ตำนานการสร้าง พระธาตุเชิงชุม พระธาตุพนม
พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำ จ. สกลนคร มีความเกี่ยวโยงกับตำนาน ประชุมรอยพระพุทธบาท เชื่อว่า พระธาตุเชิงชุมสร้างขึ้นในสมัยที่พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เป็นเจ้าเมืองหนองหารหลวง หรือ จ. สกลนครในปัจจุบัน ราว พุทธศตวรรษที่ 16-18 ยุคเดียวกับการสร้างพระธาตุพนม ชื่อ “เชิงชุม” มาจากตำนานอุรังคธาตุ ตอนพระพุทธเจ้า เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาท ไว้บนแผ่นศิลา ร่วมกับอดีตพระพุทธเจ้าทั้งสาม ทั้งมีพุทธทำนายว่า ในอนาคตพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 แห่งภัทรกัลป์นี้ จะเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทเช่นกัน
ต่อมา แผ่นศิลาจมหายไปในน้ำ ด้วยความศรัทธา พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เจ้าเมืองหนองหารหลวง จึงทรงสร้างเจดีย์ศิลาแลง ครอบบริเวณที่แผ่นศิลาจมหาย เจดีย์นั้น คือพระธาตุเชิงชุม หลักฐานโบราณคดีบ่งชี้ว่า เมื่อแรกสร้าง พระธาตุเชิงชุม เป็นปราสาทหินในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอม ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้รับอิทธิพลล้านช้าง จึงดัดแปลงเป็นพุทธสถาน โดยสร้างเจดีย์ยอดบัวเหลี่ยม แบบศิลปะลาว ครอบทับเจดีย์องค์เดิม พร้อมสร้างสิมไว้ใกล้กัน ต่อมา มีการสร้างวิหารเชื่อม ต่อกับพระธาตุ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระองค์แสน” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร อายุกว่า 100 ปี
ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยครั้งหนึ่ง สัตถาอันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม บรมครูเจ้าของเรา พระองค์เสด็จสําราญพระอิริยาบถ อยู่ในวิหารพระเชตุวนาราม ใกล้กับเมืองสาวัตถีมหานคร ครั้งนั้น พระมหาอานนท์เจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ทูลถามเหตุอุบัติ บังเกิดแห่งพระพุทธเจ้า ซึ่งได้มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ในภัทรกัลปนี้ถึง ๕ พระองค์ มากกว่ากัลปในอดีตอนาคต (ปาง)
ครั้งนั้น องค์สมเด็จพระควันตบพิตร จึงมีพระพุทธฎีกา ตรัสพระสัทธรรมเทศนา เรื่องนิทานกาเผือก ขึ้นแสดงว่า เมื่อก่อน ศาสนาพระพุทธเจ้าประทุมบุตร สัมมาสัมพุทธเจ้าอันล่วงไปแล้ว ยังมีพระโพธิสัตว์เจ้า ๕ พระองค์พี่น้อง ได้เสวยพระชาติเป็นลูกกาเผือก คือครั้งนั้น ยังมีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง จุติจากชาติ อันเป็นพรหมชั้นสุธาวาส มาบังเกิดเป็นกาเผือก ทรมานพระชาติในชมพูทวีป ตามบุพพกรรม นางกาเผือกตัวนั้น ได้ไปทํารังที่ต้นไม้อุทุมพร ไม้เดื่อ ริมแม่น้ำคงคานที นางกาเผือก ถ่ายฟองออกวันเดียวมี ๕ ฟองๆ กาเผือกทั้ง ๕ ฟองนั้น พระโพธิสัตว์เจ้า ๕ พระองค์พี่น้อง มาอุบัติบังเกิดในฟองไข่กาเผือกด้วย ด้วยกรรมกุศล นางกา ฟักกกไข่นั้น อยู่ครบไตรมาส ๓ เดือน ไข่ก็ไม่แตกไม่เบาะ นางกาอดทนความหิวไม่ได้ ก็เที่ยวไปหาอาหารเลี้ยงชีพ ในวันนั้น เกิดอุบัติเหตุลมพายุใหญ่ พัดมาทางทิศเหนือ อุดร ทั้งห่าฝนก็ตกมาหนัก ลมพายุ ก็พัดหักต้นไม้เดื่อลงไปในแม่น้ำคงคา ลมพัดเอาไข่กาเผือก ให้พรากจากกันไปคนละหนละแห่ง
ไข่ฟองที่ ๑ ไปตกค้างอยู่ที่เกาะไก่ ริมหนองหารหลวง แม่ไก่ในเกาะนั้น เอาไปฟักไปกก ก็เกิดเป็นไก่ผู้เผือกตัวหนึ่ง ให้นามตามโคตรของแม่เลี้ยงว่า กุกุสันโธ
ไข่ฟองที่ ๒ ไปตกค้างอยู่ที่เกาะนาคแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำคงคา แม่นาคในเกาะนั้น เอาไปฟักไปกก ก็เกิดเป็นนาคผู้เผือกตัวหนึ่ง ให้นามตามโคตรของแม่เลี้ยงว่า โกนาคมโน
ไข่ฟองที่ ๓ ไปตกค้างอยู่ที่เกาะเต่าแห่งหนึ่ง แม่เต่าในเกาะนั้น เอาไปฟักไปกก ก็เกิดเป็นเต่าผู้เผือกตัวหนึ่ง ให้นามตามโคตรของแม่เลี้ยงว่า กัสสโป
ไข่ฟองที่ ๔ ไปตกค้างอยู่ที่ป่าโคแห่งหนึ่ง แม่โคในป่านั้นเอาไปฟักไปกก ก็เกิดเป็นโคผู้เผือกตัวหนึ่ง ให้นามตามโคตรของแม่เลี้ยงว่า โคตโมฯ
ไข่ฟองที่ ๕ ไปตกค้างอยู่ที่สวนตรีพราหมณ ชาวศักยราช ในแคว้นเมืองกรุงอุดร ปัญจมหานครพราหมณ์ ๓ สหายไปเที่ยวชมสวน จึงพบไข่นั้น เห็นแปลกกว่าไข่สัตว์ธรรมดา พราหมณ์ทั้ง ๓ ก็เอาไปให้นางสิงหพรามณีทั้ง ๓ ผู้เป็นภรรยา ฟักกกไข่ไว้ที่บ้านของตน ไข่นั้นแตกเบาะ ก็บังเกิดเป็นมนุษย์ผู้ชายผู้หญิง มีรูปโฉม ผิวพรรณงดงาม บริสุทธิ์ยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลาย นางสิงหพราหมณีทั้ง ๓ ให้นามตามโคตรสกุลของตนผู้เป็นแม่เลี้ยงว่า อริยไมตรีบุตร อริย แปลว่า ชาติอริยก หรือวงษ์อริยเจ้า ไมตรี แปลว่า พราหมณ์ทั้ง ๓ มีไมตรีจิตต่อกันเป็นอันดี
ครั้นเมื่อลมสงบแล้ว นางกาเผือก ก็รีบกลับมาสู่รังของตน เห็นต้นไม้เดื่อที่ทํารังอยู่นั้น หักลงในน้ำ รังไข่ของตน น้ำก็พัดหายไป นางกาเผือกมีความโทมนัสยิ่งนัก ถึงกับอกแตกแยกออกเป็น ๒ ซีก ถึงแก่มรณกรรม แล้วไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ชั้นสุทธาวาส ปรากฏนามว่า ท้าวพกามหาพรหม มีอายุยืนได้ ๘ หมื่นปี ด้วยเดชะผลกุศล อันตนได้สร้างสมอบรมไว้หลายชาติ ก็มีในกาลนั้นแล
พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ อันแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และนางพราหมณี ภรรยาตรีพราหมณ์เลี้ยงไว้นั้น ต่างองค์ก็เจริญวัยขึ้นได้ ๑๖ ขวบบริบูรณ์ นางแม่เลี้ยง ต่างก็เล่าให้บุตรของตนฟัง ตามเหตุอันมี พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อได้ฟังสุนทรวาจาของมารดาเลี้ยง ดังนั้นแล้ว ก็ต่างองค์ต่างคิดว่า เราอยู่ด้วยแม่เลี้ยงของเรา ก็คงไม่เห็นหน้าแม่เกิดของตนเป็นแน่ คิดแล้วดังนั้น ต่างองค์ก็กล่าวสุนทรวาจา ลาแม่เลี้ยง ไปเที่ยวหาแม่เกิด ถ้าไม่พบ ก็จะรักษาศีลเมตตาภาวนา ปรารถนาพระพุทธภูมิ แม่เลี้ยงก็กล่าววาจาให้พร อนุญาตตามความปรารถนา และสั่งว่า เมื่อสําเร็จพระพุทธภูมิเจ้า อย่าละทิ้งนามโคตรของแม่เลี้ยงเจ้าเถิด พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ต่างก็ได้รับพระอนุญาตมารดาเลี้ยงของตน ต่างองค์ก็เที่ยวไปหาแม่เกิด ในกาลนั้นแล
ปฐโม กุกุสนฺโธ พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๑ เมื่อเที่ยวไปหาแม่เกิดของตนไม่พบ จึงคิดว่า เราจะกลับไปรักษาศีล จําเริญเมตตาภาวนา อยู่ที่เกาะไก่ ซึ่งเป็นถิ่นของแม่เลี้ยง เมื่อพระองค์กลับไปถึงเกาะไก่ ได้เห็นไม้ชัยพฤกษ์ต้นหนึ่ง มีดอกใบร่มเงาอันดี เป็นร่มนิยสถานอันอุดม พระองค์ก็เข้าไปสมาทานรักษาศีล สร้างสมพรหมวิหาร อยู่ใต้ร่มไม้ชัยพฤกษ์ ปรารถนาพระพุทธภูมิไม่นานเท่าใด
ทุติโย โกนาคมโน พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๒ เมื่อเที่ยวไปหลายหนหลายแห่ง เมื่อไปถึงเกาะไก่ ได้เห็นไก่ นิ่งหลับตาอยู่ที่ร่มไม้ชัยพฤกษ์ โกนาคมโนนาคได้เห็น ก็คิดว่าไก่เคยเป็นอาหาร จึงด้อมเข้าไปจะกัดเอาไก่ เป็นภักษาหาร ไก่รู้สึกจึงถามว่า ท่านจะทําไมแก่เรา นาคตอบว่า เราจะกัดเอาท่านเป็นภักษาหาร ไก่กล่าวว่า เออ ถ้ากระนั้นจงหยุดอยู่หน่อยเถิด พอให้เราภาวนาเมตตา พรหมวิหารจบบทก่อน นาคได้ฟังดังนั้น ก็นึกประหลาดใจ ว่าไก่ไม่มีความกลัว นาคจึงถามว่า ท่านภาวนาพรหมวิหารนั้น ปรารถนาเพื่อประสงค์สิ่งใด ไก่ตอบว่า ปรารถนาเพื่อประสงค์พระพุทธภูมิ เพื่อจะได้พบแม่เกิดของเรา นาคถามต่อไปว่า นามโคตรและมารดาของท่านชื่อใด ไก่บอก นามโคตรมารดาเลี้ยงของเรากุกุสันโธ มารดาเกิดของเรานั้น ชื่อใดก็ไม่ทราบ แม่เลี้ยงบอกว่า ได้ไปพบไข่ลูกหนึ่ง ไม่รู้ว่าไข่อะไร ลมพัดมาตกอยู่ที่เกาะไก่นี้ แม่ไก่ก็เอาไข่นั้นไปฟักไปกก เราก็เกิดมาเป็นไก่เผือก จึงสามารดาเลี้ยง มารักษาศีลภาวนาอยู่ในที่นี้ เมื่อนาคได้ฟังดังนั้น ก็มีความปีติ ชื่นบานใจ เพราะได้รู้ว่า ไก่เป็นพี่ของตน เอานามของแม่เลี้ยงเป็นนามโคตรอย่างเดียวกัน นาคจึงสมาทานศีลจําเริญเมตตาภานา สร้างสมอบรมพระบารมีอยู่ด้วยกันกับไก่ ไม่ช้าไม่นานเท่าใด
ตติโย กสฺสโป พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๓ อันแม่เต่าเอาไปเลี้ยงนั้น ได้เที่ยวไปหาแม่เกิดของตน หลายหนหลายแห่งไม่พบ เมื่อไปถึงเกาะไก่ ได้เห็นไก่กับนาคซึ่งเป็นศัตรูกัน และอยู่ด้วยกัน โดยความปรองดองสมาคมกันดี เต่าเห็นเป็นการอัศจรรย์ จึงเข้าไปถาม ไก่กับนาคจึงเล่าให้เต่าฟังแต่ต้น จนอวสาน เต่าได้ฟังดังนั้นจึงรู้ว่า ไก่กับนาคเป็นพี่ของตน เกิดฟองไข่อันเดียวกัน เอานามแม่เลี้ยงเป็นนามโคตรอย่างเดียวกัน เต่าจึงขอสมาทานศีล สร้างสมอบรมพระบารมีอยู่ด้วยกัน ต่อมาไม่ช้าไม่นานเท่าใด
จตุโถ โคตโม พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๔ อันแม่โคเอาไปเลี้ยงนั้น เดินเที่ยวไปหาแม่กิดของตน หลายหนหลายแห่ง ไม่พบ เมื่อไปถึงเกาะไก่ ได้เห็นไก่กับนาคและเต่าอยู่ด้วยกัน รักใคร่ไมตรีต่อกันดี โคเห็นนึกแปลกใจ เพราะสัตว์ต่างชาติมาอยู่ด้วยกันเป็นอันดี โคจึงเข้าไปถาม ไก่กับนาคและเต่า จึงเล่าเรื่องที่เกิดที่เป็นมานั้น ให้โคฟังตั้งแต่ต้นจนปลาย โคได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มีความยินดีว่าไก่กับนาคเป็นพี่ของตน เกิดในฟองไข่ เอานามแม่เลี้ยงเป็นนามโคตรเหมือนกัน โคจึงขอสมาทานศีล สร้างสมอบรมพระบารมีอยู่ด้วยกัน ไม่ช้าไม่นานเท่าใด
ปญฺจโม อริยเมตฺไตรโย พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๕ อันนางพราหมณีเอาไปเลี้ยงนั้น เมื่อลามารดาเลี้ยงแล้ว ก็ไปเที่ยวทางทิศอุดร ไม่ทราบเหตุผลอันใด จึงเดินทางไปทิศอิสาน ถึงเกาะไก่ บริเวณหนองหารหลวงใหญ่ ได้พบไก่ นาค เต่า โค อยู่ด้วยกันในความสมาคม อริยไมตรี จึงเข้าไปไต่ถามได้ความว่า ไก่และนาค เต่า โค เกิดด้วยฟองไข่ มีแม่เลี้ยงเป็นสัตว์ต่างชาติ เอานามแม่เลี้ยงเป็นนามโคตรเหมือนกัน ปรารถนาก็อย่างเดียวกัน อริยไมตรีจึงรู้ว่า ไก่ นาค เต่า โค เป็นพี่ของตน จึงขอสมาทานรักษาศีล จําเริญเมตตาภาวนาอยู่ด้วยกันที่เกาะไก่ ได้ ๓ ปี ก็ไม่พบแม่เกิดของตน อริยไมตรี จึงปรึกษาพี่ทั้ง ๔ ว่า เราทําความเพียรอยู่ในที่นี้ครบ ๓ ปีแล้ว ยังไม่พบแม่เกิดของเรา ดังความปรารถนา ควรเราจะเที่ยวไปทางทิศประจิม และทักษิณ ไก่จึงกล่าวว่า ที่นี้เป็นถิ่นที่เกิดของเรา พี่น้องก็ได้มาพบกันรู้จักกันในที่นี้ จึงได้พร้อมกัน ทั้งปณิธานความปรารถนาพระพุทธภูมิ ในต้นไม้ชัยพฤกษ์ต้นนี้ นับว่าที่นี้ เป็นที่ประเสริฐอุดมอันหนึ่ง ไม่ควรเราจะลืมบุญคุณไม้ชัยพฤกษ์ต้นนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ จึงพร้อมกันให้ปฏิญาณสัญญาต่อกันไว้ว่า ถ้าผู้ใดได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูก่อน ให้มาเหยียบรอยพระบาทไว้ในที่นี้ เป็นเครื่องหมาย
