หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ความตายคืออะไร

เนื้อหาโดย Stephen wat0234

#ขั้นตอนเข้าสู่ “ความตาย” และอาการของคน “ใกล้ตาย”

 

       ผมเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแลผู้ป่วยที่รู้ชัดแล้วว่าไม่มีทางรักษาหาย สำหรับคนที่ไม่ใช่หมอไม่ใช่พยาบาลที่นำผู้ป่วยมาดูแลเองที่บ้าน อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 

 เมื่อผมอายุได้ 9 ขวบ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นคนกำลังจะสิ้นใจ นั้นคือลุงผมเอง ความรู้สึกมันอัดอั้น แน่นหน้าอก เมื่อเห็นคนป่วยกำลังหายใจโรยรินจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ ตอนนั้นผมตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราต้องตาย และความตายคืออะไร ด้วยตระกูลผมเป็นตระกูลที่มีญาติเยอะ​ ตายายมีลูกมีลูก10คน เวลาญาติป่วยจึงได้ไปเฝ้า

ตั้งแต่เล็กจนโตผมจึงได้เฝ้าสังเกตุอาการของคนจะสิ้นใจหลายคน ยายของผมสิ้นลมหายใจในขณะที่ผมยังจับชีพจร ในห้วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปีที่ผ่านมาผมสูญเสียญาติไปสามคน ทุกครั้งผมก็จะจดบันทึกอาการต่างๆ ตั้งข้อสงสัยและหาคำตอบด้วยการศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัย สอบถามหมอ พยาบาลที่มาดูแล เอกสารอื่นๆ รวมเข้ากับประสบการณ์ของตัวเองที่ได้เห็นได้สัมผัส นำมาเขียนบันทึกไว้ เพราะวันหนึ่งทุกคนต้องเจอ

ข้อสังเกตุดูผู้ป่วยว่าเริ่มมีอาการเข้าสู่ความตายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

 

ผมจะเขียนถึงกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ด้วยโรคที่รักษาไม่หาย และโรคชรา ซึ่งมีสัญญาณบอกว่าใกล้เข้าสู่ความตายแล้ว 

 1.ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยการไม่กินข้าว จะเริ่มเบื่ออาหารประเภทเนื้อก่อน กินลงไปแล้วจะอวก กินได้แต่นมหรือน้ำ จำพวกของเหลว จากนั้นผ่านไปอีก 2-3 วัน หรือบางคนอาจจะเป็นอาทิตย์ ก็จะไม่อยากกินนม ได้กลิ่นก็จะอวก จะส่ายหัวจะกินเพียงน้ำและกินน้อยลงตามลำดับ จนกระทั่งปฏิเสธน้ำ มีการรับรสหรือรับรู้กลิ่นที่เปลี่ยนไป

         เนื่องจากร่างกายไม่สามารถที่จะย่อยสารอาหาร เพื่อเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ได้ต่อไป เพราะโรคลุกลามเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร หากเป็นโรคชราก็เพราะระบบเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ กระเพาะและลำไส้ทำงานต่างไปจากปกติ จึงสูญเสียความอยากอาหารนี้ไป ผู้ดูแลมักจะวิตกกังวลว่าจะทำให้ผู้ป่วยไม่มีเรี่ยวแรงกลัวว่าจะแสบกระเพาะ ผู้ดูแลบางคนก็จะให้แพทย์ให้สารอาหาร อาจจะให้ทางสายยางหรือให้น้ำเกลือ การให้อาหารทางสายยาง อาจทำให้มีท้องอืด เนื่องจากระบบการย่อยอาหารไม่สามารถทำงานได้แล้ว ก็อาเจียนหรือสำลักอาหารได้ แต่ที่จริงแล้วผู้ป่วยไม่หิวเลย อาจจิบน้ำเพียงเล็กน้อยหรือไม่ดื่มน้ำเลย ที่จริงแล้วภาวะขาดน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้ตายไม่ทำให้ผู้ป่วยทรมานมากขึ้น ตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แต่จะรู้สึกง่วงและอาจนอนหลับตลอดเวลา ผู้ดูแลควรให้ผู้ป่วยหลับ ไม่ควรพยายามปลุกให้ตื่น

           ญาติผู้ดูแลบางคนไม่เข้าใจอาจมองว่าผู้ป่วยปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ต่อ จึงไม่อยากรับประทานสิ่งใด และอาจพยายามคะยั้นคะยอให้กิน แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกและการตอบสนองทางร่างกายที่ไม่อาจควบคุมได้ การฝืนให้ผู้ป่วยรับประทานมากขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดควรทำความเข้าใจ และอาจแสดงความรักต่อผู้ป่วยด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การพูดคุย การกอด 

