"จื่อหนานเจิน"เข็มทิศประวัติความเป็นมากว่า 2,000 ปี ของจีน
"จื่อหนานเจิน" หรือเข็มทิศเป็นหนึ่งในสี่ของสิ่งประดิษฐ์สำคัญของจีนโบราณ เข็มทิศมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี ปรากฏครั้งแรกในยุคจั้นกว๋อ (รัฐสงคราม)
เข็มทิศในยุคแรกทำจากหินแม่เหล็กธรรมชาติ รูปร่างคล้ายช้อนที่มีพื้นด้านล่างเรียบและมัน สามารถหมุนได้อย่างอิสระบน "ตี้ผาน" (จานบ่งทิศทาง) ซึ่งทำจากทองแดงหรือไม้
เมื่อเข็มทิศที่หมุนหยุดนิ่งแล้ว ส่วนที่เหมือนคันช้อนของเข็มทิศจะชี้ไปทางทิศใต้เสมอ ดังนั้นเข็มทิศจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ซือหนาน" (เข็มชี้ทิศใต้)
จีนไม่เพียงแต่เป็นชาติแรกของโลกที่ประดิษฐ์เข็มทิศขึ้น แต่ยังเป็นชาติแรกที่นำเข็มทิศไปใช้ในการเดินเรืออีกด้วย
ประวัติศาสตร์ของโลกบันทึกไว้ว่า โคลัมบัสคือนักเดินเรือคนแรกที่แล่นเรือไปทั่วโลกจนได้ค้นพบทวีปอเมริกา
แต่ใครจะคิดว่าก่อนหน้านั้น 70 ปี มีนักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่นามว่า "เจิ้งเหอ" นำกองเรือขนาดใหญ่ที่เขาบัญชาการอ้อมไปครึ่งโลกมาแล้ว
จากหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ชาวจีนรู้จักใช้เข็มทิศหน้าปัดกลมเพื่อเดินเรือเมื่อศตวรรษที่ 12
ในขณะนั้น จูยี่ เป็นชาวมณฑลเจ้อเจียง ได้เขียนบันทึกชื่อผิงโจวเข่อถาน บันทึกไว้ว่า ในคืนแรม ทหารเรือได้ใช้เข็มทิศหน้าปัดกลมจำแนกทิศทาง ต่อมา เจิ้งเหอ ได้เริ่มเดินทางตั้งแต่ปีค.ศ. 1405 เดินทางไปถึงอาหรับและแอฟริกาตะวันออก ไปกลับเจ็ดครั้ง รวมเวลาได้ 28 ปี
ชาวอิตาเลียนใช้เข็มทิศในศตวรรษที่ 14 จีนจึงใช้เข็มทิศเร็วกว่าอิตาลีอย่างน้อยสองศตวรรษ
และหากอ้างอิงถึง ทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ ชาวตะวันตกได้นำเข็มทิศหน้าปัดกลมไปจากจีนนั่นเอง
แม้ชาวจีนจะเป็นผู้คิดค้นเข็มทิศแม่เหล็กแต่ผู้พัฒนาการใช้ในทะเลก็คือชาวอาหรับ เขานำความรู้จากสองชาติมาเขียนแผนที่ทางทะเล ซึ่งบางชิ้นยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันและอาจทำให้การแล่นเรือเลียบชายฝั่งจากจีนไปแอฟริกาไม่ไกลเกินเอื้อม