เมื่อตกลงกันแล้ว ก็พร้อมกันลาต้นไม้ชัยพฤกษ์สถาน เที่ยวไปในทิศประจิม ภาคเหนือ ถึงดอยอันหนึ่ง มีนามว่า สิงคุตระ มีดอยน้อยเป็นบริวาร ๙ ลูก ดอยสิงคุตระนี้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานที เป็นที่บรมนิยสถานอันอุดม พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ มีความปิติโสมนัส ด้วยสถานอันประเสริฐ จึงพร้อมกันสมาทานศีล รักษาสัจปฏิบัติ สร้างสมอบรมพระบารมีอยู่ด้วยกันในที่นั้น และได้ปฏิญาณสัญญากันว่า ถ้าไม่พบแม่เกิดของเราในที่นี้ เราจักไม่ไปจากที่นี้เลย หากอายุสังขารจะสูญดับไปเสียก็ตามเถิด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ก็กระทําความเพียรเมตตาภาวนา พรหมวิหารเป็นปกติทุกอิริยาบถ ได้ถึง ๖ ปี ก็ยังไม่พบพานมารดาเกิด อริยไมตรี จึงกล่าววาจากับพี่ทั้งหลายว่า เราสร้างสมอบรมพระบารมีอยู่ในที่นี้นาน ๖ ปี แล้วควรเราจะตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ถ้าจะสําเร็จพระพุทธภูมิตามความปรารถนา ขอให้ได้พบมารดาเกิด ผู้ใดเป็นมารดาเกิดของเรา จงมาปรากฏแก่เราในกาลบัดนี้เทอญ พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อตกลงกันแล้ว ต่างองค์ก็ต่างอธิษฐาน ความปรารถนาตามสัญญานั้น เดชะพระบารมี ที่สร้างสมอบรมพระบารมี มาแต่ปางก่อนหลายชาติ ความนั้น ก็ไปปรากฏแก่ทิพยโสตร ท้าวพกามหาพรหม ชั้นสุทธาวาส ท้าวพกามหาพรหม ผู้เป็นมารดาเกิด ของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ เล็งญาณไปก็รู้แจ้งแทงตลอด ด้วยทิพยจักษุว่า บุตรของตนยามเมื่อเกิดเป็นชาติกาเผือก ก็ยังอยู่ด้วยกันทั้ง ๕ พระองค์ เป็นหน่อพระพุทธางกูร ท้าวพกามหาพรหมก็อธิฐานตนให้เป็นกาเผือก มีขนและปีกหางขาวบริสุทธิ์ ร่างกายใหญ่โต องอาจงดงาม เสด็จร่อนเร่ มาปรากฏประดิษฐานอยู่ ณ ท่ามกลางพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ก็มีในกาลบัดนั้นแล
กาโก พรฺหมพกาโย กาเผือกพรหม จึงกล่าวสุนทรวาจาว่า ตตา ดูก่อน เจ้าทั้ง ๕ เป็นบุตรแห่งแม่นี้แท้จริง เมื่อแม่เป็นชาติกาเผือกปางนั้น แม่ได้มาทํารัง อยู่ที่ต้นไม้มะเดื่อ ริมฝั่งแม่น้ำคงคานที ใกล้กับที่อยู่แห่งเจ้าทั้งหลายในเวลานี้ แม่ถ่ายฟองออกวันเดียว ๕ ฟอง แม่พยายามฟัก กกไข่อยู่ ๓ เดือน ไข่ก็ไม่แตกไม่เบาะ ในวันหนึ่ง แม่ละทิ้งไข่ไว้ ไปเที่ยวหาอาหารเลี้ยงชีพ พอเป็นเครื่องกันความหิว ก็บังเกิดมีลมพายุกล้ามาทางทิศเหนือ ลมก็พัดหักเอาต้นไม้เดื่อ ลงไปที่น้ำคงคานที เมื่อลมหยุดสงบแล้ว แม่กลับมาไม่เห็นไข่ อกแม่แตกตายไป แม่ไปเกิดในชั้นพรหมสุทธาวาส ประสงค์จะให้ลูกเห็นรูปทรงของแม่ แต่เมื่อยังเป็นชาติกาเผือก ในกาลครั้งนั้นแล
เมื่อนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ เห็นแม่มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ตามความปรารถนาแล้ว ก็พร้อมกันทั้งเบ็ญจางคประดิษฐ์ ไหว้นบเคารพ แล้วทําประทักษิณครบตติยวาร ๓ รอบ ประกอบด้วยปีติชื่นบาน พระองค์ทั้ง ๕ จึงขอประทานพรต่อพระมารดา และว่า ได้ปรารถนาพระพุทธภูมิในเบื้องหน้า ถ้าไม่สําเร็จในพระสัพพัญญู ขอให้ได้มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า รวมภัทธกัลป์อันเดียวกัน ในอนาคตกาลโน้นเทอญ
ในกาลครั้งนั้น ท้าวพกามหาพรหมผู้มารดา จึงกล่าวสุนทรวาจาด้วยความอ่อนหวาน ประทานพรแก่บุตรทั้ง ๕ พระองค์ ว่าให้สําเร็จพระพุทธภูมิ ตามความปรารถนาเทอญ กล่าวแล้วดังนั้น ก็นฤมิตรประทีปตีนกา ให้พระองค์ละคู่ เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหม ให้ประทีปตีนกาแด่พระองค์ทั้ง ๕ แล้ว ก็กลับกลายหายไป สู่ชั้นพรหมสุทธาวาส ตามเดิม
เมื่อนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ จึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ที่นี้ ก็เป็นที่อันประเสริฐแห่งหนึ่ง เพราะได้มาพบมารดาเกิดของเรา สมความปรารถนา พระมารดาก็ได้ประทานพรและประทีป ในที่นี้ไม่ควรลืมบุญคุณไม้นิโครธต้นนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้ง ๕ พระองค์ จึงสัญญาตกลงกันไว้ว่า เมื่อผู้ใดสําเร็จพระสร้อยสัพพัญญูตามความปรารถนา ให้นําบริขาร หรือธาตุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาประดิษฐานบูชาไว้เป็นเครื่องหมาย ที่ดอยสิงคุตระนี้เทอญ เมื่อกระทําปฏิญาณสัญญากันแล้ว ต่างองค์ ก็เที่ยวไปในที่ต่างๆ กระทําเพียรสร้างสมอบรมพระบารมี ตามอุปนิสสัยสู้ทน เวียนว่ายไปมาหลายชาติ ก็มีในกาลบัดนั้นแล เมื่อมาถึงภัทธกัลป์นี้
ปฐโม กุกุสนฺโธ พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๑ ที่เป็นวิปัจจิตัญญูโพธิสัตว์ ท่านสร้างสม อบรมพระบารมีมาได้ ๘ อสงไขยแสนมหากัลป์ เรียกว่าศรัทธาธิกยิ่งด้วยศรัทธา ได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญู ในต้นภัทธกัลป์นี้ก่อน พระองค์ก็ได้เสด็จโปรดสัตว์โลก ให้พ้นจากวัฏฏสงสาร ตามประเพณีพระพุทธภูมิ แล้วพระองค์ เสด็จไปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ไว้ที่เกาะไก่ พระยาสุวรรณนาค เสก็ดเป็นทองคํา นําหินศิลามาถวายรองรับรอยพระบาทตามสัญญา ที่ต้นไม้ชัยพฤกษ์ ๆ ก็อันตรธานหายไป แล้วพระองค์ ก็เสด็จไปสถาปนาไม้ทัณฑะ (ไม้เท้า) เครื่องบริขาร ไว้ที่ดอยสิงคุตระเป็นเครื่องหมาย ต้นไม้นิโครธนั้นก็อันตรธานหายไป พระองค์ ก็เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ในกาลนั้นแล พระชนม์ ๖๐,๐๐๐ ปี พระศาสนา ๖๐,๐๐๐ ปี
