วัยรุ่นกับกัญชา
วัยรุ่นกับการอยากรู้อยากลอง เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ในกระแสอย่าง “กัญชา” ก็อาจทำให้วัยรุ่นเกิดความสงสัยใคร่รู้ ใคร่ลอง ถึงแม้จะมีผู้ใหญ่บางกลุ่มออกมาบอกว่ากัญชาเป็นสมุนไพร รักษาโรคได้ ไม่ใช่ยาเสพติด แต่รู้ไหมว่ากัญชานั้น ไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากกัญชามากที่สุด
กัญชาสมุนไพรเพื่อรักษา หรือยาเสพติดให้โทษ
หากถามว่า กัญชาเป็นยารักษาโรค หรือ เป็นยาเสพติด คำตอบก็อาจขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนใช้กัญชาอย่างไรเพราะจะว่าไปแล้วกัญชามีสารประกอบที่สามารถเป็นได้ทั้งสมุนไพรรักษาโรคและยาเสพติดให้โทษ โดยสารประกอบที่พบได้ในกัญชาคือ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ที่มีอยู่ 2 ชนิดสำคัญ คือสาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)การออกฤทธิ์ที่ต่างกันของสาร CBD และ THC นี่เองที่จะกำหนดว่ากัญชาจะให้คุณหรือให้โทษกับร่างกายของคนเรา กล่าวคือ CBC สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการปวด นอนหลับดีขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อจิตประสาท ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดและไม่ทำให้มึนเมา แต่ในทางกลับกัน THC จัดเป็นสารเมาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้
ทั้งนี้ผลการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ร่างกายของคนเราสลายสาร THC ได้ยากกว่า ทำให้สาร THC ที่ส่งผลให้เกิดอาการมึนเมานั้นตกค้างในร่างกายได้ถึง 1-7 วันขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภคสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ การสลายสาร THC ออกจากร่างกายอาจทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเสพติดสารดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อสติปัญญาและสุขภาพของวัยรุ่น
ผลกระทบของกัญชาในวัยรุ่น
สมองของเด็กและวัยรุ่นยังอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวัยนี้สมองส่วนอารมณ์และวงจรรับรู้ความสุข การได้รับรางวัลจะทำงานมากกว่าสมองส่วนอื่นๆ สมองส่วนการคิดวิเคราะห์การใช้เหตุผล ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความเสี่ยงสูงที่วัยรุ่นจะตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดต่างๆ รวมถึงกัญชา หากไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากวัยรุ่นใช้กัญชาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่อาจเกิดต่อร่างกายคือ
● ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง อาจเกิดความจำสั้นและความจำเสื่อม ในระยะยาวอาจส่งผลต่อระดับเชาว์ปัญหาที่ลดลง ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์และคิดอย่างมีเหตุผล ขาดสมาธิทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง
● เพิ่มความเสี่ยงโรคจิตเภท ทำให้เกิดอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
● เพิ่มความเครียด แพนิค และวิตกกังวล อาการเหล่านี้อาจพบได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ หรือบางคนอาจมีอาการเหล่านี้หลังใช้กัญชาไปสักพักหนึ่งแล้ว
● เพิ่มโอกาสการมีพฤติกรรมเสี่ยง เนื่องจากกัญชาทำให้มึนเมา จึงอาจทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยง ที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน พลัดตกจากที่สูง หรือพฤติกรรมทางเพศที่ขาดการป้องกัน นำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
● ผลเสียต่อร่างกายโดยรวม กัญชามักทำให้ผู้เสพ มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ อาจถึงขั้นหมดสติได้
ช่วยป้องกันวัยรุ่นอย่างไรให้ห่างไกลกัญชา
