เศรษฐกิจจีนพังหลังจัดระเบียบเอกชน
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนดิ่งลงอย่างหนัก จนเหมือนเป็นระเบิดเวลาที่รอวันบึ้ม ทั้งเม็ดเงินลงทุนลดลง การส่งออกและค่าเงินหยวนตกต่ำ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่พุ่งสูงจนทำสถิติใหม่ และภาคอสังหาริมทรัพย์แทบล้มละลาย ต่างกันราวฟ้ากับเหวจากช่วงที่เคยบูมหนัก ๆ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลจีน ที่เข้าไปควบคุมภาคเอกชนมากจนเกินเบอร์ ทั้งแทรกแซงการดำเนินงานและออกกฎหมายที่เข้มงวดจนกระดิกตัวได้ลำบาก โดยรัฐอ้างความชอบธรรมในเรื่องของการกระจายความมั่งคั่ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเข้าไปควบคุมและกวาดล้างหลากหลายกลุ่มธุรกิจในประเทศ ยกตัวอย่าง ช่วงปี 2019-2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดกวดวิชากำลังบูม ก็เข้าไปจัดระเบียบสถาบันกวดวิชา ทำให้ต้องปิดกิจการเกือบหมด การจ้างงานตรงนี้จึงลดลงฮวบทันที หรืออย่างช่วงปี 2021-2022 เทรนด์ธุรกิจเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ชกำลังมาแรง จึงมีบริษัทด้านเทคโนโลยี ไอที และเว็บไซต์ เกิดขึ้นมากมาย รัฐบาลจีนก็เข้าไปจัดระเบียบอีก ทำให้การจ้างงานลดลง บวกเข้าไปกับการที่คนรุ่นใหม่ที่เรียนด้านนี้มา เพราะหวังว่าจบออกมาจะมีตลาดงานรองรับ ก็ต้องกลายเป็นเข้าไปเพิ่มอัตราการว่างงานให้สูงขึ้นไปอีกเท่าทวีคูณ และในปลายปี 2021 ก็ถึงคิวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมตลาดและกำหนดเพดานขึ้นค่าเช่าใหม่ ส่งผลให้บริษัทอสังหาฯ ต้องถอยทัพ ลดการจ้างงาน จนถึงขั้นล้มละลาย
ที่เป็นประเด็นดัง ๆ กระเทือนไปทั่วโลก จากนโยบายเชิดไก่ให้ลิงดูของรัฐบาลจีน ในการลงโทษบริษัทเทนเซ็นต์ อาลีบาบา และเว่ยป๋อ ประเด็นการผูกขาด ตลอดจนการเข้าไปปรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทนั้น มีผลสั่นสะเทือนทั้งต่อตัวธุรกิจ และกระทบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมรอบด้าน โดยเฉพาะการหายตัวไปของบุคคลสำคัญระดับมหาเศรษฐีนักธุรกิจจีนคนสำคัญอย่าง แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ช, เป่า ฝาน ซีอีโอธนาคาร China Renaissance Holdings และกัว กว่างชาง ประธานกรรมการบริษัทโฟซันกรุ๊ป ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ แห่งเมืองจีน ส่งผลต่อความหวาดหวั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ตลอดจนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ยังไม่นับรวมเศรษฐีและนักธุรกิจชาวจีนอีกนับหมื่นที่พากันอพยพย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ โดยในปี 2022 พบตัวเลขเศรษฐีชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศกว่า 10,800 คน หมุดหมายส่วนใหญ่คือสิงคโปร์ ซึ่งมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและทำธุรกิจมากกว่าในจีน
นโยบายที่ตึงเกินไป หรือย่อหย่อนจนเกินไป ย่อมไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำ ความร่ำรวยหรือยากจน ย่อมไม่ใช่การเพ่งเล็งไปที่ใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ เพราะประเทศประกอบด้วยหลายภาคส่วนที่ผูกติดกันอยู่อย่างแยกไม่ออก
ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่และค่อนข้างมั่นคง มักใช้วิธีส่งเสริมภาคเอกชนให้เติบโต มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองที่สามารถทะลุทะลวงเข้าตลาดได้ทุกประเทศ อย่าง Tesla, Apple, Microsoft, Samsung, Hyundai เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าบริษัทมหาศาล สามารถสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้มากมาย ซึ่งรายได้ การจ้างงาน ตลอดจนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในประเทศ จะเป็นตัวช่วยที่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การบอนไซที่ขัดขวางการเติบโตตามธรรมชาติของธุรกิจเอกชนที่จะแก้ปัญหาได้ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะสร้างปัญหาซะเอง
กรณีศึกษาจากนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลจีน ที่โยนความรับผิดชอบไปให้ภาคเอกชนฝ่ายเดียว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่กระเทือนแม้เพียงนิด ก็มีผลกระทบเป็นโดมิโน น่าจะสะท้อนอะไรให้กับประเทศไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย
สถานการณ์เศรษฐกิจในจีนขณะนี้เริ่มแผ่ความหนาวซ่านมาถึงประเทศไทยแล้ว เพราะเราต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกไปจีนอย่างมาก คงต้องคอยลุ้นกันว่า ด้วยเศรษฐกิจจีนที่ดิ่งลงเรื่อย ๆ แบบนี้ จะทำให้ผลไม้ไทยที่เตรียมไว้ส่งไปจีนเน่ากองคาสวนหรือไม่ นโยบายฟรีวีซ่าที่เราเตรียมไว้รับนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นหมันหรือเปล่า กลั้นหายใจดูกันได้เลย















