หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

บทความวิชาการ ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ เรื่อง พุทธเศรษฐศาสตร์: หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โพสท์โดย Sirawat Kro0404

พุทธเศรษฐศาสตร์: หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน[1]

Buddhist Economics: principles of Economics, politics and sustainable Economic development

ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ* พระครูสมุห์ชินวรวัตร ถิรภทฺโท,ดร.* พระครูปลัดเถรานุวัตร สุเทวเมธี, ดร.**

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอหลักพุทธเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบบริหารราชการแบบใหม่ อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุนทางเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดถึงยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อสร้างความปรองดองในสังคม การสร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเข้าถึงบริการทางสังคมของรัฐอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเป็นธรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืนตามหลักพระพุทธศาสนานั้น มีหลักกูฏทันตสูตร ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่นำเอาหลักรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มาสู่การพัฒนาอย่างแยบยล ด้วยการยึดเอาหลักยุทธศาสตร์การปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขของพระเจ้ามหาวิชิตราชตามหลักการบริหารที่พระราชทานพันธุ์พืช พระราชทานต้นทุน พระราชทานอาหาร และเงินเดือนแก่ราชการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนมีความชื่นชมยินดีต่อกัน อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน รัฐบาลก็จะได้รับผลย้อนกลับคืนมาในรูปแบบที่ประชาชนจะมีความขยันไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนมีความสามัคคี และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

คำสำคัญ: พุทธเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ

 

Abstract

This article aims to present the main Buddhist economics politics to economic development. The new administrative system and the strengthening of the economic capital. Increase the performance and potential of its economy and infrastructure development strategy to create fairness, reducing inequality in society in order to create greater harmony in society. To provide opportunities for everyone in society, Thailand can access funding resources in the profession to raise revenue and economic foundations. Access to the State's social services, quality and fairness.

Economic, political reforms for sustainable principles. The dental formula, which is the principle that kut tactical master in economics, political science, bringing science and technology to the development of their core strategies taken by parents to the home city is joy of the Lord Maha vichit South by the Royal administration, principle, Royal flora Kross.Cost of food and the Royal Government sanction, which the result is political. There are no thorns, no Burr, Toms. People rejoice. Without closing the door of the House, the Government would get in return, disclosing in a format that the public must be willing. Not as a stealth robber theft keep taxation more social peace. Citizens have the unity and security of life and property.

Keywords: Buddhist Economics, Economics politics, Economic Development 

  1. 1. บทนำ

          ปัจจุบันเป็นสังคมยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อน กระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องเผชิญ เนื่องจากปัจจัยที่เกิดจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม และความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป และในปัจจุบัน “ประชาคมอาเซียน (Association of South East Asian Nations : ASEAN)” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคมไทย มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยที่หน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างแข็งขัน โดยกำหนดนโยบายการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผลของวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2553 ทำให้เชื่อว่า จะทำลายอำนาจนำและความชอบธรรมของแนวนโยบายเสรีนิยม ตลอดจนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรระบวนทัศน์ทางลัทธิอุดมการณ์ความเชื่อที่เคยเป็นลัทธิที่มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย[2] (เกษียณ เตชะพีระ, 2555, น.167-169)

           แนวคิดพุทธเศรษฐศาสตร์นั้น สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิค ซึ่งเน้นการบริโภคเพื่อความพึงพอใจสูงสุด นำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม และการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงมีการเสนอแนวคิดทางเลือก ซึ่งมีรากฐานอยู่บนจริยธรรม มุ่งเน้นการบริโภคแบบพอดี เพื่อความสุขสูงสุด มีการควบคุมตนเองให้เป็นอิสระปลอดโปร่งจากอำนาจของกิเลส และสามารถข่มตนเอง ข่มใจ ให้เกิดปัญญาในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่ารู้จักทุกข์ รู้เท่าทันทุกข์และมีความสุขตามอัตภาพ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2541, น.78)[3]