หลังจากประเทศไทยปลดล๊อกกัญชาเสรี พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของกัญชาโดยไม่ตั้งใจ เพราะผู้ผลิตหรือผู้ขายใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่ม โดยไม่ได้ระบุในฉลากให้ชัดเจน ทำให้เด็กๆ ที่ได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกายมีอาการเจ็บป่วย ต้องแอดมิทรักษาตัวในโรงพยาบาล ขั้นแรกที่ผู้ปกครองทำได้คือ การเลือกซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่มต่างๆ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากระบุชัดเจน ของกินที่จำหน่ายข้างทาง ตามตลาดนัด หรืองานแฟร์ต่างๆ อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากไม่มั่นใจก็ไม่ควรซื้อให้บุตรหลาน รวมทั้งสอนวัยรุ่นในการเลือกซื้อของกินที่ปลอดภัยจากกัญชา นอกจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เพื่อช่วยป้องกันลูกจากกัญชา คือ
- ชี้ให้เห็นผลเสียระยะยาว: วัยรุ่นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่รู้ ว่ากัญชาไม่ดีต่อร่างกายแต่ก็ยังอยากลอง ซึ่งสาเหตุการลองใช้กัญชาหรือยาเสพติดอื่นๆ ในวัยรุ่น ส่วนใหญ่มาจากการชักชวนของเพื่อนๆ ยิ่งประเทศไทยไม่ได้จัดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด วัยรุ่นก็อาจมีความเข้าใจผิดว่าพวกเขาสามารถเสพกัญชาได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะเพื่อนๆ ก็เสพกัน หากไม่ทำตามก็อาจไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ในกรณีนี้ พ่อแม่ควรแสดงความเข้าใจให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่รับรู้ว่ากลุ่มเพื่อนมีความสำคัญกับลูก แต่ขณะเดียวกัน สุขภาพร่างกายและอนาคตของลูกก็สำคัญเช่นกัน การใช้กัญชาอาจทำให้เพื่อนยอมรับ แต่ในระยะยาวเพื่อนๆ อาจแยกย้ายกันไปเติบโต แต่ผลของการเสพกัญชาจะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต อาจทำลายอนาคตและโอกาสดีๆ หลายอย่าง ชี้ให้ลูกเห็นผลเสียระยะยาวที่ลูกอาจคิดไม่ถึง อาจจะช่วยให้ลูกรับฟังมากกว่าการบอกว่ากัญชามีโทษต่อร่างกายอย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไปที่เด็กๆ หาอ่านได้เอง
- เปิดใจเล่าเรื่องจริง: พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจเคยมีประสบการณ์ลองใช้กัญชามาก่อน หรืออาจมีเพื่อนที่ใช้กัญชา ลองเปิดใจเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเผชิญให้ลูกฟัง ว่ารู้สึกอย่างไร ควรสร้างบรรยากาศให้เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน อย่าให้เด็กๆ รู้สึกว่ากำลังนั่งฟังการบรรยาย เพื่อที่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เข้าใจและรับรู้มุมมองที่วัยรุ่นมีต่อการใช้กัญชาด้วย
- เลือกเวลาที่เหมาะสม : การพูดคุยเรื่องการใช้กัญชา ควรเป็นเวลาที่ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ ไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาคุยขณะที่กำลังทะเลาะกัน หรือกำลังมีความขัดแย้งกับลูก อาจรอโอกาสที่เหมาะสม เช่น ขณะอยู่บนรถด้วยกันแล้วข่าวในวิทยุพูดถึงเรื่องกัญชา พ่อแม่จึงค่อยเปิดประเด็นง่ายๆ เช่น ถามว่ามีเพื่อนใช้บ้างไหม ลูกเคยเห็นกัญชาของจริงหรือเปล่า เมื่อลูกยอมเล่า พ่อแม่ควรเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูดเพื่อให้รู้ว่าลูกมีความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชามากน้อยเพียงใด
สุดท้ายแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง คงไม่อาจเฝ้าติดตามวัยรุ่นไปทุกที่ได้ การปลูกฝังความคิดอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันลูก ไม่เพียงแต่จากกัญชา แต่ยังรวมถึงยาเสพติดและสิ่งไม่ดีอื่นๆ ที่ลูกต้องเผชิญในเส้นทางการเติบโต การเป็นผู้ใหญ่ที่คอยรับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน และให้ความเชื่อมั่นในตัวเด็กๆ ว่าพวกเขามีคุณค่ามากพอไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คือเกราะป้องกันภัยที่แข็งแรงที่สุด ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะมอบให้กับเด็กๆ ได้
อ้างอิงจาก: chulalongkornhospital, starfishlabz