ลิซ่าจุดกระแสซอฟต์พาวเวอร์ไทย ได้เวลารัฐต้องรับมาแบกต่อ
ซอฟต์พาวเวอร์เป็นกระแสในไทยมาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่จุดพีคที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักเมืองไทยมากขึ้น และคนไทยด้วยกันหันมาใส่ใจความเป็นไทยอย่างจริงจัง ก็ต้องยกให้ประโยชน์ให้ศิลปินไทยที่เป็นไอดอลของโลก อย่าง “ลิซ่า แบล๊กพิงค์” หรือ ลลิษา มโนบาล ที่หยิบจับอะไรที่เป็นของไทยๆ ก็เป็นกระแสไปหมด แค่เธอใส่ชุดไทยและสวมรัดเกล้ายอด ในมิวสิควิดีโอเพลง Lalisa ซึ่งปัจจุบันมียอดชมกว่า 656 ล้านครั้ง ก็เป็นการโชว์เอกลัษณ์ความเป็นไทยอย่างยิ่งใหญ่อลังการกว่างานประกวดมิสยูนิเวิร์ส นอกจากนี้ เธอยังช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยและความเป็นอยู่อย่างไทยๆ ผ่านกิจวัตรประจำวัน ทั้งการกินขนมไทย ใช้สินค้าไทย ใส่ชุดไทยเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์แอมบาสเตอร์ของประเทศไทยที่มีอิมแพ็คมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
อันที่จริง ก่อนหน้าที่จะเกิดกระแส ลิซ่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไทยเราได้ใช้ซอฟต์พาวเวอร์แบบไม่รู้ตัวกันมาตลอด จึงทำให้คนต่างชาติได้รู้จักอาหารไทย วัฒนธรรมไทย ศิลปะแบบไทยๆ ฯลฯ แบบเรียบๆ ง่ายๆ ไม่หวือหวา ไม่ได้สร้างมูลค่าอย่างที่ควรจะเป็น ก็เพราะเราทำแบบตัวใครตัวมัน ไม่เคยมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบหรือผ่านกระบวนการที่ถูกวางแผนไว้อย่างดี ขณะที่เรากลับได้เห็นซอฟท์พาวเวอร์ของเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่นและจีนมาหลายสิบปี จากหนังจืนกำลังภายใน หรือการ์ตูนยอดฮิตอย่างโดราเอม่อน ไอ้มดแดง มดเอ๊กซ์ ฯลฯ ที่ทำให้เราได้รู้จักสองประเทศนี้อย่างดี และได้มีส่วนเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของพวกเขามากมาย จนมาถึงยุคหลังที่เรายังได้เปิดโลกทัศน์รู้จักกับเกาหลีใต้มากขึ้น ผ่านซีรี่ส์และศิลปินต่าง ๆ เช่น แดจังกึม ที่เกิดเป็นกระแสฟีเว่อร์ ทำให้ต่อมาเกาหลีใต้บูมสุดๆ ในหมู่คนไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยว บันเทิง สินค้าความงามและอิเล็กทรอนิกส์ โกยรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 2,500,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นการตอกย้ำว่าซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลจริงๆ
ต้องยอมรับว่า รัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลแรกที่เริ่มผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ไปได้ไกลกว่าแค่กระแส ผ่านนโยบาย “5F” คือ F คือ Food (อาหาร), Films (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์), Fashion (ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น), Fighting (มวยไทย), และ Festival (เทศกาลประเพณี) โดยมีการประเมินว่า ซอฟต์พาวเวอร์ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท
รูปจาก สาลิกา
ในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองที่นำมาเป็นนโยบาย ก่อนหน้านี้ฝั่งธุรกิจก็เคยออกมากระตุ้นแล้ว เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า การสร้างสังคมดิจิทัลผ่านสื่อและดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นแนวทางหนึ่งที่หลายประเทศใช้ ที่เห็นได้ชัดคือ เกาหลีใต้ ดังนั้น การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรม ก็จะช่วยยกระดับแบรนด์ดิ้งที่ดีของไทย โดยรัฐควรจะสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อทำให้เกิดพลังของคนไทย ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม ซอฟต์พาวเวอร์เป็นมากกว่าแค่ศิลปะและบันเทิง แต่หมายรวมไปถึงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความนิยมและความรู้สึกที่ดี ทำให้ผู้คนอยากมีส่วนร่วมกับประเทศเจ้าของซอฟต์พาวเวอร์นั้น อย่างในยุคหลังนี้ จีนได้ใช้ความโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเป็นใบเบิกทางเชื่อมการค้า การลงทุน จากจีนไปยังเอเชียและยุโรป ผ่านโครงการ BRI – Belt and Road Initiative โดยคาดว่าจะเชื่อมกับดินแดนต่าง ๆ ได้มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก เพิ่มจีดีพีได้ถึง 160,000 ล้านหยวนภายในปี 2030
สำหรับไทยเรา แม้จะมาทีหลังแต่ก็ยังไม่สายที่จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าให้กับประเทศ เพราะเรามีความโดดเด่นที่หลากหลายมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหาร การแต่งกาย ศิลปะการต่อสู้ ผู้คน ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่เรามีอยู่นี้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 41 จากผลการจัดอันดับ Global Soft Power Index ประจำปี 2023 โดย Brand Finance แม้จะลดลงมา 6 อันดับจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังมีโอกาสไต่กลับขึ้นไปได้ไกลกว่าเดิม หากได้รับการส่งเสริมผลักดันอย่างเต็มกำลังจากภาครัฐ และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งโชคยังดีที่สังคมไทยเห็นตรงกันในเรื่องนี้ และรัฐบาลใหม่ได้สานต่อนโยบายการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จากรัฐบาลเดิมที่ได้ริเริ่มไว้ แสดงให้เห็นว่า แม้ไทยเราจะมีจุดอ่อนด้านการเมือง การปกครอง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันบ้าง แต่ก็ใจเดียวกันในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลแต่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ยังอยู่ และเป็นนโยบายแรกๆ ที่รัฐให้ความสำคัญจะทำก่อน ไม่ปล่อยให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างลิซ่าต้องแบกซอฟต์พาวเวอร์ไทยไว้บนบ่าเพียงคนเดียว