 

           2. ไตไม่ทำงาน เมื่อไม่รับประทานอาหารและน้ำ ไตของผู้ป่วยจะเริ่มไม่ทำงาน มีปัสสาวะลดลง ญาติบางคนเกิดวิตก ก็จะให้พยาบาลให้น้ำเกลือ การให้น้ำเกลืออาจทำให้มีภาวะน้ำคั่ง ทำให้มีน้ำท่วมในปอด มีเสมหะมาก ทำให้หายใจลำบาก ภาวะขาดน้ำจึงเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าการให้สารน้ำเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยอาจดูปากและตาแห้ง จึงควรดูแลทำความสะอาดปากและหาสีผึ้ง วาสลิน หรือน้ำมันทาปากไม่ให้แห้ง ส่วนตาควรหยอดน้ำตาเทียม ร่างกายจะซูบผอมลงเร็วมาก ในระยะนี้เลือดจะกลายเป็นพิษ ระบบไหลเวียดเลือดจะผิดปกติ ความดันโลหิตไม่ค่อยปกติ อาจพุ่งขึ้นหรือตกลง ออกซิเจนในเลือดอาจลดลง สังเกตข้อหัวเข่าจะบวมใหญ่ ปัสสาวะและอุจจาระออกน้อยลง สีเข้มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกหนาว ควรห่มผ้าให้สักผืนคลุมตรงเท้าไว้

 

           3. สูญเสียการพูด ผู้ป่วยเริ่มพูดไม่ได้ เรี่ยวแรงไม่มี ผู้ป่วยที่มีสติดีอยู่ อาจจะพยามใช้มือสื่อสาร ช่วงนี้ผู้ป่วยจะนอนหลับในตอนกลางวัน แต่ตื่นในตอนกลางคืน (สลับกลางวันเป็นกลางคืน และกลางคืนเป็นกลางวัน) ถ้าผู้ดูแลไม่เข้าใจคอยปลุกผู้ป่วยบ่อยๆ จะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ดูแลอาจต้องปรับตัวเรื่องการนอน หรือหาผู้ช่วยมาดูแลตอนกลางคืน

          4. สูญเสียการมองเห็น มองสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีความหมาย มัวไปหมด ระยิบระยับเต็มไปหมด สังเกตเห็นผู้ป่วยมักจะพยายามขยับหัวไปมา และพยายามจะสื่อสารอะไรสักอย่าง นิ้วชี้ไปโน้นนี้ หากเรายื่นมือไปจับมือผู้ป่วย ผู้ป่วยจะกำมือเรา เพื่อสื่อสารบางอย่าง

       ช่วงนี้ร่างกายจะอ่อนระโหยโรยแรง การกลืนเป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้ดูแลอาจเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่ความจริงผู้ป่วยบางราย อาจมีประสาทรับฟังทำงานได้อยู่ และสามารถรับรู้สิ่งที่คนรอบข้างพูดคุย อาจจะยังได้ยินและรับรู้ได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นทราบได้ ร่างกายอาจมีการขยับแบบอัตโนมัติได้โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เช่น การกํามือหรือกัดฟันกรอดๆ

       การดูแลจึงไม่ควรร้องไห้ หรือพูดคุยในสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ ควรพูดคุยแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น ความดีที่ผู้ป่วยเคยทำ ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อผู้ป่วย  

 ในข้อ 3 และ 4 นี้ในทางพุทธศาสนาจะเรียกว่า ธาตุดินเริ่มสลายตัว กลายเป็นน้ำ

 5. สูญเสียการได้ยินและประสาทสัมผัส การได้ยินและประสาทสัมผัสจะเป็นอวัยวะรับรู้ความรู้สึกที่เสียไปหลังสุด ผู้ป่วยจะรู้สึก ชาๆ ตื้อๆ เริ่มหมดความรู้สึก ไล่จากปลายเท้าขึ้นมา จมูกไม่รับความรู้สึกเรื่องกลิ่น

       การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายจึงควรเป็นการดูแลผู้ป่วยให้สุขสบาย โดยการใช้สัมผัส การลูบคลำ การนวด เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ระยะนี้ผู้ป่วยคางจะเริ่มตก จะอ้าปากกว้าง เพื่อหายใจ บางคนจะเป็นไข้สูงตัวร้อน จะเกิดอาการช็อคได้ ควรนำผ้าชูบน้ำเช็ดตัว ให้ตัวเย็นลง ระยะนี้ไม่ต้องหยดน้ำแล้ว เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก (กรณีนี้เห็นได้จากลุงที่เสียไปล่าสุด)

