องค์การยูเนสโก ให้การรับรอง"เกาะแกร์"เป็นมรดกโลกของ กัมพูชา
มรดกโลกของของประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ชื่นชอบในอารยธรรมโบราณของดินแดนอาเซียน เมื่อแหล่งโบราณคดี “เกาะแกร์” หรือที่บ้างคนเรียกว่า พีระมิดเกาะแกร์ ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก
สำหรับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ คร้ังที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ก็ได้รับการรับรองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ นั่นคือ “เกาะแกร์” (ส่วนวาระ “เมืองโบราณศรีเทพของไทย” ถูกบรรจุในวาระการพิจารณาที่ 31 คาดว่าจะอยู่ในช่วงค่ำของวันที่ 18 กันยายน 2566 หรือเช้าวันที่ 19 กันยายน 2566)
เกาะแกร์ มรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศกัมพูชา อยู่ห่างออกไปจากเมืองเสียมเรียบทางตะวันออกเฉียงเหนือราว `127 กิโลเมตร สันนิษฐานว่า เคยมีสถานะเป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรโบราณช่วงสั้นๆ คือ ค.ศ. 928-944
ประวัติการสร้างมรดกโลกแห่งนี้ สันนิษฐานว่าในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ทรงย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรขอมมาที่เมืองเกาะแกร์ ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้ายโศวรมันและการครองราชย์ของพระโอรสที่เมืองพระนครซึ่งอ่อนแอ
พระองค์ได้โปรดให้สร้างปราสาทธมที่เกาะแกร์ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระเทวาราชของพระองค์ตามลัทธิเทวราชา อันแสดงพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่กษัตริย์ที่เมืองพระนครไม่อาจเทียบเทียมได้
อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้ มีงานวิจัยใหม่ที่พบหลักฐานทางโบราณคดีว่า อาจมีการตั้งบ้านเรือนและวัดวาอารามต่างๆ ก่อนยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ในบริเวณนี้ราว 200 ปี
สำหรับลักษณะอันโดดเด่นทางด้านศิลปกรรม ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปราสาทเกาะแกร์ เป็นกลุ่มปราสาทที่ประกอบไปด้วยฐานเป็นชั้น (ปัจจุบันเรียกปราสาทธม) และปราสาทบนพื้นราบ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มปราสาทหลายหลังบนฐานเดียวกัน ด้านหน้าสุดปรากฏโคปุระขนาดใหญ่ซึ่งสร้างด้วยอิฐ ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นพัฒนาการใหม่ทางด้านเทคนิคของปราสาทในศิลปะขอม เนื่องจากปราสาทที่สร้างด้วยอิฐส่วนมากมักมักเจาะประตูได้เพียงด้านเดียว แต่โคปุระของปราสาทเกาะแกร์กลับเจาะประตูได้ทั้งสองด้าน
ถือเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นที่สูงและสง่างามที่สุดในศิลปะขอม เนื่องจากมีฐานซ้อนกันขึ้นไปถึง 7 ชั้น ด้านบนคงเคยประดิษฐานปราสาทประธาน 1 หลัง ปราสาทบนฐานเป็นชั้นในศิลปะเกาะแกร์สามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับปราสาทปักษีจำกรงที่เมืองพระนครอีกหลังหนึ่ง
อาคารยาวๆของปราสาทเกาะแกร์ สร้างด้วยหินทั้งหลังแต่คงเคยมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าประกอบด้วยหน้าจั่วสามเหลี่ยมซึ่งเลียนแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ ที่น่าสนใจก็คือ ที่ปลายหน้าจั่วมีลายตกแต่งเป็นรูปขมวดม้วน ซึ่งอาจกลายมาจากงวงของมกรก็ได้ หน้าจั่วเช่นนี้จะปรากฏอีกกับปราสาทในศิลปะบันทายสรีและบาปวนบางหลัง เช่นปราสาทบันทายสรี ปราสาทพระวิหาร เป็นต้น อนึ่ง น่าสังเกต “รู” ที่หน้าบันซึ่งเคยเป็นเต้ารับแปของเครื่องไม้ซึ่งได้หายไปหมดสิ้นแล้ว