จะเห็นได้ว่า ในหลายทศวรรษขณะที่ทั่วโลกต่างประสบวิกฤตการณ์จากการมุ่งพัฒนาตามเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างไม่ลืมหูลืมตา ยังผลให้เกิดความลักลั่นในโครงสร้างทางสังคม การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ตลอดจนความล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์เกี่ยวกับทฤษฎี หรือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสภาพสังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดของจากประเทศฝั่งตะวันตก โดยนักวิชาการหลายท่านได้เล็งเห็นความผิดพลาดและความลักลั่นอันเกิดจากการนำแนวคิดแบบตะวันตกมาใช้โดยไม่มีการประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานแนวคิดและวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคม ในการนี้นักวิชาการหลายท่าน ได้เสนอทางออกให้กับการพัฒนาประเทศขึ้นใหม่โดยกลับมาพิจารณาและดำเนินการตามแนวคิดแบบ “พุทธศาสนา” ซึ่งเป็นแนวคิดและวิถีปฏิบัติดั้งเดิมของสังคมไทย เพื่อนำสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศอย่างยั่งยืน

 

  1. ประชาคมเศรษฐกิจ

             ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่ง สามารถสร้างโอกาสและรับมือกับสิ่งท้าทาย ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยสมาชิกในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และสมาชิกในชุมชนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน (ประภัสสร์ เทพชาตรี 2554 : 29-70)[4] ซึ่งประชาคมอาเซียนประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา ได้แก่

  1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน เช่น การเคารพในเอกราชและอธิปไตยของกันและกัน หลักการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศอื่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี การไม่ขู่หรือใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย และภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
  2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community–AEC) การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ตลาดร่วมอาเซียน โดยมีองค์ประกอบ คือ การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้าบริการ การลงทุน แรงงานมีฝีมือ และสำหรับการเปิดเสรีทางการค้านั้น จะเน้นการลดภาษีลงให้เหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ และการขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน
  3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) สำหรับการเป็นประชาสังคมและวัฒนธรรม มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและก่อให้เกิดเอกภาพ โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น

ประชาคมเศรษฐกิจ 

  1. เศรษฐศาสตร์การเมืองตามแนวพระพุทธศาสนา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น ตรงกับหลักกูฏทันตสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิด วิธีการจัดการกับปัญหา และที่สำคัญคือ รูปแบบการปกครองพิเศษในสมัยพุทธกาล ที่เรียกว่า พรหมไทย หมายความว่า พระราชาทรงมอบรางวัลพิเศษให้ หรือของอันพรหมประทาน ของให้ที่ประเสริฐสุด หมายถึง ที่ดิน หรือบ้านที่พระราชทานบำเหน็จให้ ได้แก่ หมู่บ้านขาณุมัต เป็นการแยกปกครองอิสระต่างหากจากแคว้นมคธ โดยพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานปูนบำเหน็จให้ เรียกได้ว่า เป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) ซึ่งรัฐบาลกลางได้มอบให้ไปจัดการหรือดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในท้องถิ่นด้วยตนเอง (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: น.89-90)[5]

 

พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอตัวอย่างของการแก้ปัญหาปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอสาเหตุของตัวสาเหตุที่แท้จริง ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนเอาไว้ใน “กูฏทันตสูตร” ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำมาเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ (Best Practice) เพื่อจะได้ถอดบทเรียนสำคัญในการแก้วิกฤติการณ์ทางสังคมที่สัมพันธ์กับการ เมือง และเศรษฐกิจ และตอบคำถามที่ว่า ในพระสูตรดังกล่าวนี้ ได้นำเสนอหลักการที่ว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” เอาไว้อย่างไร ผลจากการศึกษา พบว่า กูฏทันตสูตร เป็นการนำเสนอแนวทางการปฏิวัติแนวทางคิดทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดทางการเมืองแบบ ธรรมาธิปไตย

           พุทธเศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ถือว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของ “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในแง่มุมหรือมิติของความหมายต่อความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจมากขึ้น เป็นเศรษฐศาสตร์ที่พิจารณาถึงความรู้สึก ความเอื้ออาทรของมนุษย์ต่อผู้อื่นด้วยจิตใจที่มี โลกทัศน์เปิดกว้างและเห็นความจริงแท้มากยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักละเลยความหลากหลายของมนุษย์ เพราะมนุษย์มิได้เหมือนกันหมดตามข้อสมมติฐานที่เศรษฐศาสตร์ตั้งเอาไว้ และด้วยฐานความคิดและมุมมองความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่าง “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” และ “พุทธเศรษฐศาสตร์” นี้เอง ส่งผลให้คำนิยามของ “เศรษฐศาสตร์” ในกรอบแนวคิดของพุทธเศรษฐศาสตร์แตกต่างจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไป

เป้าหมายหลักของปรัชญาพุทธ คือ ต้องการให้มนุษย์มองลงไปในความหมาย อันลึกล้ำของการดำรงชีวิตอยู่ต้องการให้เรารู้จุดมุ่งหมายของชีวิตและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หลักใหญ่ในการจัดการเศรษฐกิจแบบพุทธไม่ใช่ “การบรรลุความพึงพอใจของมนุษย์” เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธเลือก “ความสุขของมนุษย์” มากกว่าเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยหลักสัมมาอาชีวะ จึงย่อมหมายความรวมถึงผลที่เกิดขึ้นในทางที่เกื้อกูลต่อมนุษย์และสังคม ในทางตรงกันข้ามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพ่งเล็งไปที่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งและ  มีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างความพอใจสูงสุด ด้วยการผลิตให้มากที่สุดต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและผลกำไรสูงที่สุดตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งเสีย   ในลักษณะที่สุดโต่ง (extreme point) ผลลัพธ์โดยรวมจึงเท่ากับศูนย์ แต่หากเปลี่ยนจุดเน้นจากผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักมาเป็นการเน้นการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การแบ่งส่วนผลประโยชน์ในลักษณะที่ทุกฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ (win-win situation) ก็เป็นไปได้ และกลับเป็นจุดสมดุลหรือจุดที่ดีที่สุดของสังคม (optimization) เพราะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง สามารถนำไปสู่ความสุขสงบหรือสันติสุขอย่างยั่งยืน

          พุทธเศรษฐศาสตร์เน้นปัญญาเป็นปัจจัยการผลิตหลัก และถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในกระบวนการผลิต หรือเป็นวิถีการผลิต (mode of production) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของพุทธเศรษฐศาสตร์เป็น ระบบทุนนิยม ที่เน้นทุนเป็นปัจจัยการผลิตหลัก หากพิจารณาเฉพาะพลังสมองที่ไม่มีส่วนประกอบของปัญญานั้น มนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ในฐานะทุนมนุษย์ รวมกับทุนกายภาพ และทุนสังคม (social capital) ดังนั้น พุทธเศรษฐศาสตร์ จึงชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่แท้จริงของ “การบริโภค” ว่าไม่อาจนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ แม้ว่าการบริโภคจะมีความสำคัญช่วยบำบัดความต้องการที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยร่างการแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์ ดังนั้น ความเข้าใจว่าการบริโภคสามารถนำไปสู่ความสุขหรือทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ส่วนประสิทธิภาพการบริโภคในทางพุทธเศรษฐศาสตร์ จึงไม่ได้มีจุดเริ่มที่ความพึงพอใจ แต่เป็นการบริโภคด้วยปัญญา เพื่อมุ่งตอบสนองคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และความจำเป็นในขั้นที่สูงกว่าตามลำดับขั้นอันจะนำสู่เป้าหมายสูงสุด คือการมีความสุขโดยปราศจากทุกข์ หรือการบรรลุสภาวะนิพพาน ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือสายกลางนั่นเอง

            เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มีลักษณะที่สำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

           1) เป็นศาสตร์สายกลางหรือเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล สมดุลในแง่หนึ่งก็คือการบริโภค เพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการ จะทำให้เกิดความพอดี ส่วนเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน เป็นการบริโภคที่ตอบสนองความต้องการไม่รู้จบ เพราะมีความต้องการไม่จำกัด แต่ทางพระพุทธศาสนา จะมีหลักของความพอ มีปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องในพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความพึงพอใจ

           2) เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มีลักษณะที่สำคัญที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง    เป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ไปด้วยในตัว ไม่ว่าการบริโภค การตลาด การแลกเปลี่ยน การค้าขายด้วยเงินตรา โดยภาพรวมกิจการในการดำเนินชีวิต ทุกอย่างในภาพรวมของมนุษย์ในด้านวัตถุ ที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต

              จะเห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีส่วนส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีโอกาสและความพร้อมมากยิ่งขึ้น ในการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐที่ชีวิตจะพึงได้รับยิ่ง ๆ ขึ้นไป

           หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ตรงกับหลักกูฏทันตสูตร (พระภาวนาวิริยคุณ, 2547: 1-3)[6] ซึ่งเป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้ากับกูฏทันตพราหมณ์ โดยกูฏทันตพราหมณ์เข้าไปเฝ้า เพื่อทูลขอคำอธิบายจากพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายยกตัวอย่างรูปแบบการบริหารบ้านเมืองของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งประสบความสำเร็จในการปกครองบ้านเมือง จนพสกนิกรมีความร่มเย็นเป็นสุข เนื้อหาในพระสูตรมีกลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ทั้งในระดับล่างและระดับบน เป็นการมุ่งเป้าปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนและเพื่อขจัดความยากจนของแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าไปที่ประชากร 3 กลุ่มระดับล่าง คือ

  1. กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา ผู้ทำการเกษตรและกสิกรรม
  2. กลุ่มพ่อค้าย่อย ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายในระดับล่าง
  3. กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้รับจ้างในวงราชการ

           จากการทำตามคำแนะนำดังกล่าว ทำให้ประชาชนต่างขวนขวายในกิจการงานของตนมากขึ้น ไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อย ไม่มีการเบียดเบียนกัน และภาษีอากรเข้าพระคลังมากขึ้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ระดับบน คือ การแสวงหาการมีส่วนร่วมของกลุ่มอิทธิพล 4 กลุ่มใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งในยุคนั้นได้กล่าวถึงบรรดาเจ้าผู้ครองนครเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราช บรรดาอำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่ พวกพราหมณ์มหาศาล และพวกคหบดีมหาศาล ถ้าหากจะประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับบ้านเมืองในปัจจุบัน น่าจะเทียบได้กับกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง 4 กลุ่มในระดับบน คือ

  1. กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ กลุ่มนักการเมืองระดับชาติที่เป็นตัวแทนประชาชนในแต่ละท้องถิ่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองในทุกระดับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจปัญหาสำคัญและอนาคตของบ้านเมือง
  2. กลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนในระดับสูง ตั้งแต่ระดับกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่า เสนาธิการ ผู้ว่าการ และผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ
  3. กลุ่มผู้นำทางความคิด นักวิชาการใหญ่ สื่อมวลชนใหญ่ ในอดีตคือกลุ่มพราหมณ์มหาศาล ปัจจุบันเป็นสถาบันทางความคิดที่มีบทบาทถ่วงดุลอำนาจรัฐ ชี้นำประชาชน ได้แก่ กลุ่มนักวิชาการ นักคิดในสังคม ปัจจุบันนิยมเรียกว่า NGO (Non-Government Organization)
  4. 4. กลุ่มพ่อค้าคหบดีใหญ่ ซึ่งทุกยุคทุกสมัยจะมีพ่อค้าที่ทรงอิทธิพล เพราะมีทรัพย์มหาศาล มีอำนาจ มีบริวาร กลายเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดินที่จะมองข้ามไปมิได้ จะต้องได้รับความร่วมมือด้วย

           จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ทางรัฐศาสตร์ในการปกครองประเทศยุคพระเจ้ามหาวิชิตราช ถือเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงเจตคติ แนวคิดของการปกครองแบบธรรมรัฐ ที่ปัจจุบันเขียนเป็นทฤษฎีใหม่ของตะวันตกที่เรียกว่า “Good Governance” นั่นคือ การบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ จะต้องประกอบด้วย หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักรัฐศาสตร์เชิงเศรษฐศาสตร์ หรือในปัจจุบันเรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีการปฏิรูปมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย

           พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชทรัพย์มหาศาล ทรงมีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงประสงค์จะทำพิธีบูชายัญ เพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองและอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งพราหมณ์ปุโรหิตได้ถวายวิธีที่จะกำจัดเสี้ยนหนาม คือ โจร ต้องอาศัยวิธีการ (พระภาวนาวิริยคุณ, 2547: 28-29) ต่อไปนี้

  1. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมือง ผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์
  2. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ในบ้านเมืองของพระองค์
  3. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็ง ในบ้านเมืองของพระองค์

           จะเห็นได้ว่า เมื่อทำได้ทั้ง 3 ประการนี้แล้ว พลเมืองเหล่านั้น จักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนการฆ่าสัตว์บูชายัญให้เป็นสังคมเคราะห์อย่างแท้จริง

           ยุทธศาสตร์แห่งการเอาชนะใจกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางบ้านเมืองทั้ง 4 กลุ่ม คือ เจ้าผู้ครองนคร อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล และคหบดีผู้มั่งคั่ง ถือเป็นการสร้างต้นแบบให้เกิดความร่วมใจเห็นอุดมการณ์ของบ้านเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ยากไร้แต่ละคนต้องช่วยตนเองให้ได้ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถให้เต็มที่ หนีความยากจน ด้วยวิธีการกระจายความมั่งคั่งสู่บุคคลระดับล่าง เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้มีทรัพย์ ผู้มั่งคั่งสู่บุคคลระดับล่าง กับกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน เรียกว่า เป็นการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับหลัก รัฐประศาสนศาสตร์ยุคใหม่ ที่วางยุทธศาสตร์ในเชิงรุก แทนที่การตั้งรับ มิรอให้ประชาชนเดือดร้อนก่อนแล้วยกขบวนมาร้องต่อบ้านเมือง เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ และปรับเจตคติคนทั้งเมือง เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยใช้หลักรัฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่ปฏิรูปตั้งแต่ความคิดของผู้นำแผ่นดิน คือ กษัตริย์ ไปจนถึงบรรดาเจ้าผู้ครองเมือง อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล และผลของการปฏิรูป ทำให้เกิดความกินดีอยู่ดีกับประชาชนส่วนใหญ่ระดับล่าง คือ เกษตรกร ข้าราชการชั้นผู้น้อย พ่อค้าวาณิช และคนทำมาหากินสุจริตทั่วแผ่นเดิน แม้พระเจ้ามหาวิชิตราช จะทรงเป็นมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ ก็ต้องได้รับการรับรองจากเสนาอำมาตย์ก่อน จะเห็นได้ว่า พราหมณ์ปุโรหิต เป็นเสมือนองคมนตรี เจ้าพิธีกรรม เสนาธิการในคน ๆ เดียว มีสิทธิ์ในการเสนอความคิดเห็นโดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทุกมิติ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic Rights or Fundamental Rights) และสิทธิของพลเมือง ทั้งนี้ พระองค์ทรงให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) และกิจกรรมของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดัน หรือโน้มน้าวให้รัฐบาลผู้นำ ผู้กำกับนโยบาย ผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพลต่อทุกกระบวนการทางการเมือง การปกครอง มีความเห็นหรือตัดสินใจ (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: 93)[7] 

  1. วิเคราะห์กูฏทันตสูตร สูตรว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