ในทางพุทธศาสนาระยะนี้เรียกว่า น้ำจะกลายเป็นไฟ

 6.ความรู้สึกนึกคิดหยุดหมด เหลือแต่ลมหายใจ ระยะนี้ภาษาอีสานโบราณ เราเรียกว่า “หายใจท่อน” เราจะเห็นผู้ป่วยนอนนิ่ง นอนหลับตลอดเวลา แทบไม่เปิดตา จะเห็นเพียงหน้าอกยูบพองสูบเอาออกซิเจนเข้า มือจะกระตุกบ้างเป็นครั้งคราว ช่วงนี้ผู้ป่วยจะหายใจเร่ง สังเกตหน้าอกจะยุบพองเร็วขึ้น เร็วขึ้นๆ จากนั้นจะช้าลง จะสลับกันเป็นช่วงๆ บางครั้งจะผิดจังหวะ หายใจไม่เป็นจังหวะ บางครั้งอาจหายใจเร็วมากๆ จะขาดการหายไป 2- 3 จังหวะ แล้วกลับมาหายใจ หากเกิดอาการเช่นนี้ ผู้ป่วยจะอยู่ได้ไม่เกินสองวันช้าสุด หรืออาจไปเร็วกว่านี้หรือในคืนนั้น

       ต่อมาคางตกหย่อนลงมาก เริ่มหายใจมีเสียงดังคล้ายเสียงโกนหรือภาวะน้ำลายสอ เกิดจากกล้ามเนื้อในการกลืนไม่ทํางาน ลิ้นตกลงและแข็ง แต่ต่อมน้ำลายน้ำเมือกต่างๆ ยังทํางานอยู่ ภาวะดังกล่าวไม่ทําให้ทางเดินหายใจอุดตันจนถึงแก่ความตาย

       ตอนนี้ปากจะแห้งเร็วมาก ต้องคอยเช็ดให้บ่อยๆ อาจจะมีหน้านิ่วคิ้วขมวด ซึ่งอาจไม่ใช่เกิดจากความเจ็บปวด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสมอง เข้าสู่ภาวะกึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะ ภาวะกระสับกระส่ายเริ่มเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกาย เนื่องจากอวัยวะต่างๆ เริ่มวาย มือและเท้าจะเย็นมากๆ ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เป็นจ้ำๆ 

       ส่วนอาการหายใจเสียงดังคล้ายเสียงโกนข้างต้น มักไม่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน แต่มักทำให้ผู้ดูแลวิตกกังวล เกรงว่าผู้ป่วยจะทุกข์ทรมาน การดูแลภาวะหายใจเสียงดัง ควรจัดท่านอนตะแคง ซึ่งจะช่วยให้การหายใจเสียงดังลดลง ใช้ผ้าซับน้ำลายหรือเสมหะที่ข้างกระพุ้งแก้ม หรือดูดเสมหะที่อยู่กระพุ้งแก้มออก การดูดเสมหะในลำคอ เพราะนอกจากจะไม่ช่วยในการลดอาการแล้ว ยังกลับทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมากขึ้น   

 

ช่วงนี้ผู้ดูแลจะเรียกญาติๆมาเฝ้าดูใจ และทุกคนจะเพ่งไปยังหน้าอก ที่เร่งสูบออกซิเจนเร็วๆขึ้น เหมือนสูบเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ ดูเหมือนเร่งสูบเข้าแต่สูบไม่ลง นั่นแสดงว่า ความตายกำลังคืบเข้ามาใกล้เต็มทีแล้ว ผู้ป่วยจะหายใจเร็ว สีหน้าจะคล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะออกซิเจนเริ่มไปเลี้ยงไม่พอ อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลงพร้อมๆ กัน ทำให้ภาวะความเป็นกรดด่างไม่สมดุลย์ เช่น มีแอมโมเนียคั่งเพราะตับวาย

จากนั้นผู้ป่วยจะแหงนหรือศีรษะ ขึ้นเล็กน้อย เพราะหายใจไม่ค่อยลง การเชิดศีรษะ หรือองศาของหน้าแหงนขึ้นเล็กน้อยเพราะกำลังจะสิ้นใจออกซิเจนเข้าไปได้น้อย ขั้นตอนนี้ ภาษาอีสานโบราณ เรียกว่า “หายใจป๋า”   

ระยะนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ไฟเปลี่ยนเป็นลม ตอนนี้จะเหมือนกับเราพยายามที่จะก่อไฟในเตา ดวงไฟเล็กที่เริ่มจุด หากออกซิเจนเข้าไปไม่พอ ไฟก็จะดับ ตอนนี้มันลิบหลี่ลงเต็มที

 

ต่อมาจะหายใจช้าบ้าง เร็วบ้าง ลึกบ้าง ตื้นบ้าง ระบบหายใจจะลวนไปหมด และอาจหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ซึ่งช่วงที่หยุดหายใจนี้จะค่อยๆ ยาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต ตัวผู้ป่วยเองจะไม่รู้สึกทรมานกับอาการนี้เพราะเกิดจากภาวะกรดและด่างเปลี่ยนแปลงไปหลังจากอวัยวะต่างๆ หยุดทํางาน ชีพจรจะเต้นอ่อนมากๆ  

 

7.และขั้นตอนสุดท้ายก็จะมาถึง โดยส่วนมากจะหายใจเป็นเฮือกยาวอยู่ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 สูดเข้าไป แล้วปล่อยออกมาช้า บางคนนิ้วมืออาจจะกระตุกบ้าง ครั้งที่ 2 สูดเข้าช้ายาวแล้วปล่อยออกมาช้า บางคนก็หยุดหายใจตรงนี้ห่างมากจนนึกว่าไปแล้ว จากนั้นก็กลับมาอีกหนึ่งจังหวะ ครั้งที่ 3 จะว่างไป 1 จังหวะ แล้วสูดเข้าไปยาว แล้วปล่อยออกมา จากนั้นก็จะไม่หายใจเข้าไปอีก ปากที่อ้าก็จะงับเข้าไป หน้าที่แหงนขึ้นจะลงมาที่เดิม อกที่เคยยูบพองจะแน่นิ่ง ส่วนมากลมหายใจสุดท้ายคือลมหายใจออก เพราะเป็นกระบวนการแบบ passive ไม่ใช้แรง ญาติก็จะดูนาฬิกาและถือเวลานี้เป็นเวลาที่สิ้นลมหายใจ แต่ความจริงหัวใจยังเต้นอยู่ แต่เต้นเบามาก 4-5 นาทีต่อมาเมื่อหัวใจขาดออกซิเจนจึงจะหยุดเต้น เมื่อหัวใจหยุดเต้นเลือดไม่ไปเลี้ยงจะสมองภายในสองวินาทีก้านสมองจะถูกทำลาย คลื่นในสมองจะหยุดทำงาน ธาตุลมจะเปลี่ยนเป็นอากาศธาตุ ถึงแก่ความตาย ตอนนี้ปากที่งับเข้าไปจะหย่อนตกลง ญาตต้องใช้ผ้าขนหนูม้วนมาดันไว้ที่คาง ดันคางไว้สัก 10 นาทีก่อน ปากจึงจะไม่ตกลงมา เพื่อเตรียมเข้าสู่พิธีทางศาสนาต่อไป

สุภิวัฒน์ สีคูน​ 

12 กรกฎาคม 2562

เนื้อหาโดย: Stephen wat0234
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Stephen wat0234's profile


โพสท์โดย: Stephen wat0234
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
10 VOTES (5/5 จาก 2 คน)
VOTED: ไปเซเว่นเอาอะไรไหม๊, Stephen wat0234
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
โมเมนต์นสุดฮาสาวสองอึ กลางป่าชาวเน็ตเอาไปทำมีมผีกระสือสิ่งที่คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้และอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนไทยที่คุณอาจจะไม่รู้มาก่อน!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ไม้เรียวอยู่ไหนสวนป่าไผ่ชื่อดังของไต้หวัน ถูกลิงแสมบุกทำลายชาวบ้านสุดทน!ร้องน้ำเน่าในสวนหลวงร.9 กระทบสุขภาวะของชุมชน และท่องเที่ยวคอนเสิร์ต AREA 52 "แบมแบม" สุดยิ่งใหญ่ ราชมังแตกเลยจ้ารวมความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการอาบน้ำ บางอย่างเพื่อนๆอาจจะเข้าใจผิดอยู่ก็ได้นะ
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
5 อันดับนาฬิกาแขวนผนัง ยี่ห้อไหนดี เลือกใช้ให้เข้ากับสไตล์การแต่งบ้าน10 วิธีลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป มีโอกาสสำเร็จมากกว่ารู้หรือไม่! โรคลมแดด หรือ Heat Stroke อันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เป็นเมนส์เล่นน้ำได้ไหม ประจำเดือนมาแต่อยากเล่นทะเล ทำไงดี
ตั้งกระทู้ใหม่