อัพเดท! มรดกโลกในไทย หลัง อุทยานศรีเทพ ขึ้นทะเบียนมรดกโลกล่าสุด
ภายหลังจากการประกาศของคณะกรรมการมรดกโลกของ UNESCO ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เป็นมรดกแห่งล่าสุดของไทย ทำให้ในประเทศไทยมรดกโลกในประเทศไทย มีทั้งหมด 7 แห่ง หลังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับประกาศแห่งล่าสุด ประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง อยุธยา เชียงใหม่ บ้านเชียง ศรีเทพ และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ห้วยขาแข้ง เขาใหญ่ แก่งกระจาน
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ได้มติรับรองให้เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ของประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 1662 ประกอบด้วย เมืองโบราณศรีเทพ ที่เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี 2 ชั้น คือ เมืองในและเมืองนอก, เขาคลังนอก ศาสนสถานขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี เป็นตัวแทนความเชื่อในเรื่องมณฑลจักรวาล, ถ้ำเขาถมอรัตน์ ที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญบนยอดเขาถมอรัตน์ พบภาพสลักพระพุทธรูปโบราณและเป็นศาสนสถานสำคัญที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพ และสุดท้าย ประติมากรรมในสกุลช่างศรีเทพ ที่มีความโดดเด่น สลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าแบบผสมผสาน แตกต่างจากประติมากรรมในยุคเดียวกัน ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในอนาคตต่อไป
สำหรับประเทศไทย มีแหล่งมรดกโลกที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7 แห่งด้วยกัน คือ
1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2534 โดยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของชาวสยามต่อจากสุโขทัย ถูกทำลายโดยกองทัพพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซากปรักหักพังสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาทิ ปรางค์ และอารามขนาดใหญ่แสดงถึงความงดงามและความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2534 โดยสุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของชาวสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 14 สิ่งก่อสร้างจำนวนมากแสดงถึงจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมไทย ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2534 ประกอบด้วยผืนป่าเกือบทุกประเภทที่มีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 77% (โดยเฉพาะช้างและเสือ) 50% ของนกขนาดใหญ่ และ 33% ของสัตว์มีกระดูกสันหลังบกที่พบในภูมิภาคนี้
4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2535 โดยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมสังคมและเทคโนโลยีของมนุษย์ อาทิ การเกษตร การผลิต และการใช้โลหะ
5. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2548 เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กว่า 800 ชนิด ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 112 สายพันธุ์ (รวมทั้งสัตว์น้ำสองสายพันธุ์) สัตว์ชนิดนก 392 สายพันธุ์ และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 200 สายพันธุ์ มีระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่สำคัญซึ่งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์สายพันธุ์เหล่านี้
6. ผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2564 มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese
7. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2566
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก องค์กร UNESCO และ ภาพจาก Manager Online