที่ว่า “หลักแห่งความประพฤติ” หรือแนวทางของการประพฤติดี ปฏิบัติชอบของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะหลักศีลธรรมเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตนที่สร้างสรรค์ชีวิตคนให้เป็นคนดี ทั้งเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต เพื่อบรรลุถึงจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต (พระธรรมโกศาจารย์ ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), 2533 : น. 31.)

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ คือ เริ่มจากการพัฒนา “ตนเอง” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคม การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา ได้มีการวิเคราะห์พฤติกรรม (การกระทำของคน) ไว้ในสองลักษณะ คือ

1) พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์ เกิดจากการไม่รู้หรืออวิชชา ตัณหา เช่น ความโลภอยากได้ของคนอื่น เกิดการลักขโมยเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์

2) พฤติกรรมสลายทุกข์ (การแก้ปัญหา) เมื่อคนเราเกิดความทุกข์จะก่อให้เกิดพฤติกรรมในการแก้ปัญหาคือสร้างปัญญาและฉันทะ เพื่อให้เกิดการศึกษา รู้วิธีการในการแก้ปัญหาจากพฤติกรรมดังกล่าว

หลักพุทธธรรมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธนั้น การที่บุคคลจะพัฒนาได้ ก็ด้วยการน้อมจิตใจมารองรับเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้กระบวนการในการพัฒนาทรัพยากรนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะโดยที่สุด และสำคัญที่สุด การพัฒนานั้น จะต้องเริ่มที่การพัฒนาตนก่อนเป็นลำดับแรก เพราะพระพุทธศาสนานั้น ให้ความสำคัญที่ตนมากที่สุด เมื่อตนพัฒนาแล้วบุคคลรอบข้างหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างก็จะถูกพัฒนาตามไปด้วย เหมือนกับห่วงโซ่ของการพัฒนา หลักธรรมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ภาวนา 4 คือ หลักของความเจริญ การทำให้เป็นให้มีขึ้น การฝึกอบรมซึ่งเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือหลักของการพัฒนา 4 ประการ ซึ่งสามารถที่จะเป็นเกณฑ์ในการวัดประสิทธิผลการพัฒนาบุคคลได้ด้วย เพราะผู้ที่พัฒนาตนตามหลักภาวนา 4 ประการนี้ถือเป็นบุคคลที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เพราะท้ายที่สุดผู้ที่พัฒนาแล้วนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีปัญญา ทำงานต่าง ๆ ก็จะไม่ผิดพลาด เพราะคำว่าภาวนานี้ เป็นหลักที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เมื่อจิตใจมีการภาวนาอยู่อย่างต่อเนื่อง สติก็จะไม่หาย เมื่อสติไม่ขาดหายผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่า ผู้มีปัญญาซึ่งถือเป็นบุคคลที่พัฒนาแล้วทั้งด้ายกาย วาจาและใจ ซึ่งบุคคลสามารถปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ เพื่อจะก่อให้เกิดประโยชน์ 4 ประการ (ที.ปา.(ไทย) 11/228/178) มีรายละเอียด ดังนี้

           1) กายภาวนา คือ การเจริญกาย พัฒนากาย การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ ให้กุศลธรรมงอกงามให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ        กายภาวนานี้ เป็นวิธีการพัฒนาบุคคลด้านพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมให้บุคคลแสดงออกเฉพาะพฤติกรรมในด้านดีเท่านั้น

           2) ศีลภาวนา คือ การเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัยไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ด้วยดี  

           3) จิตภาวนา คือ การเจริญจิต พัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย ทำให้มนุษย์มีจิตใจที่สูงและมีอารมณ์มั่นคง เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลงดเว้นความโลภ ความพยาบาทแล้วให้ประพฤติแต่มโนสุจริต ไม่มีความโลภ ไม่มีความพยาบาท หรือมีจิตใจเสียสละและยินดีให้อภัยตามมโนสุจริต เป็นการพัฒนาจิตใจตามหลักของสมาธิที่เรียกว่า จิตภาวนา

           4) ปัญญาภาวนา คือ การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ และทำให้มนุษย์ได้รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ ละมโนทุจริต ปฏิบัติตามมโนสุจริตเป็นการพัฒนาบุคคลตามหลักปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา การปฏิบัติข้อนี้ เป็นการพัฒนามนุษย์ให้เข้าใจชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง จนถึงสัมมาญาณและบรรลุ สัมมาวิมุติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นปัญญาภาวนาเช่นกัน (โกศล เพ็ชรวงศ์, 2543 : น. 33.)

