เปิดประวัติวัดแขกสีลม
นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ช่วงวันวันวิชัยทัสมิ विजयादशमी หรือ ดุสเสห์รา दशहरा วันสำคัญของชาวฮินดู ลัทธิศักติ ที่จะได้ร่วมแห่เทวรูปเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและสดุดีเทวีมหิษาสุรมรรทินีที่สามารถปราบมหิงษาสูรหรืออสูรควายได้สำเร็จ หาพูดถึงการแห่เทวรูปเพื่อเฉลิมฉลองในประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นงานแห่เทวะรูปของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม ซึ่งจัดได้อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติในทุก ๆ ปี แต่กว่าจะมาเป็นวัดแขกสีลมที่เรา ๆ รู้จักกันทุกวันนี้ กว่าจะข้ามน้ำข้ามทะเลจากรัฐทมินาฑูมาสร้างวัดแขกสีลมได้ จะมีที่มาที่เป็นอย่างไร เรามาดูกันเลย
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนามของ วัดแขกสีลม เป็นเทวะสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิศักติ ที่ชาวทมิฬจากอนุทวีปอินเดีย ซึ่งอพยพหนีการรุกรานของชาติตะวันตกที่เข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชีย เข้ามายังประเทศสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้สร้างขึ้น โดยมีชื่อเรียกในภาษาทมิฬว่า அருள்மிகு ஶ்ரீ மஹாமாரி அம்மன் கோவில் (อรุลมิกุ ศรี มหามาริอัมมัน โกวิล) มีความหมายว่า เทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระแม่มริอัมมันผู้ยิ่งใหญ่
พระแม่มริอัมมันประดิษฐานเป็นประธาน อยู่ด้านหลังเทวรูปพระแม่ปารวตี
เพราะภายในวัดแห่งนี้มีพระแม่มริอัมมันที่ชาวทมิฬส่วนใหญ่นับถือประดิษฐานเป็นองค์ประธานของวัด
พระแม่มริอัมมัน மாரியம்மன் เป็นเทวีแห่งฝนในศาสนาฮินดู คำว่า มริ மாரி (மழை) มาจากภาษาของสังฆัมทมิฬ แปลว่า ฝน ส่วน อัมมัน அம்மன் เป็นคำทมิฬ แปลว่า มารดา จึงหมายถึง เจ้าแม่แห่งฝน เป็นที่เคารพบูชาอย่างมากในรัฐทมิฬนาฑูของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในเมืองมธุรา ตั้งแต่อดีตชาวทมิฬโบราณนับถือบูชาพระองค์ในฐานะเทวีผู้นำมาซึ่งฝนและความเจริญอุดมสมบูรณ์ การบูชาพระแม่มริอัมมันจึงมักกระทำเพื่อการขอฝน และยังมีความเชื่อในการบูชาเพื่อขอให้หายจากโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคบิดและฝีดาษ คติการบูชาเทวีนี้ได้รับการมองว่าเป็นวัฒนธรรมบูชาสตรีเพศ ตามหลักลัทธิศักติ เทวสถานของพระแม่มริอัมมันในยุคสังฆัม โดยเฉพาะในมธุรา รัฐทมิฬนาฑู จึงมักจะปรากฏแต่เทวะรูปของพระแม่มริอัมมันและเทวีองค์อื่น ๆ ในลัทธิศักติ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับพระแม่ปารวตี พระแม่กาลี และ พระแม่ทุรคา
พระแม่ศีตลา
และพระแม่มริอัมมันนี้ ยังเทียบเท่ากับพระแม่ศีตลา शीतला มหาเทวีผู้ปัดเป่าโรคภัยในคติของอินเดียเหนือ
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียที่อพยพเข้ามายังประเทศสยามในขณะนั้น นำโดยนายไวตรี ประเดียอะจิ พ่อค้าวัว ต้นตระกูลไวตี และญาติพี่น้องที่อยู่อาศัยในย่านตำบลหัวลำโพง อำเภอบางรัก และตำบลริมคลองสีลม อำเภอบางรัก แต่เดิมมีลักษณะเป็นศาลาขนาดเล็กมีชื่อว่า ศาลาศรีมริอัมมัน ตั้งอยู่ใต้ต้นสะเดาในไร่อ้อยริมคลองสีลม แถววัดวัวลำพองหรือหัวลำโพงในปัจจุบันนี้
ต่อมาคณะกรรมการผู้ก่อตั้งวัดอาทิ นายไวตรี ประเดียอะจิ นายนารายเจติ นายโกบาระตี ได้ทำการจัดหาที่ดินเพื่อที่จะเป็นเทวสถานถาวร โดยได้มีการขอแลกที่ดินของพวกตนกับที่ดินสวนผักริมคลองสีลมของนางอุปการโกษากร (ปั้น วัชราภัย) มรรคนายิกาวัดสุทธิวราราม ภรรยาหลวงอุปการโกษากร (เวก หรือ เวท วัชราภัย) ปัจจุบันคือตำแหน่งหัวมุมถนนปั้นด้านที่ตัดกับถนนสีลม หรือบริเวณวัดแขกสีลมในปัจจุบัน ด้วยความศรัทธาและต้องการสร้างศาสนสถานถาวร สำหรับประกอบศาสนพิธี จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เริ่มสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ตามลัทธิศักติของศาสนาฮินดู มีการสร้างโบสถ์ครอบรูปปั้นองค์พระแม่มริอัมมันและได้นำเทวรูปพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานเคียงคู่กัน สร้างแล้วเสร็จราว พ.ศ.๒๔๕๔ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ วัดพระศรีมหามรีอัมมัน เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