ทุติโย โกนาคมโน พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๒ ที่เป็นพระวิปัจจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาได้ ๘ อสงไข แสนมหากัลป์ เรียกว่าศรัทธาธิกยิ่งด้วยศรัทธา ได้มาตรัสพระสัพพัญญในภัทรกัลปนี้ พระองค์เสด็จโปรดสัตว์โลก ให้พ้นจากวัฏฏสงสาร ตามประเพณีพระพุทธภูมิ แล้วพระองค์ เสด็จไปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ไว้ที่เกาะไก่ พระยาสุวรรณนาคเสก็ดเป็นทองคํา นําหินศิลา ผุดขึ้นมาจากพื้นพระสุทธา มารองรับรอยพระพุทธบาท แล้วพระองค์ เสด็จไปประดิษฐานธรรมการก เครื่องบริขาร ไว้ที่ดอยสิงคุตระ เป็นเครื่องหมายตามสัญญา พระองค์ก็เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ก็มีในกาลนั้นแล พระชนม์ ๔๐,๐๐๐ ปี พระศาสนา ๔๐,๐๐๐ ปี
ตติโย กัสสโป พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๓ ที่เป็นวิปัจจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาได้ ๘ อสงไขย แสนมหากัลป์เรียกว่า ศรัทธาธิกยิ่งด้วยศรัทธาได้มาตรัสพระสัพพัญญู ในภัทธกัลป์นี้ พระองค์เสด็จโปรดสัตว์โล กให้พ้นจากวัฏฏสงสาร ตามประเพณีพระพุทธภูมิ แล้วพระองค์เสด็จไปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ไว้ที่เกาะไก่ พระยาสุวรรณนาคเสก็ดเป็นทองคํา นําหินศิลาผุดขึ้นมารองรับรอยพระพุทธบาทไว้ แล้วพระองค์เสด็จไปประดิษฐาน สถาปนาผ้าอุตราสงฆ์จีวร เครื่องบริขาร ไว้ที่ดอยสิงคุตระตามสัญญา แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ก็มีในกาลนั้นแล พระชนม์ ๒๐,๐๐๐ ปี พระศาสนา ๒๐,๐๐๐ ปี
จตุโถ โคตโม พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๔ คือตถาคตในปัตยุบันนี้ ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาได้ ๔ อสงไขย แสนมหากัลป์ นับด้วยความแก่กล้าชื่อว่า อุคคติตัญญูโพธิสัตว์ เรียกว่า ปัญญาธิกยิ่งด้วยปัญญา ได้มาตรัสพระสัพพัญญูในภัทรกัลป์นี้ เที่ยวโปรดสัตว์โลกตามประเพณีพระพุทธภูมิ แล้วจะได้เสด็จไปสถาปนา รอยพระพุทธบาทเบื้องขวาของเราตถาคต ไว้ที่เกาะไก่ ยามนั้นพระยาสุวรรณนาคเสก็ดเป็นทองคํา จะได้นําหินศิลาผุดขึ้นมาจากพื้นพระสุทธาดล ที่รวมชุมรอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ที่ล่วงเข้าสู่พระปรินิพพานแล้วนั้น มารองรับรอยพระบาทของเราตถาคต ไว้ตามสัญญา เราตถาคต ก็ได้ให้ ตปุสส พัลลิก สองพี่น้อง ซึ่งแรกรับ เป็นอุบาสกสรณาคม นําเอาพระเกศาธาตุของเรา ๘ เส้น ไปประดิษฐานไว้เป็นเครื่องหมาย เมื่อสิ้นพระสาสนาของเรา ตถาคตครบ ๕,๐๐๐ พระพรรษาแล้ว ปัญจโม อริยเมตไตรโย พระโพธิสัตว์เจ้าองค์ที่ ๕ พระองค์ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาได้ ๑๖ อสงไขแสนมหากัลป์ เรียกว่าวิริยธิกตัญญู โพธิสัตว์ยิ่งด้วยความเพียร จะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูในภัทธกัลป์นี้ พระองค์ก็จะได้ สถาปนารอยพระพุทธบาทเบื้องขวาของพระองค์ ไว้ที่เกาะไก่ ตามสัญญาอย่างพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ที่ล่วงเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว พระชนมายุพระพุทธโคดมได้ ๘๐ ปี พระศาสนา ๕,๐๐๐ ปี เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
พระพุทธโคดมบรมครูเจ้าของเรา ทรงเทศนาให้พระมหาอานนท์เถรเจ้า กับพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปฟัง ในเมื่อทูลถามที่พระวิหาร พระเชตุวนาราม ก็จบลงเพียงนี้
ในครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระพุทธโคดมบรมครูเจ้าของเรา พระองค์ พร้อมด้วยพระสาวก อรหันตขิณาสพ ๑,๕๐๐ เป็นบริวาร มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นประธาน เสด็จไปบิณฑบาตร์ ที่เมืองโคตรบูรณ พระยาศรีโคตรบูรณ ถวายภัตตาหารแล้ว พระองค์เสด็จไปฉันที่ภูกําพร้า พระพุทธองค์จึงพิจารณาตามพระพุทธประเพณี แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ที่นี้ เป็นที่บรรจุพระธาตุหัวอก ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ เข้าสู่พระปรินิพพาน พระมหากัสสปเถรเจ้า จะได้นําธาตุหัวอกของเราตถาคต มาสถาปนาไว้ในที่นี้ ตามพุทธประเพณี และยังมีอีกแห่งหนึ่ง ที่ภูน้ำลอดเชิงชุม พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ได้เสด็จไปประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ตามสัญญา เป็นเครื่องหมาย พระมหากัสสปเถรเจ้า รับพระพุทธฎีกา แล้วพระองค์ ทําภัตตากิจบริบูรณ์แล้ว พระองค์ พร้อมด้วยพระสาวกอรหันต์ ๑,๕๐๐ เสด็จไปยังภูน้ำลอดเชิงชุม ขณะนั้นพระยาสุวรรณพิงคละ เจ้าเมืองหนองหารหลวง พาบริวารไปรับเสด็จพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ ทําปาฏิหาริย์ ให้พระยาพิงคละและบริวาร เห็นเป็นอัศจรรย์ คือแสดงให้มหารัตนมณี ๓ ดวง เสด็จออกจากพระโอษฐ์ ตามกันออกมาแล้วหายไป แล้วมีมหารัตนมณี ๑ ดวง เสด็จออกมาจากพระโอษฐ์อีก มีรัศมีรุ่งโรจน์โชติชัชวาล ทั่วทั้งอากาศนภาดล คนทั้งหลายเห็น ขนพองสยองเกล้า พระยาสุวรรณพิงคละ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ถามปัญหาในข้ออัศจรรย์ พระพุทธองค์จึงมีพระพุทธฎีกา ตรัสพระสัทธรรมเทศนา ในข้อปัญหาว่า ที่นี้ เป็นที่อันประเสริฐหนึ่ง แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งได้ตรัสสัพพัญญูเป็นพระพุทธเจ้า ในภัทธกัลป์นี้ทุกพระองค์ เมื่อจวนจะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ในที่นี้ รัตน ๓ ดวงก็คือ ดวงที่ ๑ พระเจ้ากุกุสันโธ ดวงที่ ๒ ก็คือพระเจ้าโกนาคม ในดวงที่ ๓ ก็คือ พระเจ้ากัสสโป ดวงที่ ๔ ซึ่งเสด็จออกมาทีหลัง ก็คือองค์สัมมาสัมพุทธโคดมนี้แล เมื่อหมดพระศาสนา พระตถาคตครบ ๕,๐๐๐ พรรษาแล้ว ยังจะมีพระศรีอริยเมตไตรย์เจ้าองค์หนึ่งได้ตรัสสัพพัญญู เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธกัลป์นี้ พระองค์ ก็จะเสด็จมาประชุมรอยพระพุทธบาท ไว้ในที่นี้อีก จึงจะหมดภัทธกัลป์
ขณะนั้น พระยาสุวรรณนาคเสก็ดเป็นทองคํา ผู้รักษารอยพระพุทธบาท นําหินศิลาผุดลอดขึ้นมาจากพื้นพระสุธาดลพิภพ ตั้งเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย พระองค์จึงชี้เหตุผล ให้พระยาสุวรรณพิงคละเห็นว่า นี่รอยพระพุทธบาทพระเจ้ากุกุสันโธ นี่รอยพระพุทธบาทโกนาคมโน นี่รอยพระพุทธบาทพระเจ้ากัสสโป และพระองค์ ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนา เรื่องราวนิทานกาเผือก ที่ได้มาประชุมพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพระพุทธภูมิ ที่เกาะไก่นี้ เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนาแล้ว พระองค์ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาของพระองค์ ทับซ้อนลงไว้ที่แผ่นศิลานั้น เมื่อนั้นพระยาสุวรรณพิงคละ ได้เสด็จฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ ก็มีความยินดีปรีดาปราโมทย์ ในพระสัทธรรมเทศนา เพราะบ้านเมืองของตนได้อยู่ในสถานที่อันประเสริฐ
พระยาสุวรรณพิงคละ ชักพระขรรค์ จะตัดศีรษะของตน ออกบูชารอยพระพุทธบาท ฝ่ายนางนารายเจงเวงราชเทวี เห็นพระองค์ทรงพระปัญญาวิปลาศ ดังนั้น จึงเข้ากุมแย่งพระขรรค์จากพระกรพระองค์ไว้ได้แล้วทูลว่า เมื่อพระองค์ทรงชีพอยู่ยืนนาน ก็จะได้ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ บํารุงรักษารอยพระพุทธบาท สืบพระพุทธสาสนาต่อไป พระยาสุวรรณพิงคละ ได้ทรงฟังพระนางนารายเจงเวงราชเทวี ทูลตักเตือน ดังนั้น ก็มีพระสติระลึกได้ ทรงเลื่อมใสในรอยพระพุทธบาท พระยาสุวรรณพิงคละ ก็ถอดกระโจมหัวคํา มงกุฏกษัตริย์อันมีค่าแสนตําลึงทอง สรวมลงในรอยพระพุทธบาทเป็นเครื่องบูชา แล้วพระยาสุวรรณนาคเสก็ดเป็นทองคํา ก็นําหินศิลาอันบรรจุรอย พระพุทธบาทพระพุทธเจ้า จมลงไปสู่พื้นพสุธา พระยาสุวรรณพิงคละ จึงขออนุญาตก่อพระสถูปเจดีย์ สวมที่หินรอยพระพุทธบาทจมลงไปในนั้น ไว้เป็นเครื่องหมาย พระพุทธองค์ทรงอนุญาต แล้วพระยาสุวรรณพิงคละ ก็อาราธนาพระพุทธองค์ กับพระอรหันต์ขีณาสพ ๑,๕๐๐ องค์ ไปรับจังหันบิณฑบาตรที่พระราชวังของพระยาสุวรรณพิงคละ พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑,๕๐๐ กระทําภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็กระทําภัตตานุโมทนา ซึ่งทานแห่งพระยาสุวรรณพิงคละ เสร็จแล้ว พระองค์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑,๕๐๐ เสด็จไปบรรทมที่ดอยคูหา พระแท่นศิลาอาสน์ แล้วเสด็จไปยังเมืองกุสินาราย ก็มีในกาลนั้นแล
ฝ่ายพระยาสุวรรณพิงคละ และนางนารายเจงเวงราชเทวี พร้อมด้วยบริวารไพร่พล สร้างอูปมุงสวมที่หินศิลา รวมชุมรอยพระพุทธบาทจมลงไปนั้นแล้ว ด้วยหินศิลาก่อเป็นเจดีย์ พระยาสุวรรณพิงคละ จึงให้นามว่า พระเจดีย์ธาตุปาทโรมชุม พระคันถรจนาจารย์เจ้า จึงผูกประพันธ์พระคาถาไว้ว่า จตุภควา พุทธปาทเจติยํ ปัญจปาทวรํ ฐานํ อหํวนฺทามิ อธิบายคําในพระคาถาว่า บุคคลผู้ใดจะนมัสการ บูชาพระเจดียสถานอันนี้ ให้กล่าวคําตามพระคาถานั้น แล้วจึงระลึกถึงพระนาม และพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า กุกุสันโธ โกนาคมโน กัสสโป โคตโม อริยเมตไตรโย ดังนี้ ๓ หน แล้วจึงกราบลง ปรารภอย่างใด แล้วแต่ความประสงค์เทอญ
ครั้นเมื่อเดือน ๖ เพ็ญ วันพุธ ปีชวด พระยาสุวรรณพิงคละ ได้ข่าวว่า พระบรมคยะมุณีศรีสรรค์เพ็ชร์ พระพุทธเจ้าของเรา เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถรเจ้า กับพระอรหันต์ ๕๐๐ พระองค์ นําเอาอุรังคธาตุพระพุทธเจ้า มาประดิษฐานไว้ที่ภูกําพร้า พระยาสุวรรณพิงคละ จึงประชุมเสนาอํามาตย์ราษฎรทั้งหลาย ด้วยความคิดถึงบุญญาพระบารมี พระสัมมาสัมพุทโธเจ้า ควรเราทั้งหลายสร้างอูปมุงคอยอุรังคธาตุ ไว้สถาปนาเป็นเครื่องสักการบูชา สืบพระพุทธสาสนาต่อไป เสนาอํามาตย์ราษฎรทั้งหลายชายหญิง มีความชื่นชมยินดี แต่ความศรัทธาแตกเป็น ๒ พวก พวกชาย พอใจที่จะก่ออูปมุงไว้ที่ดอยคูหา ซึ่งเป็นพระแท่นบรรลังค์ พระพุทธองค์เคยเสด็จมาบรรทมที่นี้ พระยาสุวรรณพิงคละ ก็เห็นชอบด้วย พวกผู้หญิง นางนารายเจงเวงเป็นประธาน พอใจจะสร้างอูปมุงไว้ที่สวนราชอุทยานเจงเวง และจะก่อสะพานด้วยหินแร่ตามถนนออกจากเมือง ไปให้ถึงราชอุทยานเจงเวง เพื่อให้สดวกแก่การไปมานมัสการบูชาพระธาตุได้ทุกฤดูกาล พระยาสุวรรณพิงคละ ก็อนุญาตให้ตามความประสงค์ของพระนางเจ้า ฝ่ายผู้หญิงผู้ชาย ต่างก็มีความโสมนัสยินดี เจรจาแข่งขันกันว่า เมื่อรวบรวมหินลายหินอ่อนอิฐปูนพร้อม แล้วจะลงมือก่อเวลาใด ให้นัดสัญญากันไว้เสียก่อน คือให้เสร็จภายในวันกับคืนหนึ่งเป็นอย่างช้า ถ้าฝ่ายใดก่อแล้วภายในดาวเพ็ก ขึ้นพ้นเขายุคันทร ให้ถือว่าฝ่ายนั้นชนะ
