"ราชวงศ์ทิพย์จักรสนธิวงศ์"
ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)
"ทิพย์จักราธิวงศ์" ต้นสกุลเจ้าเจ็ดตนในล้านนา เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ หรือสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง มาจากตระกูลเจ้าเจ็ดตน ซึ่งเป็นราชวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ครองนครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เจ้านายสยามประเทศมีพระบรมราชจักรีวงศ์ปกครองประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2325 แต่ราชวงศ์ “ทิพย์จักราธิวงศ์” ของผู้ครองนครฝ่ายเหนือซึ่งเป็นนครเอกราชนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2275
ระหว่างปี พ.ศ.2272 – 2275 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกศ กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ล้านนาไทยเกิดการจราจลรบราฆ่าฟันกันทั่วไป หาความสงบสุขมิได้ นครลำปางมีแต่พ่อเมืองควบคุมกันเองปล่อยให้สถานการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ทางนครลำพูนก็ฉวยโอกาสให้ท้าวมหายศ ซึ่งเป็นพม่าครองเมืองเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปตีเมืองลำปางได้ พระอธิการวัดชมพู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่นับถือของชาวลำปาง จึงคบคิดกับพ่อเมืองกอบกู้บ้านกลับคืนมา กลุ่มผู้ที่คิดกู้ชาติจึงพร้อมใจกันเลือก “หนานทิพย์จักรวเนจร” ราษฎรสามัญผู้มีสติปัญญาและกล้าหาญชาญชัย ทั้งยังเคยเป็น หมอโพน ช้างป่ามาก่อน จนชาวบ้านตั้งสมญานามว่า “หนานทิพย์ช้าง”
หนานทิพย์ช้างนำไพร่พลออกรบกับท้าวมหายศ ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่วัดลำปางหลวง ได้ต่อสู้กันจนที่สุดท้าวมหายศแตกพ่ายหนีไป เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ชาวเมืองลำปางจึงสถาปนาหนานทิพช้างขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม” เป็นผู้ครองเมืองลำปางในปี พ.ศ.2275
หนานทิพช้าง หรือ เจ้าพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม จึงตั้งราชวงศ์ของพระองค์ขึ้นมาเรียกว่าราชวงศ์ “ทิพย์จักราธิวงศ์” เจ้าพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม ครองเมืองลำปางได้ 27 ปีก็ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2302 เจ้าชายแก้ว บุตรชายของท่านก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบต่อมาจนกระทั่งถึง พ.ศ.2307 อิทธิพลของพม่าก็กลับแผ่ขยายเข้ามาครอบครองภาคเหนือทั้งหมด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน โดยไม่มีผู้ใดสามารถต้านทานได้ เมื่อนครลำปางตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าแล้ว พม่าก็พาเจ้าชายแก้วเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ากรุงอังวะ แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว” กลับมาดูแลบ้านเมืองลำปางซึ่งอยู่ในความปกครองของพม่าตามเดิม ทางเมืองชียงใหม่นั้น พม่าตั้ง “พญาจ่าบ้าน” ขึ้นเป็นพ่อเมือง อยู่ในความควบคุมของชาวพม่าชื่อ “โปมะยุง่วน” มีทหารพม่าตั้งประจำการอยู่ทุกหัวเมือง ช่วงเวลานั้น กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่าแล้วพระยาตากสินสามารถกอบกู้อิสรภาพได้และตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยา ทหารพม่าที่เมืองลำปางข่มเหงรังแกราษฏร ทำให้เกิดความเดือดร้อน ห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง เจ้าฟ้าชายแก้ว หมดปัญญาจึงเดินทางมารายงานให้โปมะยุง่วน หัวหน้าพวกพม่าซึ่งคุมอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ พอดีระหว่างนั้นพม่ากำลังคิดจะยกทัพไปตีกรุงธนบุรี พญาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงคบคิดกับ เจ้ากาวิละ บุตรชายคนโตของเจ้าฟ้าชายแก้ว ก่อการกบฏต่อพม่า โดยออกอุบายรับอาสาโปมะยุง่วนจะนำไพร่พลลงเรือล่วงหน้าลงมาตามลำน้ำปิง เป็นการตระเตรียมล่วงหน้าให้ความสะดวกแก่กองทัพพม่าที่จะเคลื่อนพลตามไปทีหลัง