  1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุค 4.0

ประเทศไทย 4.0 โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง  ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญ สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่  ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจในยุคแรก เรียกว่า “ประเทศไทย 1.0” เน้นการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตและขาย พืชไร่ พืชสวน เป็นต้น ยุคสอง เรียกว่า “ประเทศไทย 2.0” เน้นอุตสาหกรรมแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตและขายรองเท้า  เครื่องหนัง เครื่องดื่ม  เครื่องประดับ เครื่องเขียน กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และยุคที่สาม เรียกว่า ”ประเทศไทย 3.0” เป็นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การผลิตและขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นนำมัน แยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่ไทยในยุค 1.0  2.0 และ 3.0 รายได้ประเทศยังอยู่ในระดับปานกลางอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรีบพัฒนาเศรษฐกิจสร้างประเทศ จึงเป็นเหตุให้นำไปสู่ยุคที่สี่ ให้รหัสใหม่ว่า   “ประเทศไทย 4.0” ให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) มีรายได้สูงโดยวางเป้าหมายให้เกิดภายใน 5-6 ปีนี้  คล้าย ๆ กับการวางภาพอนาคตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนของประเทศที่พัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา “A Nation of Makers” อังกฤษ “Design of Innovation”  อินเดีย “Made in India” หรือประเทศเกาหลีใต้ที่วางโมเดลเศรษฐกิจในชื่อ “Creative Economy” ประเทศไทย 4.0 เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”  โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม  และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ดังมีรายละเอียดดังนี้

ความมั่นคง: การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งสังคม ชุมชน ปัจเจกบุคคล และความมั่นคงในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ประเทศมีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย มีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง เป็นศูนย์กลางและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ดังนั้น ระบบการเมืองที่มั่นคง เป็นกลไกที่นำไปสู่การบริหารที่ต่อเนื่องและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล สังคมมีความปรองดองและความสามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนา องค์กรและชุมชนมีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ความมั่นคงของอาหาร พลังงานและน้ำ ให้มีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

ความมั่งคั่ง: ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถสร้างรายได้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ สร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต และเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมโยงในภูมิภาคทั้งการคมนาคมขนส่ง การผลิต การค้า การลงทุน มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เกิดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างมีพลัง ดังนั้น ความสมบูรณ์ในทุนที่จะสามารถสร้างการพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนทางการเงิน ทุนที่เป็นเครื่องมือเครื่องจักร ทุนทางสังคม และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน: การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ รายได้ และคุณภาพชีวิตให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เกินพอดี และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจนเกินความสามารถในการรองรับและเยียวยาของระบบนิเวศน์ การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกฎระเบียบของประชาคมโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน คนมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเอื้ออาทร เสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม  มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน      ในสังคมยึดถือและปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาในระดับอย่างสมดุลมีเสถียรภาพและยั่งยืน

  1. นวัตกรรม: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0
  2. Product Innovation ด้านการผลิต คือ เปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product) คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมของธุรกิจให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยได้มีการวิจัยพัฒนาคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นครั้งแรก และยังไม่มีมาก่อนในตลาด เช่น iPhone รุ่น 1 หรือ iPad รุ่น 1 ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในประเภทนี้ เราเรียกว่า “นวัตกรรม” นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ได้แก่ ทีวีที่ใช้เทคโนโลยีสูงหรือ High Definition TV (HDTV) ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ธุรกรรมการเงินธนาคารโดยผ่านทางโทรศัพท์ (telephone finance banking) นวัตกรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการจะยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างเข้มแข็ง ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน การปรับเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมสู่การทำนวัตกรรมเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ขณะนี้ การใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นเองในประเทศเพิ่งเริ่มต้น จึงต้องมีการเร่งกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และการบริหารจัดการภายใต้แนวคิดและรูปแบบใหม่ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและระดับท้องถิ่น โดยสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมจำนวนมากพอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีการร่วมมือร่วมใจ หรือมีส่วนร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการที่จะส่งเสริมด้านการผลิต ให้เป็นสินค้า เชิงนวัตกรรม การจะก้าวไปสู่จุดหมายนั้นได้ หลักการทางพระพุทธศาสนา เน้นให้มีการฝึกฝน อบรมตน พัฒนาตนให้มีปัญญา ที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา คือ การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ และทำให้มนุษย์ได้รู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามความ  เป็นจริง