เมื่อนัดสัญญาณกันแล้ว ต่างฝ่ายก็ลงมือก่ออูปมุงตามประสงค์ ครั้นเวลากลางคืน ผู้ชายพวกหนุ่มๆ ก็ลักลอบไปช่วยฝ่ายหญิงเป็นอันมาก เพราะยินดีในรูปรสกลิ่นเสียง อุปมุงของผู้หญิงก็สําเร็จก่อน ทั้งประกอบด้วยฝ่ายหญิงมีไหวพริบ เอาโคมไฟผูกใส่ปลายไม้ แล้วเอาขึ้นมัดไว้ที่บนต้นไม้สูงๆ แสงโคมก็สว่างกระจ่างแจ้ง ดังแสงดาวกํามพรึก ฝ่ายพวกผู้ชาย ที่ก่ออูปมุงอยู่ดอยคูหา เห็นแสงโคมของฝ่ายหญิง ที่เอาขึ้นแขวนไว้บนยอดไม้นั้น ก็สําคัญว่า เป็นดาวเพ็กขึ้นแล้ว ก็พร้อมกันหยุดการก่ออูปมุง การก่อได้แต่เพียงขื่อเท่านั้น
พอรุ่งขึ้น พระมหากัสสปเถรเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์เจ้า ๕๐๐ องค์ เป็นบริวาร เชิญอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาถึงดอยคูหา พระยาสุวรรณพิงคละพร้อมด้วยราชเทวี ขอแบ่งอุรังคธาตุพระพุทธเจ้า จะสถาปนา ไว้ที่อูปมุงดอยคูหา และที่อูปมุงอุทธยานนารายเจงเวง เพื่อเป็นที่บูชาเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระมหากัสสปเถรเจ้า จึงกล่าวสุนทรวาจาว่า ดูก่อน บพิตร ที่นี้ไม่ใช่ภูกําพร้า จะแบ่งอุรังคธาตุไว้ในที่นี้ ก็จะผิดจากคําพระพุทธเจ้า วจนซึ่งทรงสั่งเราไว้ แลจะไม่เป็นมงคลมังคละอันประเสริฐแด่บพิตร พระมหากัสสปเถรเจ้ากล่าวสุนทรวาจาดังนั้นแล้ว จึงให้พระอรหันต์เจ้า กลับเหาะไปเอาพระอังคาร ถ่านไฟพระพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ที่อุปมุงดอยคูหา และอุปมุงนารายเจงเวง พอเป็นที่บูชาเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระมหากัสสปเถรเจ้า ให้นามธูปมุงดอยคูหาว่า ธาตุภูเพ็ก เหตุว่า พวกผู้ชาย หลงว่าโคมไฟพวกผู้หญิงเป็นดาวเพ็ก จึงก่ออูปมุงไม่แล้ว ให้นามอูปมุงนารายเจงเวงว่า ธาตุนารายเจงเวง ตามนามพระนางนารายเจงเวงนั้นแล
เมื่อพระมหากัสสปเถรเจ้า จัดการสถาปนาธาตุภูเพ็กและธาตุนารายเจงเวงแล้ว จึงพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เชิญอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าไปยังภูกําพร้า ซึ่งเป็นธาตุพนมที่จังหวัดนครพนมต่อมาในเวลานี้ พร้อมทั้งพระยาสุวรรณพิงคละและท้าวพระยาทั้งหลาย
ในกาลยามเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ เข้าสู่พระปรินิพพานได้ ๘ ปี ปลาย ๗ เดือน เดือน ๑๒ ขึ้นวันพุธ นักขัตตฤกษ์ ชื่อว่า กัตติกา วันนั้นพระมหากัสสปเถรเจ้าและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เป็นประธานกับบริวาร ซึ่งนําอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาสู่ภูกําพร้าแล้ว จึงบรรจุไว้ในเค้าไม้โพธิ์ไทรก่อน แล้วพระยาสุวรรณพิงคละ พระยาคําแดง พระยาอินทรปัตถนคร พระยาจุลนีพรหมทัศ พระยานันทเสนมาแล้ว ก็พร้อมกันตกแต่งให้คนทั้งหลาย ไปเอาหินมาก่อไว้ แต่เมืองหนองหารหลวงอันบ่แล้วนั้น จึงก่ออูปมุง ก่อใส่อุรังคธาตุพระพุทธเจ้าเทอญ บัดนี้พระมหากัสสปเถรเจ้า และพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย จึงกล่าวว่าหินฝูงนั้น ได้ก่อไม่แล้วแต่ก่อนร้างละเสีย ไม่เป็นมงคละมงคล ปั้นดินอิฐที่นี้ก่ออูปมุงขึ้น แล้วจึงสุมไฟโน้นเทอญ ก็จักบริบูรณ์พระศาสนาภายหน้าโน้น ซะแลพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย มีคําว่าดังนี้ แล้วท้าวพระยาทั้ง ๕ ก็ตกแต่งคนทั้ง หลาย ปั้นดินอิฐ ดินอิฐนั้น เอาฝ่ามือพระมหากัสสปเถรเจ้า เป็นด้ามแบบปั้นดินอิฐ แล้วก็ให้พระยาสุวรรณพิงคละแรกขุดขุมก่อน ถัดมาพระยาจุลนีพรหมทัศ พระยานันทเสน พระยาอินทปัตถนคร จึงขุดนําเสนาอํามาตย์และคนทั้งหลายก็ขุดทุกคน เอาลําดับกัน รากกกแรก เอาลึก ๒ ศอกพระมหากัสสปเถรเจ้า รองกว้างทั้ง ๔ ด้านเอา ๒ วา พระมหากัสสปเถรเจ้า ท้าวพระยาทั้งหลาย ก็แบ่งด้านกันก่อขึ้น และท้าวพระยาทั้งหลายฝูงนั้น ก็เอาข้าวของบรรจุหมดทุกพระยานั้นแล พระยาจุลนีพรหมทัศมีเงินแน่น ๑๕๐ แน่น หนัก ๔๐๐ มีคําแน่น ๕๕๐ แน่น แน่นหนึ่งหนัก ๓๐ บาท เอาฆ้อง ๙ กํา มี ๙ หน่วย หน่วยหนึ่ง ๑๗ กํา มี ๗ หน่วยรองใต้ใสก่อด้านตะวันออก พระยาอินทปัตถนครมีเงินแป ๔ ล้าน ๙ แสน ๙ หมื่น ๙ พัน ๙ ร้อย คําเปียกมี ๓ หมื่น ๓ พัน ๓ ร้อย ๓๐ อัน หล่อทองเป็นรูปเรือใส่ไว้ภายใต้ ก่อด้านใต้พระยาคําแดง มีโลนคําหน่วยหนึ่งหนัก ๖ หมื่น ใส่คําแน่นเต็ม และพวงมาลัย หูกับกระโจมหัวแก้วมรกฏหน่วยหนึ่งหนัก ๗ หมื่น ใส่วันละฆังเต็มโถคําหน่วยหนึ่งหนัก แสนหนึ่งโอคํา ๙ หน่วย หน่วยหนึ่งหนัก ๒ พัน ขันเงิน ๙ หน่วยๆ หนึ่งหนัก ๓ พัน ขันนาค ๗ หน่วยๆ หนึ่งหนัก ๕ พัน รองใต้ท่ามกลางสูงหินแปงเป็นหีบใส่ไว้ ก่อด้านตะวันตกพระยานันทเสน มีขันคําหน่วยหนึ่งหนัก ๗ พันใส่แหวนคําเต็ม ขันเงินหน่วย หนึ่งหนัก ๙ พัน ใส่ปักปิ่นเก้าเต็ม โถเงินมี ๒ หน่วย หน่วยหนึ่ง ๙ พัน ใส่ม้าวเต็ม มีร้อยคู่ๆ หนึ่ง หนัก ๒ พันคํา เงิน ๙ หมื่นใส่ฆ้อง ๑๗ กํา มี ๗ หน่วย ๑๕ กํา มี ๕ หน่วย ๑๓ กํา มี ๓ หน่วย ไว้รองใต้ ก่อด้านเหนือพระยาสุวรรณพิงคละ มีกระโจมหัวคํา ๒ อันๆ หนึ่งหนัก ๓ หมื่น สังวาลคํา ๒ อันๆ หนึ่งหนัก ๓ แสน ถุงหมากหน่วยหนึ่งหนัก ๙ หมื่น ใส่แหวนและพวงมาลัยหูเต็ม ขันคําหน่วยหนึ่งหนัก ๗ หมื่นใส่วันระฆังเต็ม โถคําหน่วยหนึ่งหนัก ๑ แสน ขันคํา ๙ หน่วยๆ หนึ่ง หนัก ๒ พัน ขันเงินหน่วยหนึ่งหนัก ๓ พัน ขันนาค ๗ หน่วยๆ หนึ่งหนัก ๕ พัน รองใต้ไว้ท่ามกลาง ท้าวพระยาทั้ง ๔ ด้านก่อแล้ว พระมหากัสสปเถรเจ้าจึงเอาไหน้ำมาตั้งไว้ด้านละหน่วย เขียนคาถาให้เป็นมังคละโลกใส่ไว้ทุกหน่วย สูตราหูปริตรใส่น้ำแล้ว ท้าวพระยาทั้ง ๕ มีพระยาสุวรรณพิงคละเป็นเค้า ก็ตักเอาน้ำแต่ไหรดทั้ง ๔ ด้าน เวียนไปขวา ๓ รอบจึงปะไว้ พระยาจุลนีพรหมทัศจึงตักเอาแต่ในเบื้องตะวันออก รดลงจึงก่อขึ้น พระยาอินทปัตถนคร พระยาคําแดง พระยานันทเสน จึงกระทําดังเดียวและก่อด้านใต้ ตักเอาน้ำด้านนั้นใส่ก่อขึ้น ท้าวพระยาก็พร้อมกันก่อขึ้นดังเตา เป็นรูปอุปมุงขึ้น แต่พื้นดินเป็นเหลี่ยม ๔ ด้าน จึงวางไว้ แต่นั้นจึงให้พระยาสุวรรณพิงคละก่อขึ้นให้เป็นเรียงฝาบาระมี ทั้งยอดสุดให้ได้วาหนึ่งแห่งพระมหากัสสปเถรเจ้า วัดแต่เค้าขึ้นยอดสุดได้ ๒ วา พระมหากัสสปเถรเจ้า แล้วจึงก่อเต้าขึ้น ๔ ด้าน แล้วจึงเอาไม้จวง ไม้จันทร์ ไม้คําฟัก ไม้คันธรส ไม้ชมภู ไม้นิโครธ ไม้รัง มาเป็นฟื้นสุม ๓ วัน ๓ คืน สุกแล้วจึงเอาหินหมากคอมกลางป่า ที่เป็นมงคละมาถมขุม จึงเอาอุรังคธาตุพระพุทธเจ้า ฐาปันนาไว้ในอูปมุงนั้นแล จึงให้ตันปิดประตูไว้
ยามนั้น อุรังคธาตุ จึงปักปอมผากําผละ เสด็จออกมาอยู่ในฝ่ามือเบื้องขวา พระมหากัสสปเถรเจ้านั้นแล พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย และท้าวพระยาเสนาอํามาตย์เห็นอัศจรรย์ดังนี้ ก็ชมชื่นยินดีนัก ให้เสียงซ้องสาธุการ ยามนั้นพระมหากัสสปเถรเจ้า คิดถึงวจนะพระองค์สั่งว่า ให้เอาอุรังคธาตุไปไว้ที่ภูกําพร้า องค์พระสัมมาสัมพุทโธเจ้าเท่านั้น เจ้าก็ตรัสรู้แจ้งแล้ว จึงกล่าวว่า ชรอยที่พระพุทธวจนะไสยาหลิงเห็น ยังจักมีบุคคลทั้งหลาย อันเป็นเชื้อหน่อพระอรหันต์ จักมีเมื่อสุดซอยนั้นแล ยังจักได้สืบพระศาสนา สร้างแปงฐาปนาไว้ซะแล บัดนี้ เราทั้งหลาย ฝากฐาปนาตั้งไว้เทอญ
จึงตามคําพระพุทธวจนะสันนั้นเทอญ ยามนั้น อุรังคธาตุ จึงเสด็จเข้าไปสู่อูปมุงผ้ากําพละนั้น ก็มายออกรับ ปกอยู่ดังเก่า พระยาจุลนีพรหมทัศ พระยาสุวรรณพิงคละ เห็นก็อัศจรรย์ คิดถึงพระมหากัสสปเถรเจ้าได้ห้าม ก็ยินสดุ้งแก่ใจยิ่งนัก พระยาทั้ง ๕ จึงพร้อมกันแปง ทําประตูไม้คู่หับ ปิดไว้ด้วยขอกระดาน แล้วก็เอารี้พล ไปเอาหินในเมืองโกสินนารายหน่วยหนึ่ง ฝังไว้แจ่งเหนือ แปงทําเป็นรูปอัศวมุขี้ ไว้กกหมายเมืองมังคละในชมภูทวีป ไปเอาเมืองพาราณสีหน่วยหนึ่ง ฝังไว้แจ่งใต้ แปงทํารูปไว้กกหมายเมืองมังคละ ๒ หน่วย นี้ กําตะวันออกไปเอาเมืองลังกาหน่วยหนึ่ง ฝังไว้ด้านตะวันตกเบื้องใต้ ไปเอาเมืองคัตตสิลานครหน่วยหนึ่ง ฝังไว้ด้านตะวันตกเบื้องเหนือ แปงทําเป็นรูปม้าอาชานัยไว้ หมายด้านเหนือว่า อุรังคธาตุพระพุทธเจ้า ได้เสด็จออกมากระทําปาฏิหาริย์รุ่งเรือง กระทําพุทธวจนะ ทํานวยพระสาสนานะขะละนี้ ทาบอยู่ฝ่ายด้านเหนือ จึงเจือมาใต้ ให้อาชานัยปีนหน้าม้า มาเหนือเพื่ออันสะแล วันหนึ่งพระยาสุวรรณพิงคละ หากได้สดับรับฟัง เอาพระคาถาพระพุทธเจ้าเทศนา แจ้งในนิทานนี้ จึงให้ไว้เพื่อพระมหากัสสปเถรเจ้า จึงแปงทํารูปม้าพลาหกตัวหนึ่ง หันหน้ามาเหนือ อยู่เรียงอาชานัย หมายว่า แม่นไช่พระยาศรีโคตบูรณ ตนจักได้ถาปันนาอุรังคธาตุ ค้ำพระพุทธศาสนาตราบเท่า ๕,๐๐๐ พรรษานั้นแล
ถ้าฝ่ายใต้ขึ้นเมือเหนือแล้ว จึงแบ่งปั้นเป็นดังม้าพลาหกตัวประเสริฐนี้ซะแล ดังนี้อาชานัยพลาหกนี้พระอรหันตเจ้าทั้ง ๕ ให้ปัญหาด้วยบุพเพนิวาสานุสสติญาณ จึงแบ่งไว้ในนิทานนี้ แล้วนักปราชญ์เจ้าทั้งหลาย ดูแล้วค่อยพิจารณาด้วยปัญญา ตามนัยบรมมัตถธรรมนั้น เท่าวันเทอญ ยามนั้น พระมหากัสสปเถรเจ้า พาหมู่พระอรหันตเจ้า ๕๐๐ พระองค์ เวียนวัฏปทักษิณ แล้วท้าวพระยาทั้งหลาย พร้อมกันอธิษฐาน เวนถวายเข้าของเงินทอง เครื่องบริโภคทั้งมวญ อันฐาปันนาไว้รองใต้ ด้วยคําว่า เข้าของฝูงนี้ เป็นสันติภาพตราบต่อเท่า ๕,๐๐๐ พรรษาโน้นก็ข้าเทอญ พระยาสุวรรณพิงคละ พระยาคําแดงจึงพร้อมกันปรารถนา ขอให้ผู้ข้า ได้มาบวชในพระสาสนาเป็นอรหันต อย่าให้เราพี่น้องพลัดพรากจากกันเทอญ พระยาจุลนีพรหมทัศ พระยาอิทปัตถนคร พระยานันทเสน ก็หัวชมชื่น ยินดีเยาะไยกันเล่าวิว่า เมื่อก่ออูปมุง พระยาเจ้าพี่น้องและข้าทั้งหลาย ก็ยังชวนกันแลบัดนี้ หากปรารถนาเอา ดังนั้นก็ไม่ชักไม่ชวนข้าทั้งหลายนี้จา พระยาสุวรรณพิงคละจึงว่า มีคําปรารถนาต่างกัน ข้าทั้งสองจึงไม่ได้ชวนเพื่อนและโบราณกล่าวว่า ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ ครั้นว่า หากมักเดินทางด้วย ก็เชิญปรารถนาเทอญ เจ้าพระยาทั้ง ๓ จึงว่าสาธุๆ ผู้ข้าได้ก่อด้านหนึ่ง ขอให้ผู้ข้าได้บวชในพระพุทธสาสนา เป็นอรหันตตนถ้วน ๕ เทอญ ยามนั้นพระอรหันตเจ้า ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นประธาน จึงพร้อมกันอวยพรว่า