สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง (Abusive relationship)
ความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย (คนมักเชื่อว่าจะเกิดได้แต่กับผู้หญิงเท่านั้น) ซึ่งระดับและรูปแบบของความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละความสัมพันธ์ การคนรับรู้ว่าตนเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงอาจเป็นเรื่องยากเพราะบางครั้งคนเราอยู่กับความสัมพันธ์เหล่านั้นมาเป็นเวลานานจนเกิดเป็นความเคยชินหรือไม่คิดว่าตนเองจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำ สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้หรือไม่ นี่คือสัญญาณที่บอกว่าคุณอาจอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง
1. การทำร้ายทางกาย - นี่รวมถึงการทําร้ายทางร่างกายในรูปแบบใด ๆ เช่นการใช้อาวุธทำร้าย, การขว้างสิ่งของใส่, การแกล้งที่ทำให้เกิดบาดแผลหรือความเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า คุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง
2. การทําร้ายทางจิตใจ - การถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องต่าง ๆ การสร้างความอับอายให้กับคุณ การลดทอนคุณค่า การล้อเลียน และการสร้างความกังวล เป็นสัญญาณของความรุนแรงทางจิตใจ ผู้ทําร้ายอาจใช้คำพูดคุกคาม การสร้างความหวาดกลัว การขู่บังคับ หรือการขู่ว่าจะทำร้ายคนในครอบครัว/สิ่งที่รัก/สัตว์เลี้ยง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอีกคุณได้
3. การบีบให้คุณต้องแยกตัวออกจากสังคม - ผู้ที่ใช้ความรุนแรงมักจะพยายามหาทางแยกคุณจากเครือข่ายทางสังคม (เพื่อน พี่น้อง ครอบครัว ฯลฯ) ทําให้เป็นการยากเมื่อคุณต้องขอความขอความช่วยเหลือ และทำให้คุณต้องคอยพึ่งพาผู้ที่ใช้ความรุนแรงในด้านต่าง ๆ อีกด้วย
4. การควบคุมกิจวัตรประจำวัน - ผู้ที่ใช้ความรุนแรงอาจพยายามควบคุมทุกแง่มุมในของชีวิตของคุณ เช่น อาหารการกิน หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น คนกลุ่มนี้อาจใช้ความอิจฉา ความห่วงใย หรือความกังวล เป็นข้ออ้างในการเข้ามาควบคุมชีวิตของคุณได้
5. การโยนความผิดให้กับคุณ - ผู้ที่ใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะโยนความผิดมาที่คุณ เพื่อทําให้คุณกลายเป็นคนผิดและต้องรู้สึกรับผิดชอบแทน แม้ว่าความผิดนั้นจะเป็นของพวกเขาก็ตาม เช่น เขามาสายแล้วโทษว่าเป็นความผิดของคุณที่ไม่โทรศัพท์ไปปลุก เป็นต้น
6. Gaslighting - เป็นกลยุทธ์การปั่นหัวให้อีกฝ่ายเกิดความสับสนหรือสังสัยกับความคิดของตนเองว่ายังปกติอยู่หรือไม่ เพื่อควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การใช้คำพูดว่าคุณคิดมากไปหรือเปล่า, ที่เขาต้องทำแบบนี้เป็นเพราะว่าเขาเป็นห่วงคุณ หรือการบอกว่าคุณลืมนั่นลืมนี่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่คุณจำได้ว่าคุณไม่ได้ลืม ฯลฯ
7. การควบคุมการเงินของคุณ - เงินถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต การควบคุมการใช้จ่ายเป็นการจำกัดพื้นที่ของคุณว่าคุณทำอะไรได้/ไม่ได้ เช่น การควบคุมว่าคุณควรใช้เงินอย่างไร ควรซื้ออะไรไม่ควรซื้ออะไร เป็นต้น ทำให้คุณต้องไปพึ่งพาผู้ที่ใช่ความรุนแรงอย่างเดียว
8. การถูกละเมิดทางเพศ - แน่นอนว่าในความสัมพันธ์แบบคู่รัก การเรื่องเพศถือเป็นกิจกรรมปกติที่สามารถมีกันได้ แต่การกระทําทางเพศที่คุณไม่ยินยอมรวมถึงการข่มขืน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องในความสัมพันธ์ บางครั้งอาจรวมไปถึงการที่อีกฝ่ายมักเลือกใช้เซ็กซ์เป็นวิธีการในการขอโทษหรือคืนดีกันด้วย
9. การขอโทษที่ซ้ําๆ - หากคุณพบว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายขอโทษอยู่เสมอๆ สําหรับสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของคุณมันอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง
ถ้าคุณสังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้ในความสัมพันธ์ของคุณ เป็นไปได้ว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง เพื่อความปลอดภัย คุณควรขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ หรือขอคําปรึกษาจากนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เพื่อหากับวิธีที่จะออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายนี้และสร้างชีวิตดีขึ้นให้กับตนเอง
อ้างอิงรูปจาก: Kleiton Santos from Pixabay และ Tumisu from Pixabay