ประเทศที่จัดสวัสดิการผู้สูงอายุดีที่สุดส่วนประเทศไทยรั้งท้ายอันดับ44
โดยคำนวณดัชนีชี้วัดระบบบำนาญจาก 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1) ความเพียงพอของบำนาญ 2) ความยั่งยืนของระบบบำนาญ และ3) ความครบถ้วนของระบบบำนาญ
- ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นประเทศที่มีการจัดการดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุด อันดับที่ 1 ประจำปี 2565 มีการจัดสรรบำนาญเป็น 3 ระบบ ได้แก่ 1) เงินบำนาญสาธารณะจากภาษีประชาชน จัดเก็บภาษีร้อยละ 15 ของรายได้เฉลี่ย ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ จะได้รับเงินบำนาญสูงสุดถึงร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยเงินบำนาญของรัฐ ซึ่งจะปรับตามอัตราค่าจ้างบุคคลทั่วไปจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี 2) เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพ โดยผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถเบิกเงินบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) และ 3) เงินบำนาญส่วนตัว เป็นสวัสดิการเสริม อาทิ เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่คนเดียว เงินช่วยเหลือยานพาหนะสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงค่ารักษาพยาบาล
ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีการจัดการดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุด อันดับที่ 2 ประจำปี 2565 การจัดสรรเงินบำนาญมี 3 ระบบ ได้แก่ 1) เงินบำนาญของรัฐ จ่ายให้ประชาชนอายุ 66 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 70 ของค่าจ้างสุทธิ ซึ่งทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์ อายุ 15-65 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากรัฐ โดยจะได้รับเงินบำนาญเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 บาทต่อเดือน แม้ไม่ใช่พลเมืองเนเธอร์แลนด์ 2) กองทุนบำนาญสะสม เป็นโครงการเงินบำนาญแบบรวมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือบริษัทรูปแบบคล้ายระบบประกันสังคม และ 3) เงินบำนาญส่วนบุคคล ส่วนใหญ่จัดทำโดยผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานที่ไม่มีกองทุนบำนาญรวม บุคคลทั่วไปสามารถซื้อและจัดการเงินบำนาญหรือการลงทุนได้อย่างอิสระ เช่น ประกันชีวิต หุ้น อสังหาริมทรัพย์
- ประเทศสวีเดน ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ารัฐสวัสดิการดีที่สุด ในด้านของการจัดเก็บภาษี ประกันสังคมและการบริการ ได้รับการอันดับการดูแลผู้สูงอายุดีที่สุด อันดับที่ 9 ประจำปี 2565 โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินบำนาญจากผู้เสียภาษี เมื่อถึงวัยเกษียณ จะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ย 46,306.57 บาทต่อเดือน ซึ่งจำนวนเงินจะแตกต่างออกไปตามจำนวนเงินเดือนที่ได้รับและการสะสมเงินในกองทุนผู้สูงอายุ (old age pension) แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบกองทุนผู้สูงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือยังชีพ (maintenance support) รวมถึงรัฐบาลยังได้มีการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุทีมีปัญหาด้านที่พัก และสำหรับครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเอง จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐเป็นค่าตอบแทน
ประเทศไทย รั้งท้ายอันดับที่ 44 ด้านการจัดการระบบบำนาญ โดยรัฐบาลได้จัดสรรเบี้ยยังชีพคนชรา เป็นเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท และจะปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ มีเพียงการระบุว่าจะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี ล่าสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ได้เผยแพร่ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566” มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่าต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอ หรือ “พิสูจน์ว่าจน” ไม่ใช่แบบถ้วนหน้าอย่างที่ผ่านมา ซึ่งผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกาศระเบียบนี้ให้ยังคงได้รับสิทธิต่อไป