อ.เจษฏา โพสแจง ไม่ใช่กระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้ว..นำกลับมาฟอกใหม่!!
ล่าสุด ทางอาจารย์เจษฎาก็ได้โพสต์แจง เรื่องนี้แล้วโดยมีเนื้อหาดังนี้ว่า...
"GB/T 20810 คือ มาตรฐาน กระดาษชำระในห้องน้ำ , GB/T 20808 คือ มาตรฐาน กระดาษทิชชู่ทั่วไป" ของประเทศจีน (แค่นั้นครับ)
ถามกันมาใหญ่เลย เรื่องที่มีคนโพสต์ขอความเตือนภัยเกี่ยวกับ "กระดาษทิชชู่" ว่ากระดาษทิชชู ที่มันราคาถูกและขายดี คือกระดาษทิชชูที่เค้าใช้แล้ว และนำกลับมารีไซเคิลและฟอกขาว ไม่เหมาะจะนำมาเช็ดปากเช็ดมือหรือนำมาสัมผัสกับผิว แต่เหมาะกับการเช็ดโต๊ะเช็ดสิ่งของที่เปื้อน ....โดยให้ดูเลขรหัสบนซอง ถ้าลงท้ายด้วย 810 คือกระดาษทิชชูที่นำกลับมารีไซเคิล / ถ้าลงท้ายด้วย 808 จะใช้เช็ดปากเช็ดผิวหรือร่างกายได้ !?
ใจเย็นๆ ครับ ค่อยๆ ฟังคำอธิบาย (ด้านล่าง) นี้ก่อน ... ก่อนจะแตกตื่นกันโดยใช่เหตุ .. ถึงมันจะมีเลข 810 มันก็ไม่ได้จะทำจาก "กระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้ว" นะครับ
#เลขรหัส810/808นี้คืออะไรกันแน่ ?
ข้อความที่แชร์กันเตือนเรื่องให้ดูเลขรหัส 810 หรือ 808 บนซองกระดาษทิชชู่นั้น จริงๆ แล้วมาจากตัวรหัสเต็มๆ คือ GB/T 20810-2018 และ GB/T 20808-2022
ซึ่งมันคือเลขรหัส ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่เรียกว่า GuoBiao Standards (หรือ GB standards) โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานไว้ 2 ขั้น คือ ขั้นบังคับ (Mandatory) ตามที่กฎหมายบังคับให้ทำตามเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และขั้นแนะนำ (Recommended) ซึ่งเป็นข้อกำหนด ที่ไม่ได้มีการบังคับด้วยกฏหมาย โดยสามารถดูได้จากตัวรหัส ถ้าขึ้นต้นด้วย "GB" จะเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ถ้าเป็น GB/T จะเป็นมาตรฐานแนะนำ (ข้อมูลจาก https://www.gbstandards.org/index.asp)
และเมื่อเราเข้าไปตรวจสอบเลขรหัส GB standards แล้ว จะพบว่า GB/T 20810-2018 เป็นมาตรฐานของ กระดาษชำระในห้องน้ำ Toilet tissue paper (including toilet tissue base paper) ขณะที่ GB/T 20808-2022 เป็นมาตรฐานของ กระดาษทิชชู่ทั่วไป tissue (เลข 2018 และ 2022 เป็นปี ค.ศ. ที่ปรับปรุงมาตรฐานนั้นล่าสุด)
สำหรับมาตรฐาน GB/T 20808 นั้น ก่อนนี้ เคยระบุว่าเป็น กระดาษทิชชู่สำหรับใบหน้า Facial tissue (GB/T 20808-2011) และ ทิชชู่ม้วนไว้สำหรับเช็ดของเปียก Toweling paper (including wet wipes) (GB/T 20808-2006)
ซื่งมาตรฐานเหล่านี้ จะมีเอกสารระบุอย่างละเอียดถึงข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ คุณสมบัติ ไปจนถึงระดับการอนุญาตให้มีสารต่างๆ ปนเปื้อน ถ้าใครสนใจดูรายละเอียด สามารถจ่ายเงินเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ pdf ที่มีข้อมูลของมาตรฐานทั้งหมด มาดูได้ครับ (เป็นภาษาอังกฤษ)
สำหรับประเทศไทยเราเอง ก็มีเลขรหัสมาตรฐานสำหรับกระดาษทิชชู่แบบต่างๆ มอก 214-2560 สำหรับกระดาษชำระ , มอก 215-2560 สำหรับกระดาษเช็ดหน้า , มอก 239 กระดาษเช็ดมือ , มอก 240 กระดาษเช็ดปาก และ มอก 2925 กระดาษอเนกประสงค์ (จาก https://www.chemihouse.com/การทดสอบกระดาษทิชชู่ตา)
#ความแตกต่างระหว่างกระดาษทิชชู่ตามมาตรฐานGB/T20810และGB/T20808
ตามที่เขียนมาข้างต้น ถ้ากระดาษทิชชู่จากประเทศจีน ห่อไหน บอกว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20810-2018 แสดงว่ามันผลิตบนมาตรฐานสำหรับ "กระดาษชำระในห้องน้ำ" และถ้าเขียนว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808-2022 แสดงว่ามันใช้มาตรฐานสำหรับ "กระดาษทิชชู่ทั่วไป"
ซึ่งแน่นอนว่าการนำไปใช้งานก็จะต่างกันด้วย คือ กระดาษชำระในห้องน้ำ ก็ไม่ได้จะมีคุณสมบัติสูง เท่ากับกระดาษที่ทำมาสำหรับเช็ดมือ เช็ดปาก เช็ดหน้า โดยเฉพาะในแง่ของมาตรฐานสุขอนามัย (hygiene standards)
