สุดแปลก ชายวัย 51 ปีฉีดพิษงูเข้าตนเองมามากกว่า 30 ปี
สตีฟ ลุดวิน ชายวัย 51 ปี ฉีดพิษงูเข้าสู่ร่างกายของตัวเองเพื่อสร้างเซรุ่มพิษงู และเกือบที่จะเสียชีวิตเพราะพิษงูมาแล้ว
สตีฟ ลุดวิน ต้องการพัฒนาเซรุ่มพิษงู ชนิดใหม่และปลอดภัยมากขึ้น สิ่งที่เขาต้องการคือ พิษงูบางชนิด ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เขาฉีดพิษงูเข้าร่างกายตัวเอง หลังจาก 'รีดพิษ' งูออกมา รวมถึง งูที่มีพิษถึงตายเช่น งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว โดยเขาเล่าว่าเขาได้ฉีดพิษเข้าตัวเองทุกวันเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว และยังมีสุขภาพแข็งแรง ทุกวันนี้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเขาดีมาก และไม่เป็นหวัดมานานกว่า 15 ปี ลุดวิน ฉีดพิษงูหลายชนิดเข้ากระแสเลือด รวมถึงงูที่อันตรายที่สุดในโลก เช่น งูแบล็คแมมบา และงูเห่า มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุไม่คาดฝันอยู่ 2-3 ครั้ง ที่เกือบคร่าชีวิตของเขา ซึ่งเขาก็เปิดเผยว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นอันตราย และไม่สนับสนุนให้ใครเอาอย่าง พร้อมเผยว่า การฉีดพิษงูเข้าร่างกายนั้นเจ็บแสนสาหัส แต่เขาทำจนติดเป็นนิสัยแล้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเภทของพิษงูที่ทำลายระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย ดังนี้
งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่
1. งูเห่า (Monocled cobra, Naja kaouthia), งูเห่าพ่นพิษ (Spitting cobra, Naja siamensis)
2. งูจงอาง (King cobra, Ophiophagus hannah)
3. งูสามเหลี่ยม (Banded krait, Bungarus fasciatus)
4. งูทับสมิงคลา (Malayan krait, Bungarus candidus)
พิษของงูกลุ่มนี้จะไปจับกับแผ่นเชื่อมประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) โดยพิษงูเห่า งูจงอาง จะไปจับกับตัวรับด้านกล้ามเนื้อ (post-synapse) และพิษงูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลาจะจับกับปลายประสาท (pre-synapse) ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หยุดหายใจ
งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต ได้แก่
1. งูแมวเซา (Russell’s viper, Daboia russelii)
2. งูกะปะ (Malayan pit-viper, Calloselasma rhodostoma)
3. งูเขียวหางไหม้ (Green pit-viper, Trimeresurus spp)
พิษของงูกลุ่มจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของปัจจัยการจับเป็นลิ่มเลือด (coagulation factors) โดยที่พิษของงูแมวเซาจะกระตุ้น Factor X แต่พิษของงูกะปะและงูเขียวหางไหม้จะกระตุ้นไฟบริโนเจน (fif ibrinogen, Factor I)จากการกระตุ้นดังกล่าว จะทำให้ปัจจัยการจับเป็นลิ่มเลือดในร่างกายลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ
ได้แก่ งูทะเล ซึ่งเป็นงูในวงศ์ย่อย Laticaudinae และ Hydrophiinae เป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับงูเห่า และมีพิษทำลายกล้ามเนื้อด้วย ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัว(rhabdomyolysis) และภาวะโพแทสเซียมสูงในเลือด (hyperkalemia)
โดยนักวิทยาศาสตร์ในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก กำลังศึกษาสารแอนติบอดีในเลือดของเขา เพื่อพยายามสร้างเซรุ่มพิษงู ที่ราคาถูกและปลอดภัย เซรุ่มที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กำลังทดสอบ คาดว่าจะมีราคาหลักพัน ทำให้คนไข้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และหากได้รับการสนันสนุนจากรัฐบาล อาจจะรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้
องค์การอนามัยโลก เผยว่า มีผู้คนทั่วโลกราว 5 ล้าน 4 แสน คนถูกงูกัดทุกวัน และประมาณ 8 หมื่น ถึง 1 แสน 4 หมื่นคนเสียชีวิต หากสามารถสร้างเซรุ่มพิษงูนี้ได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์และปฏิวัติวงการการแพทย์เป็นอย่างมาก