จงให้ได้สําเร็จความปรารถนามหาราชเจ้าทั้งปวงเทอญ ให้พรแล้วพระอรหันตเจ้า ๕๐๐ องค์จึงเสด็จไปทางอากาศ ไปสู่เมืองราชคฤห์ เพราะว่าจะสังคายนาธรรม ท้าวพระยาทั้งหลาย และน้องพระยากับราชบุตรชุมนุมกัน พระยานันทเสนจึงปฏิสันฐาน เชิญพระยาเกษาตนคร พระยากุลุนทนั้น ท่านไม่ได้มาก่ออูปมุงด้วย เราทั้งหลายสันนี้จา พระยาคําแดงจึงกล่าวว่า พระอรหันตเจ้าไม่ได้เอาอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาทางโน้น ได้เอามาทางเมืองหนองหารหลวง ผู้ข้ารู้ข่าวพระอรหันตเจ้าไปบิณฑบาตรน้ำ ในเมืองหนองหารน้อย ผู้ข้าจะลัดมาก็กลัวไม่ทัน พระยาสุวรรณพิงคละ พระยาจุลนีพรหมทัศอยู่ฟากแม่น้ำโขง พระยาอินทปัตถนครอยู่ไกล ก็รู้ข่าว ได้มาทันพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ได้ก่ออูปมุง บุคคลทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ ได้บําเพ็ญบุญสมพารกัตตาธิการ แต่ชาติก่อนมากนัก จึงได้มาพบปะอันประเสริฐ ยิ่งกว่าประเสริฐทั้งหลาย และพระยาพิงคละจึงกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ เข้าสู่พระปรินิพพานวันนั้น ก็มาทํานวยรอยพระบาท ไว้ที่เกาะไก่ริมหนองหารหลวง ทรงเทศนาไว้แก่ผู้ข้าว่า กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจจํ มจฺจานชีวิตํ กิจฉํสทฺ ธมฺมสฺสวนํ กิจโฉ พุทฺธา นมุปฺ ปาโท ดังนี้ และอธิบายให้แจ้ง บุคคลทั้งในวัฏฏสงสารนี้ จะให้ได้เกิดมาเป็นคนก็ยาก อนึ่งจะได้ฟังธรรมและรู้ธรรมก็ยาก อนึ่งจะให้ได้พบปะพระพุทธบาทสาสนาก็ยาก อนึ่งเหตุว่าอุปนิสสัยแต่หลังไม่มี และบัดนี้เราทั้งหลายได้มาจวบมาพบพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ พระองค์ และได้ก่ออูปมุงอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าดังนี้ พวกเราพี่น้องก็จะดับ ทุกข์ในวัฏฏสงสาร ถึงพระปรินิพพานเบื้องหน้าไม่สงสัยเลย พระยาจุลนีพรหมทัศ พระยาอินทปัตถนคร พระยานันทเสน พระยาคําแดง ได้ฟังพระคาถาอันพระยาสุวรรณพิงคละ กล่าววิสัชนา ก็มีใจชื่นชมบาน เหมือนบุคคลมารดด้วยน้ำทิพย์ อันไม่รู้ตายนั้นแล พระยาจุลนีพรหมทัศ มีทองคํา ๕๐๐ แผ่น หนัก ๓๐๐ พระยาอินทปัตถนคร มีเงินแป ๓ แสน พระยานันทเสนมีขันทองคํา ๓ หน่วยๆ หนึ่งหนัก ๓ หมื่น พระยาคําแดงมีเงินด้วง ๓ แสน คือ เงินตรา ท้าวพระยาทั้ง ๕ ก็บูชาพระยาสุวรรณพิงคละ ด้วยพระคาถาอันนี้ และพระยาและบทพระคาถา พระยาสุวรรณพิงคละก็จูงแขน พระยาคําแดง พระยาจุลนีพรหมทัศ พระยาอินทปัตถนคร จูงแขนพระยานันทเสนเข้าไปในเมืองพระยาทั้ง ๕ ทุกคนแล้ว ก็ลาสั่งลากัน ไปจากภูกําพร้า กลับไปสู่บ้านเมืองแห่งตนทุกคนแล กล่าวพระอรหันตเจ้า ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นประธาน กับพระยาทั้ง ๕ ก่ออูปมุงไว้อุรังคธาตุที่ภูกําพร้า ก็สําเร็จเท่านี้แล
ครั้งนั้น พระยาอินทร์มีหมู่เทวดามากนัก ลงมาสู่ภูกําพร้า จากดาวดึงสวรรค์เวลาหัวค่ำ พระยาอินทร์ จึงสั่งวิสุกรรมเทวบุตร เขียนรจนาลายดอก ลายเครือรูปเทวบุตรเทวดา รูปพระยาอินตราเทวราช พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระยาทั้ง ๕ ไว้ในอูปมุงทั้ง ๔ ด้าน ภายนอกให้แต้ม เขียนพระอรหันต ๕๐๐ องค์ และรูปพระยาศรีสุทโธทนะมหามายา วิสาขา เทวบุตร ไว้ภายใน แล้วจึงสักการบูชาด้วยดอกไม้คันธรส ของหอมตุริยศ ดนตรีเครื่องเสพทั้งมวญ แล้วจึงให้นาง เทวบุตรทั้งหลาย มีนางสุชาดา เป็นเค้าแต่งเครื่องอุปัฏฐาก มีขันแก้ว ๔ ใบ เครื่องแก้วแล้วด้วยทองคําทั้งมวญ ดอกบัว ดอกลิลวงทิพย์ไม่เหี่ยวแห้ง ประทีป ๔ ดวงไม่รู้ดับตราบเท่า ๕,๐๐๐ พรรษา พระยาอินทร์และนางฟ้าทั้ง ๔ เอาเข้าไปบูชาไว้ในอุปมุง ยกใส่ศีรษะแล้วจึงออกมาสั่งวิสกรรมเทวบุตร ให้จัดหาเทวบุตร เทวดาทั้งหลาย อันจะรักษายังอุรังคธาตุพระพุทธเจ้า วิสกรรมเทวบุตร จึงแต่งให้เทวบุตร ๖ ตนๆ หนึ่งชื่อว่า วิจิตรเลขา อยู่รักษาภายบนมีวิมาน ปราสาท ตั้งอยู่อากาศ มีบริวาร ๑,๐๐๐ องค์หนึ่งชื่อว่า วรรณกุมภา อยู่รักษาด้านเหนือ มีบริวาร ๑,๐๐๐ องค์หนึ่งชื่อว่า สารุธกา อยู่รักษาด้านตะวันออกมีบริวาร ๕๐๐ องค์หนึ่งชื่อว่า ภุมิปฏิรุกขา อยู่รักษาด้านใต้ มีบริวาร ๕๐๐ องค์หนึ่งชื่อว่า โพธิปัตตรุกขา อยู่รักษาด้านตะวันตก มีบริวาร ๕๐๐ องค์หนึ่งชื่อว่า สุนทรธรณี อยู่รักษาของพระยาทั้ง ๕ บูชาอุรังคธาตุอยู่ภายใต้ มีบริวาร ๕๐๐ ถัดนั้น ยังมีเทพดามเหศักดิ์ ๓ องค์ มีเดชานุภาพมากนักอยู่รักษาอุรังคธาตุ อยู่ริมบึงข้างเหนือตะวันออก ๒ องค์ๆ หนึ่งชื่อว่า ทักษ์ขิณรัฐา คือว่า เจ้าเมืองขวา องค์หนึ่งชื่อว่า สุตะสหัสสรัฐา คือว่า เจ้าแสนเมือง องค์หนึ่งชื่อว่า นาคกุฏวิถาร คือ เจ้าโต่งกว้าง อยู่ทิศตะวันออก ปากน้ำเซตกทิศใต้ และมเหศักดิ์ ๓ องค์นี้ เป็นหูบ้านตาเมือง อยู่รักษาอุรังคธาตุสาสนาบ้านเมือง ภิกษุสงฆ์ข้าโอกาศทั้งหลาย และบุคคลผู้ใด คือว่า นักบวชและคนคฤหัสถ์เป็นผู้ได้กระทําบุญ รักษาศิล เมตตา ภาวนา อันให้ทานอันใดอันหนึ่ง ให้ตรวดน้ำอุทิศไปถึงเทพดา ๖ องค์ และมเหศักดิ์ ๓ องค์ เอาอุรังคธาตุเป็นที่พึ่ง และปรารถนาเอาอันใดก็ดี เทพดามเหศักดิ์ทั้งหลาย หากค้ำชูให้วุฒิจําเริญ ด้วยสมบัติเข้าของ มีอายุยืนแก่บุคคลผู้ปรารถนานั้นแล
องค์พระธาตุเชิงชุม และองค์พระธาตุพนม เกี่ยวเนื่องกันมาแต่ปฐมบรมกัลป์ ก็มีด้วยประการฉะนี้