โดยตามมาตรฐานของประเทศจีนนั้น กระดาษทิชชู่ทั่วไป จะผลิตจากเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อบริสุทธฺ์ (Virgin Pulp)" เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เยื่อกระดาษชนิด "เยื่อเวียนใหม่ (Recycled Pulp)" ... ในขณะที่ กระดาษชำระในห้องน้ำ สามารถใช้เยื่อเวียนใหม่ เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้
เยื่อกระดาษที่เป็น “เยื่อบริสุทธิ์” จะเป็นเยื่อใหม่ 100 % ทำให้เนื้อกระดาษมีสัมผัสนุ่มละมุน มักนำไปทำกระดาษเช็ดหน้า และไม่มีสารเรืองแสงตกค้าง / ในขณะที่ "เยื่อเวียนใหม่ หรือเยื่อรีไซเคิล" จะทำมาจากกระดาษที่ใช้งานแล้ว เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร กระดาษพิมพ์เขียน หรือกล่องกระดาษ เอากำจัดหมึกออกและขึ้นรูปใหม่ จึงมีสีขาวขุ่น ผิวขรุขระ มีคุณภาพต่ำลงและราคาถูก รวมถึงมีสารเรืองแสงหรือสารฟอกนวลตกค้าง
นอกจากนี้ ยังมีเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อผสม” ที่เอาทั้งเยื่อบริสุทธิ์และเยื่อรีไซเคิลมาผสมกัน ก่อนนำไปผลิตเป็นกระดาษทิชชู ทำให้มีคุณภาพดีกว่า กระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อรีไซเคิล 100 % แต่ส่วนใหญ่จะมีสารเรืองแสงตกค้าง เพราะมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล
ดังนั้น กระดาษทิชชู่ที่ผลิตต่างมาตรฐานกัน อย่าง มาตรฐาน GB/T 20810 และ GB/T 20808 ก็จะมีทั้งวัตถุดิบที่ต่างกัน มีคุณสมบัติที่ต่างกัน รวมทั้งสารปนเปื้อนด้วย ซึ่งก็ควารนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อเลือกใช้
ตัวอย่างเช่น กระดาษทิชชู่มาตรฐาน GB/T 20808 ก็จะไม่มีพวกสารเรืองแสง (Fluorescent agent) ปนอยู่เลยเนื่องจากใช้เยื่อกระดาษใหม่ และจะความขาว ความสว่าง ต่ำกว่าด้วย เนื่องจากไม่ได้เติมสารเรืองแสงลงไป
หรืออย่างสารอาครีลาไมด์ตกค้าง (Acrylamide monomer residue) ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวและดวงตา รวมถึงอาการแพ้ได้ ก็จะถูกควบคุมให้มีปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมกระดาษ
กระดาษทิชชู่ยังถูกควบคุมเรื่องสุขอนามัยอีกด้วย ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้อย่างเข้มงวดถึงประมาณจำนวนโคโลนีทั่วหมดของเชื้อแบคทีเรียบนกระดาษ ... ซึ่งถ้าซื้อกระดาษจากประเทศจีน จะเห็นเลขรหัส GB15979-2002 อีกตัวด้วย (เพิ่มจาก GB/T 20808 ) ซึ่งก็คือ มาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง " Hygiene Standards for Disposable Hygiene Products" ซึ่งกำหนดให้มีเชือจุลินทรีย์ได้ไม่เกิน 200 cfu/กรัม ขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำ จะมีได้ไม่เกิน 600 cfu/กรัม (จาก https://j.021east.com/p/1645263548040780)
#สรุป เรื่องเลข 810/808 บนกระดาษทิชชู่นั้น เป็นแค่รหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ใช้พิจารณากับกระดาษทิชชู่จากจีนเท่านั้น โดยถ้ามีเลข 808 จะหมายถึงกระดาษทิชชู่ทั่วไป ขณะที่ 810 จะหมายถึงกระดาษชำระในห้องน้ำ ซึ่งคุณภาพและความสะอาดจะต่ำกว่า มีสารเจือปนได้มากกว่า (แต่ไม่ใช่ว่า เอากระดาษชำระที่ใช้แล้ว มารีไซเคิลทำนะครับ)
แถมเรื่อง "วิธีการเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ให้เหมาะสม"
- ควรเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ชนิดต่างๆ ตามลักษณะงานที่จะใช้ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก และควรเลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี
- สังเกตรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากฉลาก พิจารณาถึงวัตถุดิบ วิธีการผลิต และระดับความพรีเมียม ของสินค้า
- กระดาษทิชชู่ที่ดี เนื้อต้องนุ่มละเอียด เวลาลองถูแล้ว ไม่มีเศษผง ขุยกระดาษ หรือผงแป้งออกมา ลองทดสอบความเหนียวของเนื้อกระดาษ โดยการใช้มือจับกระดาษแล้วลองดึงดูว่าขาดง่ายหรือไม่
- ลองดมกลิ่นของกระดาษ ซึ่งต้องไม่ได้กลิ่นของสารเคมีปนมาด้วย (ถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรซื้อกระดาษทิชชู่ที่ใส่กลิ่นหอมมากลบ) และเวลานำไปเช็ดปาก ต้องไม่ได้รสชาติอะไรปนมา ซึ่งอาจมาจากสารเคมีปนเปื้อน
ข้อมูลจาก https://j.021east.com/p/1645263548040780