           ในกูฏทันตสูตรนี้ จะเห็นว่า การเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพราหมณ์ปุโรหิต ได้เสนอวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยปฏิวัติความคิดที่จะทำลายล้างอาชญากร มาเป็นการส่งเสริมอาชีพหรือที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) โดยชี้ให้เห็นถึงความผูกพันกันอย่างชัดเจน ระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ ด้านการเมือง เมื่อผู้นำต้องการให้เกิดความผาสุกหรือการกินดีอยู่ดีของปวงชน ต้องวางนโยบายคือกำหนดทิศทางโดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ด้านเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช่เป้าหมายอันสูงสุดแต่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนมิใช่น้อยที่จะผลักดันคนให้ก้าวเดินต่อไป และด้านสังคม จากผลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้ว ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ เช่น การลักขโมย ปล้นชิงทรัพย์ คนเกียจคร้านซึ่งเป็นภาระสังคม เป็นต้น ก็ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยดีสงบสุข ไม่ต้องหวาดระแวงภัยต่าง ๆ ความสัมพันธ์ของคน ในครอบครัวและสังคม กลับมาดีอีกครั้ง ประชาชนหันมาขวนขวายในการงานของตน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของตน และยังสร้างค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้น กลายเป็นสังคมที่ยกย่องคนขยันและคนดีที่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ การยกเลิกการฆ่าสัตว์และการบังคับแรงงานให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการนั้น ยังเป็นการไม่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของทุกชีวิต ซึ่งทุกชีวิตย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ และรักตน ยิ่งกว่าผู้ใด ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น เพราะความไม่เบียดเบียนทำให้เกิดสุข เมื่อยกเลิกการกระทำที่เป็นการเบียดเบียนย่อมนำสันติสุขกลับคืนสู่สังคมได้ (ศันสนีย์ ชุมพลบัญชร, 2559: 149)[8]

           การดำเนินนโยบายตามหลักการข้างต้น ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และรัฐบาลที่จะได้รับผลกลับย้อนคืนมาในรูปแบบอื่น ๆ อีก กล่าวคือ ประชาชนจะขยัน (อุตสาหกรรม) ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชน   จะมีความสามัคคี ครอบครัวจะไม่แตกแยก อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปฏิรูปแนวคิดตามหลักกูฏทันตสูตร ส่งผลให้เกิดแนวคิดการบูชายัญตามแบบพุทธขึ้นมา เพราะเป็นแบบพราหมณ์ ย่อมเคารพนับถือปฏิบัติตามพิธีกรรม ประเพณีและความเชื่อแบบศาสนาพรหมณ์ เช่น การบวงสรวงยัญพิธีกรรม การเคารพอ้อนวอนเทพเจ้า ส่วนผู้นำที่เป็นธรรม ราชาแนวพระพุทธศาสนาย่อมปฏิบัติตน       ในหลักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: 100)

ในกูฏทันตสูตรนี้ทำให้ได้ทราบหลักพุทโธบายทางการสื่อสาร โดยทรงใช้กลยุทธ์การโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาคิดใหม่ ทำใหม่ จากวัฒนธรรมดั่งเดิมที่นิยมการฆ่าเพื่อบูชายัญ มาเป็นการให้ชีวิตเพื่อบูชายัญ จากการนำชีวิตสัตว์มาบูชายัญกลายเป็นพืชผักธัญญาหารมาบูชายัญแทน ส่งผลให้ระบบความคิดเรื่องการบูชายัญของกูฏทันตพราหมณ์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีงามและก้าวพ้นกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องจบ กูฏทันตพราหมณ์ได้ทูลถามถึงยัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อยแต่ให้ผลมากกว่ามหายัญว่ามีหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า มี โดยเริ่มตั้งแต่นิตยทาน ทานที่ทำสืบต่อกันมา มีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับจนถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บรรลุพระอรหันต์ ปริโยสาเณ ครั้นในเวลาจบพระธรรมเทศนา กูฏทันตพราหมณ์ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย พร้อมประกาศปล่อยชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ให้เป็นไทตามพุทธมติ จนเกิดผลที่ดีตามมาอีกหลายประการ คือ

 การเข้าใจถึงที่มาที่ไปและความหมายของการบูชายัญ

  1. วิธีการบูชายัญที่แท้จริงคือการส่งเสริมอาชีพของผู้ใต้ปกครอง
  2. การไม่ต้องบูชายัญด้วยเลือดเนื้อชีวิตของสัตว์ทั้งหลายอีกต่อไป

           การบริหารจัดการเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช ที่ปรากฏในกูฏทันตสูตรนับได้ว่า มีความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่นอกจากจะเกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเกิดการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการพัฒนามนุษย์ ทั้งด้านพฤติกรรมและจิตใจให้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังศีลธรรมอันดีงาม ทำให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา กูฏทันตสูตรนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนระบบการจัดการพัฒนาในระบเศรษฐกิจ

