การท่องบทอาขยาน
การท่องบทอาขยาน
บทอาขยาน หมายถึง บทท่องจำ การเล่า การสวด เรื่อง นิทาน ซึ่งเป็นการท่องจำข้อความ หรือคำประพันธ์ที่ชอบ บทร้อยกรองที่ไพเราะ อาจตัดตอนมาจากหนังสือวรรณคดี เพื่อให้ผู้ท่องจำได้เห็นความงามของบทร้อยกรอง ทั้งในด้านวรรณศิลป์ การใช้ภาษา เนื้อหา และวิธีการประพันธ์ สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการแต่งบทร้อยกรอง หรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการอ้างอิงในการพูดและการเขียนได้เป็นอย่างดี
การท่องบทอาขยาน เน้นที่ท่องจำบทให้ถูกต้อง อาจจะออกเสียงเป็นทำนองเสนาะ หรืออาจจะเป็นการอ่านปกติไม่ต้องออกเสียงเป็นทำนองเสนาะก็ได้ แต่เน้นการออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธี และแบ่งจังหวะให้สอดคล้องกับประเภทของบทประพันธ์ หรือเนื้อความนั้น ๆ (ส่วนการทอดอารมณ์ ทอดเสียง หรือการเอื้อนเป็นเรื่องรอง)
การท่องจำ หรือ ท่องบทอาขยาน เป็นการอ่านออกเสียงที่อาศัยความจำโดยไม่ดูบท ต้องใช้ความสามารถในการจำบท อ่านให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และทำนองของบทร้อยกรองนั้น ๆ สอดคล้องกับอารมณ์ในบทอ่าน โดยอ่านให้ไพเราะถูกต้องคล่องแคล่ว เกิดภาพพจน์ ได้รสได้อารมณ์
แต่สำหรับในการจัดการเรียนการสอน ที่ให้มีการท่องจำบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะนั้น เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กสามารถจำบทประพันธ์ที่ไพเราะ (มีกลวิธีการแต่ง) หรือมีเนื้อหาเด่น (มีข้อคิด) นำไปสู่การซาบซึ้ง เห็นคุณค่า และอนุรักษ์ภาษาและวรรณคดีไทย ซึ่งสิ่งที่ต้องการจะเน้นดังนี้
๑. ท่องจำบทให้ได้ขึ้นใจ (ตามกำลังความสามารถ และ อาจตามความสนใจ)
๒. ออกเสียงเป็นทำนองเสนาะได้ไพเราะ (ตามแบบฉบับและตามศักยภาพ)
๓. ออกเสียงคำให้ถูกต้องตามอักขรวิธี
๔. แบ่งวรรคตอนตรงตามฉันทลักษณ์และเนื้อความ
๕. บางกรณี เด็กอาจปรับจังหวะหรือทำนองให้น่าสนใจ เพื่อประโยชน์ในการจดจำ และแสดงความคิดสร้างสรรค์ (เช่น ใส่จังหวะแรป ใส่ทำนองเพลงปัจจุบัน ทำท่าทางประกอบ ฯลฯ)
ในการแข่งขันหรือการประกวดการท่องบทอาขยาน จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความสามารถและการอนุรักษ์เป็นสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่จะเน้นได้แก่
๑. ท่องจำบทให้ได้ขึ้นใจ (ไม่ตกหล่นหรือต่อเติม) บางกรณี อาจต้องจดจำเนื้อเรื่องหรือที่มาเพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
๒. ออกเสียงปกติ หรือเป็นทำนองเสนาะ ตามที่การแข่งขันนั้น ๆ กำหนด บางชุดกำหนดเป็นทำนองเสนาะ บางชุดไม่ได้กำหนด ก็มักถือเอาแบบทั่วไป บางชุดมีตัวอย่างให้ไปฝึกซ้อม หรือบางครั้งให้ใช้ทำนองอื่นได้ เช่น การขับเสภา ทำนองสรภัญญะ การเห่เรือ ซึ่งบางทำนองก็อาจแตกต่างตามแต่ละครูอาจารย์
๓. ออกเสียงให้ถูกต้องตามประเภทของบทประพันธ์หรือตามเนื้อหา เช่น ฉันท์ ต้องใช้เสียงหนักเบา , ร่ายยาวเรื่องเวสสันดรอาจจะใช้ทำนองเทศน์ , บทพากย์อาจใช้การพากย์
๔. การอ่านลักษณะดังกล่าว (กำหนดในการแข่งขันนั้น ๆ) เด็กจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทำนอง หรือจังหวะตามใจชอบได้
๕. บางกรณีที่สามารถเลือกใช้เสียงได้ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม ซึ่งไม่มีหลักตายตัว ต้องพิจารณาไปตามกติกา และบทประพันธ์ในแต่ละการแข่งขัน เช่น
- ถ้าอ่านกาพย์ฉบังหลายบท วรรคสองบางบทอาจลงเสียงต่ำ สลับกับเสียงกลาง
- คำรับส่งสัมผัสในโคลงสี่สุภาพ หากมีเสียงจัตวา ๒ แห่งขึ้นไป ควรเลือกขึ้นเสียงคำใดคำหนึ่ง
- เนื้อความที่เศร้าก็ควรทิ้งจังหวะเนิบนาบกว่าเนื้อความที่ตื่นเต้นหรือสู้รบ
- วรรค ๒ และวรรค ๔ ในกาพย์สุรางคนางค์ สามารถลงเสียงต่ำได้ แต่ถ้าลงเสียงต่ำพร้อมกัน ๒ แห่ง กลับกลายเป็นเฝือ
การติดสินการประกวดแข่งขันการท่องบทอาขยานค่อนข้างตัดสินยาก หาหลักเกณฑ์เชิงวิทยาศาสตร์ เชิงประจักษ์ได้ยาก บางครั้งผู้ตัดสินต้องอภิปรายและถกกัน เพราะบางคนเสียงดีแต่ประหม่า เสียงสั่น บางคนเสียงดีราบรื่นแต่จำบทไม่ได้หรือจำผิด ฯลฯ กรรมการแต่ละชุดก็จะอภิปรายว่าจะเลือกตัดสินอย่างไร หาผู้ชนะได้อย่างไร
ในการประกวดแข่งขันแต่ละงานมักจะแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรเสียสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ขอให้มีบาดแผล หรือความผิดพลาดน้อยที่สุด
ขอขอบคุณ
รองศาสตราจารย์ ดร.ขัณธ์ชัย อธิเกียรติ อาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยรามคำแหง