ก้างปลาขาว พืชที่มากสรรพคุณ ทางสมุนไพร
หลังจากไปเดินออกกำลังกายริมป่าละเมาะชายเขา และเห็นเจ้าต้นนี้ขึ้นอยู่บริเวณริมป่า พร้อมกับผลเป็นลูกกลมสีขาวเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ตามซอกใบดูแล้วสวยงามดี ทำให้นึกถึงประโยชน์เจ้าพืชต้นนี้ขึ้นมาทันที
ก้างปลาขาว ( Flueggea virosa ( Roxb. ex Willd. ) Voigt)
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 เมตร แยกเพศต่างต้น กิ่งด้านล่างมักเป็นหนาม หูใบขนาดเล็ก ติดทน ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปไข่กลับ มีนวลด้านล่าง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้จำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ สีเขียวอ่อน ก้านดอกยาว 2 - 6 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชู อับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ฐานดอกเป็นต่อมสีเหลือง 5 ต่อม มีเกสรเพศเมีย ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก มีได้ถึง 10 ดอก คล้ายดอกเพศผู้ ใหญ่กว่าเล็กน้อย ก้านดอกยาวได้ถึง 1.2 เซนติเมตร ฐานดอกบางเป็นวง รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมี ออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสร 3 อัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก ผลคล้ายผลผนัง ชั้นในแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 - 5 มิลลิเมตร ผลแก่สีขาวเมล็ด รูปสามเหลี่่ยม
สรรพคุณ ตำรายาไทย
. ราก รสจืดเย็น สรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ ขับพิษไข้หัว ( หัด สุกใส ดำแดง ) ลดความร้อน ( แก้ตัวร้อน )
. ใบ รสฝาดเฝื่อน ต้มดื่ม ขับปัสสาวะ บดเป็นผงโรยสมานแผล
. ต้น,เปลือก รสฝาดเฝื่อน ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ ฟอกโลหิต แก้บิด ท้องเสีย
. ผล รสฝาดเฝื่อน สมานในระบบทางเดินอาหาร แก้อาการอักเสบต่าง ๆ
. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยา ใบต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ สมานแผล ต้นเปลือกแก้น้ำเหลืองเสีย ฟอกโลหิต ผลแก้อักเสบ ราก แก้หอบหืด แก้ร้อนใน งูสวัด
. ยอดอ่อน นำไปรับประทานเป็นผักแกล้ม น้ำพริก ลาบ
ชื่อท้องถิ่น ก้างปลาขาว ปู่เจ้าคาคลอง ปู่เจ้าขวางคลอง คาคลอง ขวางคลอง ข่าคลอง (สุพรรณ), คำอ้าย ( โคราช ), ก้างปลาเครือ หมัดดำ ( แพร่ ) การกระจายพันธุ์ แอฟริกา เอเซีย จนถึง ออสเตรเลีย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สุพรรณ