การนำหลักการทางพระพุทธศาสนาและเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน ก็เสมือนกับการทำความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกันถึงลักษณะที่เป็นการทดลอง นำเสนอความคิดตามหลักพุทธธรรม มาประยุกต์ได้กับลักษณะทั่วไปของวิชาเศรษฐศาสตร์ เช่น การเน้นการพึ่งตนเอง การเน้นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท การเน้นอหิงสา หรือการเน้นจากการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง การเน้นการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์ สุจริต และมีมานะอดทน หรือสัมมาอาชีวะ การเน้นการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความพยายามละกิเลสและความโลภ และการเน้นความซื่อสัตย์ สุจริต มีความละอายและเกรงกลัวการกระทำผิด[9] (อภิชัย พันธเสน, 2544, น.716-748) โดยพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นชุด ขององค์ความรู้ที่เน้นการอธิบายว่าสามารถนำประเด็นสำคัญในพุทธธรรมเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยรวม

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงยึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย คือ การชนะทางด้านจิตใจ เป็นชัยชนะอันสูงสุด เป็นชัยชนะแห่งธรรมซึ่งเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้าอย่างแท้จริง ที่สามารถเข้าถึงวิถีแห่งสันติ อหิงสา ขันติธรรม และความสงบสุข โดยที่พระองค์ทรงบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบายธรรมวิชัย ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยเต็มที่แต่เอนไปทางด้านปิตาธิปไตย คือ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ประดุจพ่อปกครองลูก หรือทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ สวัสดิการสังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การจัดบริการสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์ สร้างศิลาจารึกสื่อสารเสริมธรรม ประกาศหลักการแห่งเสรีภาพ แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่ พระธรรม โดยพระองค์ก็เสด็จธรรมยาตราไปยังพุทธสถานทุกแห่ง เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามทำลายล้างอย่างยืดเยื้อกับแคว้นกาลิงคะ ปัจจุบันคือรัฐ โอริสสา ทรงเอาชนะแคว้นกาลิงคะ ซึ่งเป็นแคว้นสุดท้ายที่พระองค์ทรงพิชิตได้ เป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ชัยชนะนั้นกลับสร้างความสลดสังเวชพระทัยแก่พระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า จัณฑาโศกราช คือ พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม แต่หลังจากที่พระองค์หันมานับถือวิถีแห่งสันติและเมตตา จึงทรงประกาศละเลิกสังคามวิชัยหันมาดำเนินนโยบายเดชานุภาพแบบ “ธรรมวิชัย” ด้วยรัฐประศาสโนบายนี้เอง จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้า หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้นำโลกไปสู่ความเมตตา กรุณา อหิงสาและสันติภาพด้วยวิถีทางแห่งความสงบสุข และพระองค์ทรงสร้างโรงทาน โรงพยาบาลสำหรับคน และสำหรับสัตว์ รวมทั้งทรงสร้างสวนสาธารณะ สะพาน บ่อน้ำสาธารณะทั่วไป ทุกหนทุกแห่งในพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะการสร้าง “อโรคศาลา” หรือ “อาโรคยศาลา” นั้น นับเป็นแนวคิดที่ใหม่และก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้น จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังนับว่า ทันสมัยอยู่เสมอ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงวางพระองค์กับประชาชนราวกะว่า “บิดากับบุตร” ทรงเรียกขานประชาชนว่าเป็น “ลูกหลานของข้าพเจ้า” ท่าทีแบบปิตุราชาเช่นนี้ นับว่าหาได้ยากมากในหมู่พระราชาผู้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยนั้น ที่โดยมากมักหลงตัวเองแล้วพลอยเหยียดประชาชนลงเป็นทาสที่แทบไม่มีคุณค่าแห่งชีวิต พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ประดุจพ่อปกครองลูก (Paternalist) เรียกว่า ปิตาธิปไตย (Paternalism) คือ ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งการปกครองด้วยระบบ “พ่อปกครองลูก” นั้น ประเทศไทยในยุคสุโขทัย พ่อขุนรามคำแห่งมหาราช ก็ทรงมีพระราชจริยาวัตร เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นประจักษ์พยานอยู่ เพราะลักษณะการปกครองสุโขทัยในระยะแรกนั้น เป็นการปกครองแบบนครรัฐ คือ แต่ละเมืองมีการปกครองเป็นอิสระ มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ไม่มีศูนย์กลางการปกครอง มีการศึกสงครามเพื่อความมั่นคง หรือขยายอำนาจทางการเมือง ส่วนการปกครองพลเมืองใช้ระบบพ่อปกครองลูก ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้หลักทศพิธราชธรรมปกครองไพร่ฟ้า ทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข พลเมืองมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ[10] (ศิริวรรณ คุ้มโห้.  2547, น. 14)