โปมะยุง่วนหลงเชื่อ พอทหารพม่ากองหน้าเคลื่อนมาถึงเมืองฮอดก็ถูกไพร่พลของพญาจ่าบ้านซุ่มโจมตี เมื่อสังหารทหารพม่าแล้ว พญาจ่าบ้านก็รีบเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าตากสินยังกรุงธนบุรี กราบบังคมทูลขอกองทัพมารบกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดฯให้ พระยาจักรี กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ ทหารเสือสองพี่น้อง เป็นแม่ทัพคุมพลขึ้นมาถึงเมืองเถิน แล้วแบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง ให้พญาจ่าบ้านคุมกองทัพห้าพันคนยกไปยังเมืองเชียงใหม่ ส่วนทัพหลวงมุงหน้าเข้ายึดเมืองลำปาง เมื่อโปมะยุง่วนทราบเหตุร้าย จึงเรียกพลเท่าที่มีอยู่ออกสู้รบกับกำลังของพญาจ่าบ้าน ที่บริเวณบ้านท่าวังตาล ทิศใต้ของเชียงใหม่ จนพญาจ่าบ้านปราชัย ล่าถอยหนีไปรวมกำลังรอกองทัพหลวง
ฝ่ายเจ้ากาวิละและน้อง ๆ ต่างก็เป็นห่วงเจ้าฟ้าชายแก้วพระบิดา ซึ่งยังติดอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ได้แต่มอบให้เจ้าคำสมผู้น้องคุมพลออกมารับหน้าทัพหลวงจากกรุงธนบุรี พอกองทัพของเจ้าคำสมเคลื่อนออกจากเมืองลำปาง เจ้ากาวิละกับพวกก็ลงมือฆ่าทหารพม่าในเมืองลำปาง ความทราบถึงโปมะยุง่วน เห็นท่าไม่ได้การจึงได้จับตัวเจ้าฟ้าชายแก้วคุมขังไว้ พวกเจ้าน้องของเจ้ากาวิละออกอุบายนำเครื่องราชบรรณาการรีบไปให้โปมะยุง่วน พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า เท่าที่เจ้ากาวิละฆ่าทหารพม่าล้มตายนั้นก็เพราะเกิดสติวิปริตคลุ้มคลั่ง หาใช่จะคิดกบฏไม่ จึงขอความกรุณาไว้ชีวิตเจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้ากาวิละเห็นเป็นโอกาส จึงคุมพลสมบทกับกองทัพหลวงรีบยกมาตีเมืองเชียงใหม่พร้อมกับกองทัพของพญาจ่าบ้านที่รออยู่ บุกเข้าตีเมืองเชียงใหม่จนกองทัพพม่าแตกพ่ายหนีออกไปจากเมืองเชียงใหม่ได้ จากนั้นจึงรีบปลดปล่อยเจ้าฟ้าชายแก้วออกจากที่คุมขัง
หลังจากจัดการกับพม่าได้ กองทัพจากกรุงธนบุรีก็เดินทางกลับ เจ้าฟ้าชายแก้วก็กลับคืนสู่เมืองลำปางและเนื่องจากท่านชรามากแล้วจึงแต่งตั้งเจ้ากาวิละขึ้นบริหารบ้านเมืองแทน ส่วนทางเชียงใหม่ก็ให้พญาจ่าบ้านเป็นพ่อเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.2325 เจ้าพระยาจักรี ซึ่งเลื่อนอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหากษัตริย์ศึก ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งราชวงศ์จักรี ครองกรุงเทพมหานคร ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ก็โปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้ากาวิละเป็น พระยาวชิรปราการ และให้ย้ายจากเมืองลำปางไปเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งเจ้าคำสม น้องชายคนที่ 2 ครองนครลำปาง พร้อมกับตั้งเจ้าธรรมลังกา น้องชายคนที่ 3 เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งเจ้าดวงทิพย์ น้องชายคนที่ 4 เป็นอุปราชเมืองลำปาง ตั้งเจ้าหมูหล้า น้องชายคนที่ 5 เป็นเจ้าราชวงศ์ลำปางและตั้งเจ้าคำปัน น้องชายคนที่ 6 เป็นเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่
เจ้าเชียงใหม่และเจ้าลำปางจึงอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน คือ ราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์ รวมเรียกว่า “เจ้าเจ็ดตน”
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (2325 - 2482)ยุคฟื้นม่านหลังการปกครองของพม่า......
ลำดับพระนามปีที่ครองราชย์
1.พระเจ้ากาวิละ2325 - 2356 (31 ปี)สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2.พระยาธรรมลังกา2356 - 2365 (11 ปี)
3.พระยาคำฟั่น2366 - 2368 (2 ปี)
4.พระยาพุทธวงศ์2369 - 2389 (20 ปี)
5.พระเจ้ามโหตรประเทศ2390 - 2397 (7 ปี)
6.พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์2399 - 2413 (14 ปี)
7.พระเจ้าอินทวิชยานนท์2416 - 2439 (23 ปี)
8.เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์2444 - 2452 (8 ปี)
9.เจ้าแก้วนวรัฐ2454 - 2482 (28 ปี)
ในปี พ.ศ.2469 เมื่อสยามประเทศจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นแบบเทศาภิบาล คือรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล ยกเลิกหัวเมืองประเทศราช เชียงใหม่จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย รัฐบาลกรุงเทพจึงได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
*หากมีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณทีนี้ด้วย*
CR.เ
กร็ดประวัติศาสตร์V.2