  1. Service Innovation ด้านการบริการ คือ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการ เพราะการบริการ เป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการเสริมสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าให้เพิ่มขึ้น และยังทำให้องค์กรได้ประโยชน์ด้วย ในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีภาคบริการเป็นพื้นฐาน และไม่เพียงเท่านั้น ในทุกๆ ภาคส่วนของธุรกิจ ก็เน้นการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ด้วยคุณลักษณะด้านการบริการที่จะต้องโดดเด่นเหนือคู่แข่งของตนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) เป็นการนำเอาความคิดและแนวทางการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่ผ่านการคิดอย่างเป็นระบบ และเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้บริการ มาใช้เป็นแนวทางการสร้างการบริการที่แตกต่าง เพื่อมุ่งตอบสนองต่อความพึงพอใจของลูกค้า ที่มักจะอยากได้บริการที่เกินความคาดหวังเสมอ

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ เป็นการพัฒนาองค์รวมของการพัฒนาบุคคล (ID) เพื่อมุ่งสู่การผลิตสูงสุด คุณภาพ โอกาสและการเพิ่มพูนสูงสุด เพื่อทำให้องค์การเป้าหมาย (โกศล เพ็ชรวงศ์, 2543 : น. 33.)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีการพัฒนากาย การเจริญกาย การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น บริการด้วยความรวดเร็ว มั่นใจ นั่งอยู่ในใจของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจ พึงพอใจ ประทับใจ และมีเยื่อใยสัมพันธ์ พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ กายภาวนานี้ เป็นวิธีการพัฒนาบุคคลด้านพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา ที่เกี่ยวข้องกับสังคมให้บุคคลแสดงออกเฉพาะพฤติกรรมในด้านที่ดี ดังนั้น การพัฒนาบุคคล (ID Individual Development) ช่วยให้พนักงานเห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็งของตน เสริมจุดแข็งและพัฒนาจุดอ่อนโดยใช้ศักยภาพทั้งหมด เพื่อสร้างประสิทธิภาพองค์การ ขณะเดียวกันก็บรรลุเป้าหมายส่วนบุคคลด้วย เป็นการพัฒนาบุคคลที่เกิดจากการผ่านทักษะงานหลายตำแหน่ง เช่น ผู้วิเคราะห์ วางแผน สร้างโปรแกรม บรรยาย เป็นต้น เพื่อมุ่งพัฒนาความรู้ทัศนคติทักษะใหม่ ๆ และพฤติกรรมให้ดีขึ้น เพื่อที่จำทำให้ผลการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นและดีขึ้น อาจกระทำผ่านแผนงานที่เป็นทางการหรือไม่เป็น หรือการอบรมขณะปฏิบัติงานก็ได้

 3.Process Innovation ด้านกระบวนการ คือ เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เป็นการเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการผลิตสินค้าหรือการให้บริการในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม จะเห็นได้ว่านวัตกรรมขบวนการทางเทคโนโลยี (Technological process Innovation) : เป็นสินค้าทุนที่ถูกใช้ในขบวนการผลิต ซึ่งถูกปรับปรุงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ เป็นต้น นวัตกรรมขบวนการทางองค์กร (Organizational process Innovation) : เป็นขบวนการที่เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของการจัดการองค์กรให้สูงขึ้น ตัวอย่างของนวัตกรรมชนิดนี้ เช่น โรงพยาบาล Karolinska ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน สามารถลดเวลาในการรอตรวจรักษาของผู้ป่วยลงได้กว่า 75% โดยการจัดรูปแบบขององค์กรใหม่ ซึ่งเน้นหนักในด้าน คุณภาพ ความรวดเร็ว และประสิทธิภาพ

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีการพัฒนาจิต เพื่อให้เป็นผู้ที่มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีจิตใจที่สูงและมีอารมณ์มั่นคง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตใจเสียสละ และยินดีให้อภัยตามมโนสุจริต เป็นการพัฒนาจิตใจตามหลักของสมาธิ ที่เรียกว่า จิตภาวนา ตามหลักการทางพระพุทธศาสนาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนานวัตกรรมด้านกระบวนการ เป็นการการพัฒนาวิชาชีพ (CD Career Development) เน้นการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบความสนใจ ค่านิยม ความรู้ความสามารถ กิจกรรม และการมอบหมายงานให้บุคคลปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับการปฏิบัติงานในอนาคตการพัฒนาอาชีพนั้น ทั้งบุคลากรและองค์การต่างต้องมีกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติทั้ง 2 ฝ่าย ทางฝ่ายบุคลากรจะต้องมีการวางแผนอาชีพ ตระหนักในอาชีพตน        ใช้ประโยชน์จากศูนย์พัฒนาอาชีพในหน่วยงานตนให้มากที่สุด ส่วนกิจกรรมองค์การครอบคลุม ระบบให้คำปรึกษา จัด Workshop สัมมนา การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การประเมินผลการปฏิบัติงาน แผนงานเส้นทางอาชีพ