นอกจากนี้ การเมืองการปกครองในสุโขทัย มีการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ให้ราษฎรอยู่ดีกินดีและระงับการเบียดเบียน เช่น ยึดทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน หรือการเก็บภาษีอากรอันเป็นภาระหนัก โดยนัยนี้ การปกครองในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น จึงเป็นแบบพ่อปกครองลูก โดยอาศัยคำที่เรียกกษัตริย์ว่า “พ่อขุน”   ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงอนุญาตให้ไพร่ฟ้าถวายฎีกา โดยวิธีไปตีกระดิ่งที่แขวนไว้ที่ปากประตูได้แสดงให้เห็นว่า เป็นแบบพ่อปกครองลูกจริง ๆ (อุดม เชยกีวงศ์, 2006 : น. 103).[11]

 

เนื้อหาโดย: Sirawat Kro0404
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Sirawat Kro0404's profile


โพสท์โดย: Sirawat Kro0404
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: Sirawat Kro0404
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
นางเอกดังสุดเศร้า กับการสูญเสียครั้งใหญ่ โพสต์อาลัยรักสุดหัวใจอีกมุมของ "ยายสา" ตำนานแม่มดแห่งสมิหลา กับความลึกลับที่ไม่มีใครกล้าท้าทาย"1 ใน 8 ของนักเรียนร.ร.รัฐในนิวยอร์ก'ไร้บ้าน'!ตำรวจ ตามรวบจนครบ 3 โจ๋เหิมเกริม ใช้มีดฟันคู่อริ กลางสถานี BTS5 เทคนิคเพิ่ม Productivity ที่ช่วยให้คุณทำงานสำเร็จเร็วขึ้นอันตราย! คนจีนจ้างแพ็คอาหารเสริมปลอม ขายผ่านออนไลน์ในไทย
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
อีกมุมของ "ยายสา" ตำนานแม่มดแห่งสมิหลา กับความลึกลับที่ไม่มีใครกล้าท้าทาย"หวังเซียนเฉา นักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถัง‘ขนม ศศิกานต์’ เลิก ‘ครูเต้ย อภิวัฒน์’ ทั้งที่เพิ่งคลอดลูก คนที่ 2 จากกันด้วยดี ไม่มีมือที่ 3เพียง 3 วินาที หญิงสาวสามารถขโมยนมผงในร้านสะดวกซื้อโดยไม่มีใครเห็น"ช็อกแป๊บ! เจอ 'หลวงพี่เท่งตัวจริง' เดินบิณฑบาต คนถามหนังหรือชีวิตจริง"ฝรั่งเผยชีวิตไทยสุดชิล! ไม่คิดกลับอเมริกา แถมซึ้งใจเมืองพุทธจนใจละลาย
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ปริศนาในภาพเขียน Salvator Mundi โดย Leonardo da Vinciแม้รวยเท่าใดอย่างไรก้ต้องเกิดตายไม่สิ้นสุด จะหยุดได้ก็เพียงด้วยยอดแห่งบุญ"ตารางลดน้ำหนัก" ฉบับกินยังไงก็ผอม5 เทคนิคเพิ่ม Productivity ที่ช่วยให้คุณทำงานสำเร็จเร็วขึ้น
ตั้งกระทู้ใหม่