สถาปัตยกรรมภายในวัดเป็นแบบอินเดียใต้อันสืบเนื่องจากสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โจฬะและราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในเทวาลัยที่ทมิฬนาฑู
จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัด ได้แก่ โคปุระหรือซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ประดับรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ ของศาสนาฮินดูบนซุ้มและมุมเครื่องยอด ทาสีสันสวยงาม เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว จะพบกับโบสถ์ประธาน
ภายในโบสถ์ประธานประดิษฐานเทวรูปสำคัญ ๓ องค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันทกุมาร และพระพิฆเนศวร
เดิมวัดพระศรีมหาอุมาเทวีแห่งนี้เป็นสถานที่จำเพาะสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้เปิดต้อนรับผู้สัญจรทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนาให้สามารถเข้าไปศักการะพระแม่มริอัมมัน เทวะและเทวีในศาสนาฮินดูได้ แต่ก็มีข้อกำจัดบางประการตามหลักศาสนาฮินดู เช่น ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าวัด และสตรีในระหว่างมีรอบเดือนควรงดเว้นการเดินทางมาที่วัด เป็นต้น
ในวัดพระศีมหาอุมาเทวีแห่งนี้ยังคงมีพราหมณ์ผู้รู้พระเวททำพิธีประจำ พราหมณ์จะสวดมนต์สรรเสริญพระเป็นเจ้าในช่วงเช้า กลางวัน เย็น และหัวค่ำเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีกรรมบูชาในศาสนาฮินดูตลอดทั้งปี
โดยไฮไลของทุกปีคือ เทศกาลนวราตรี เทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ ๑ - ๙ ของเดือนอัศวิน ของปฏิทินฮินดู หรือช่วง ขึ้น ๑ – ๙ ค่ำเดือน ๑๑ (ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม) ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อรฦกถึงและสดุดีมหาวีระกรรมอันยิ่งใหญ่ของมหาเทวีผู้มีนามว่า มหิษาสุรมรรทินี महिषासुरमर्दिनी หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนามของ ทุรคา दुर्गा เทวีผู้อวตารจากพลังแห่งเทวีศักติเพื่อมาปราบมหิงษาสรู หรืออสูรควาย และในวันที่ ๑๐ ของเดือนอัศวิน เรียกว่า วันวิชัยทัสมิ विजयादशमी หรือ ดุสเสห์รา दशहरा จะมีการนำเทวะรูปพระเทวีในลัทธิศักติ และองค์เทพต่าง ๆ ในศาสนาฮินดู ออกแห่ให้ประชาชนได้สักการะ
ส่วนสาเหตุที่เรียกชื่อวัดด้วยนามว่า ศรีมหาอุมาเทวี ไม่เรียกด้วยพระนาม มริอัมมัน นั่นก็ด้วยคนไทยเข้าใจกันว่าเทวีทุกองค์ในฮินดูย่อมเป็นภาคอวตารของเทวีปารวตี หรืออีกนามหนึ่งเรียกว่า อุมา หากแต่พระนาม อุมาเทวี เป็นคำที่เรียกได้ง่ายกว่า จึงนิยมกล่าวพระนามว่า พระอุมาเทวี มากกว่าพระนามอื่น ๆ คนไทยจึงเรียกเทวะสถานของพระแม่มริอัมมันแห่งนี้ว่า วัดพระศรีอุมาเทวี หรือ วัดพระแม่อุมา หรือ วัดแขกสีลม จวบจนทุกวันนี้
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๒ ซอยถนนปั้น มุมถนนปั้นตัดกับถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ผู้ที่สนใจจะเข้ามาสักการะพระเทวีมริอัมมัน เทวีตรีศักติ หรือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู สามารถเดินทางมาได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว ขนส่งสาธารณะ
สถานีรถไฟฟ้า BTS : ลงสถานีสุรศักดิ์ เดินต่อมาอีก 600 เมตร, ลงสถานีช่องนนทรี เดินต่อมาอีก 700 เมตร
รถไฟฟ้า MRT : ลงสถานีสีลม ทางออก 2 เดินต่อมาอีก 1.6 กิโลเมตร
รถประจำทาง : สาย 15, 77, 115, 163, 164, 504