  1. Management Innovation ด้านการจัดการ คือ มีการจัดการด้านการตลาด การเงิน หรือองค์การเข้าไว้ด้วยกัน พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าของการเทคโนโลยี อาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมการจัดการ เป็นงานบริหารไม่ใช่สินค้าใหม่ แต่เป็นระบบการทำงานใหม่ วิธีการทำงานใหม่ การผสมผสานการทำงานใหม่ การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้รับการยอมรับ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคและกฎหมาย ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารองค์กรต้องรีบดำเนินการ คือ การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้บริหารจัดการและพัฒนาการทำงานให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคดิจิตัล (Digital) และยุคโลกาภิวัต (Globalization)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีการพัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ด้วยดี ที่เรียกว่า ศีลภาวนา ฉะนั้น องค์กรจะต้องยึดหลักกฎระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด มีการ  

พัฒนาองค์การ (OD Organization Development) อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาวิธีแก้ปัญหาองค์การด้วยวิธีการใหม่ ๆ และสร้างสรรค์โดยพยายามปรับโครงสร้าง วัฒนธรรม กระบวนการบริหารและกลยุทธ์ของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกันวิธีการแก้ปัญหาโดยปรับส่วนต่าง ๆ ให้กลมกลืนกัน สามารถทำให้องค์การปรับตัวได้ด้วยตนเอง และมองเห็นปัญหาและความอ่อนแอของตนเองแล้วนำมาแก้ไข

การเริ่มต้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มที่การพัฒนากายให้พร้อม และเรียบร้อยด้วยการมีศีลเป็นบาทฐานในการพัฒนา และเมื่อมีศีลบริบูรณ์แล้วก็เข้าสู่กระบวนการบำเพ็ญเพียรทางจิต ให้จิตมีพลัง มีความเข้มแข็ง สามารถที่เข้าสู่ขั้นตอนของการพัฒนาขั้นสุดท้าย นั่นคือ     การเจริญปัญญา โดยการใช้ปัญญาพิจารณาสภาพสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง เรียกให้เข้าใจก็คือ การไม่เผลอสตินั่นเอง การมีสติอยู่ทุกขณะนี่เองที่เรียกว่า ปัญญา (ที.ปา. (ไทย) 11/305/272). หลักธรรมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ คือ หลักภาวนา 4 นั้น สามารนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลักนวัตกรรมทั้ง 4 ประเภท ข้างต้นได้เป็นอย่างดีและมีความสอดคล้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นเหตุปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นพลวัตเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในองค์การได้เป็นอย่างดียิ่ง

           การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนานั้นต้องพัฒนาร่วมกันหลายอย่างเช่น การพัฒนากาย การพัฒนาจิต การพัฒนาปัญญา เข้าด้วยกันจึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่เน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการพัฒนา เป็นการทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เจริญขึ้น กล่าวคือ เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการนำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ ซึ่งมีผลอยู่เป็น 3 ระดับ คือ ระดับเบื้องต้น ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพัฒนาเป็นกัลยาณชน ระดับท่ามกลาง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพัฒนา  เป็นกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนผู้มีคุณธรรมสูง และระดับที่สุด ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพัฒนา เป็นอริยบุคคล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในทางพระพุทธศาสนามองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการบรรลุถึงการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ จนถึงขั้นเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดคือปัญญานั่นเอง เนื่องจากมนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพได้ และมีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ 

  1. บทสรุป

           การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการบริหารจัดการงานและจัดการคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มที่ตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถฝึกฝนพัฒนาได้ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงกันข้ามกับทฤษฎีตะวันตก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลักการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการพัฒนาปัญญา เป็นหลักการพัฒนามนุษย์ให้เกิดความรู้ตามความเป็นจริงในสองส่วน คือ ในส่วนที่เป็นวิชาชีพ จัดว่าเป็นปัญญาที่ใช้ในการประกอบอาชีพการงาน บุคคลต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญในอาชีพนั้น และในส่วนที่เป็นทางธรรม เป็นความรอบรู้ชีวิตและธรรมชาติที่แท้จริงจนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้หมดสิ้น การพัฒนามนุษย์ที่เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนามีหลักสุดท้ายอยู่ที่ปัญญา ที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ หรือบรรลุอิสรภาพที่แท้จริง ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงวางหลักการพัฒนาด้วยปัญญาไว้ก็เพื่อให้มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายอย่างแท้จริง หรือตามที่เป็นอยู่จริง ๆ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความคิดเห็น เปลี่ยนค่านิยม มีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ได้ ตลอดทั้งเป็นปัจจัยนำไปสู่การพ้นทุกข์คือหมดกิเลสได้ และการพัฒนาคนตามหลักพุทธศาสนาเป็นทั้งการพัฒนามนุษย์ โดยเน้นการสร้างเสริมคุณภาพของคน ที่จะมาเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของ ยุคสมัย และเป็นการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับจุดหมายระยะยาว แห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนามนุษย์เพื่อมาสนองความต้องการด้านทรัพยากรคนเฉพาะกาล เฉพาะกรณี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างสัมพันธ์ภาพของคนในองค์การ เพราะการที่จะทำให้องค์การมีผลประกอบการที่ดีขึ้น องค์การจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของบุคลากรในองค์การให้เหมาะสม และเมื่อบุคลากรได้รับการตอบสนองที่ดีก็จะเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทำให้องค์การเกิดภาวะอยู่ดีมีสุขทางสังคมขึ้น อันจะนำไปสู่คุณภาพและปริมาณงานที่ดีขึ้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเอื้ออำนวยให้องค์การบรรลุเป้าหมาย เพราะว่า งานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นงานที่มุ่งเลือกสรรคนดี  มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาทำงาน โดยมีการดำเนินการฝึกอบรม พัฒนาปรับปรุงให้พนักงานมีความรู้ ความสามรถ ทันสมัยต่อสภาพสังคม เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์การหรือที่เรียกว่า “ทุนมนุษย์” และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือล้มเลวในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ

สังคมปัจจุบันเป็นยุคที่เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทั้งด้านการผลิต มีสินค้าเชิงนวัตกรรม ด้านการบริการ เน้นภาคบริการที่เป็นเลิศ ด้านกระบวนการ มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ และด้านการจัดการ มีการจัดการด้านการตลาด การเงิน องค์การเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของการพัฒนาคน พัฒนาวิชาชีพ และพัฒนาองค์การ เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวคิดทฤษฎีตะวันตก แม้จะพัฒนาความเจริญได้อย่างมั่นคงเพียงใด แต่ในสังคมปัจจุบัน ก็ยังมีปัญหา มีความสับสนวุ่นวายอยู่มาก ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ปัญหาความรุนแรงทางอาชญากรรม ยาเสพติด เป็นต้น  เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มุ่งการพัฒนาแต่ทางวัตถุมากกว่าทางด้านจิตใจ แต่เมื่อได้นำเอาแนวคิดทฤษฎีตะวันตกมาบูรณาการกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เป็นองค์รวม คือ การพัฒนากาย พัฒนาจิต และพัฒนาปัญญาโดยนำเอาหลักภาวนา 4 คือ การทำให้เป็นให้มีขึ้นและการฝึกอบรม มาประยุกต์ใช้ในการบริหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเจริญมั่งคั่งให้กับประเทศชาติและสังคมโลก ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาโดยให้ทรัพยากรมนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักการทางพระพุทธศาสนาไปด้วย เพื่อขัดเกลาทางด้านจิตใจ จึงจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริงและมีความยั่งยืนในที่สุด

 

*ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช, E-mail: buddha_mcu16@hotmail.com

เนื้อหาโดย: Sirawat Kro0404
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Sirawat Kro0404's profile


โพสท์โดย: Sirawat Kro0404
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ฮามาสเสียใจหลังผู้นำอิหร่านตายแล้วรีวิวหนังสือ หมอเงินถาม หมอความตอบรู้หรือไม่ แมลงสาบนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิดส่อง 2 ไอเท็มล่าสุดของลิซ่ามิติใหม่!พระนั่งม้า - ขึ้นกระเช้าประน้ำมนต์ โยมวิ่งมินิมาราธอน ร่วมสร้างโบสถ์
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"โจวเหวินฟะ" ออกกำลังมากเกินไป..ทำเอาแฟนๆ อดห่วงไม่ได้จังหวัดที่มีปริมาณผลผลิตลำไย มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย8 ท่าออกกำลังกาย ช่วยหน้าอกกระชับซื้อกิน VS ทําอาหารกินเอง อันไหนประหยัดเงินมากกว่ากัน ?
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
เงินเดือนพนักงานบิ๊กซี (Big C) ปี 2567 (ตำแหน่งไหนรุ่ง ตำแหน่งไหนร่วง) รวมข้อมูลวงในที่ HR ไม่บอก!เปิดเซเว่นต้องใช้เงินเท่าไหร่? (2024) ฉบับคนอยากรวย! เผยทุกขั้นตอนแบบละเอียด!วิธีทำให้คนติดตามช่อง Tiktok มากขึ้นทำไง?รู้หรือไม่ แมลงสาบนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
ตั้งกระทู้ใหม่