ตะไคร้
ตะไคร้
ชื่อภาษาอังกฤษ : Lemongrass
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus (DC.) stapf
วงศ์ : Gramineae
ชื่ออื่น : จะไคร ไคร คาหอม สเหลอะเกรย ( เขรม สุรินทร์ ) หัวสิงโต
ลักษณะ
ไม้ล้มลุกอายุนานหลายปี แตกหน่อออกจนอยู่เป็นกอหนาแน่น ลำต้นสูง 1-2 เมตร ลำต้นตรงสีเขียวอ่อนมีนวลขาว ประกอบด้วย กาบใบซ้อนเป็นชั้นๆ อัดแน่น ใบยาวเรียวแหลมและสาก ขอบใบคมเวลาจับหรือตัดต้นตะไคร้ต้องระวังเพราะใบจะบาดผิวหนังเอาได้ง่าย ลำต้นและใบมีกลิ่นหอม ตะไคร้เมื่อต้นแก่จะออกดอกเป็นช่อยาวขนาดเล็ก มักมองไม่ค่อยเห็นและไม่ค่อยจะออกดอก ตะไคร้ที่ใช้ประกอบอาหารต่างสายพันธ์ุกับตะไคร้หอม
นิยมปลูกตะไคร้ในสวนครัว ขยายพันธุ์โดยตัดเอาเหง้ามีรากติดมาด้วย ตัดเอาใบออกไปเพื่อลดการคาบความชื้น ปลูกลงในดินร่วนซุย
รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้น้ำขัง เมื่อแตกยอดแล้วไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เป็นพืชทนแดดทนแล้ง และปลูกได้ทุกฤดูกาล
ใช้เป็นอาหาร
ลำต้นใช้เป็นเครื่องเทศ ดับกลิ่นคาวในอาหาร ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ากิน มีรสชาติดีขึ้น เช่น ใส่แกงเผ็ด แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเขียวหวาน ต้มยำ ต้มโคล้ง ลาบ ก้อย ต้มเนื้อ ต้มเครื่องในวัว ยำตะไคร้ ยำอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทำข้าวยำอาหารปักษ์ใต้ ปัจจุบันนิยมทำน้ำตะไคร้ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น มีคุณค่าทางอาหารสูง
คุณประโยชน์
ทั้งต้นและใบมีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดอยู่ประมาณ 0.4 - 0.8%
โดยมากเป็น Citral, Linalool, geraniol ซึ่งเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ขับลม มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา กลิ่นหอมนี้ถูกนำไปใช้แต่งกลิ่นสบู่และเครื่องสำอาง ใบและรางมีสารคล้ายอินซูลินมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ดื่มน้ำตะไคร่ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับปัสาวะและเหงื่อ ลดความเครียด ปวดท้อง แก้ไขหวัด โดยเอาลำต้นมาต้มกับน้ำ เพื่อดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง แต่ควรระวัง บางคนกินมากอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ กรมอนามัยให้ข้อมูลว่าตะไคร้ในส่วนที่กินได้ 100 กรัม มีพลังงาน 126 กิโลแครลอรี ไขมัน 2.1 กรัม ตาร์โบไฮเดรต 25.5 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม เส้นใย 4.2 กรัม แคลเซียม 35 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 2.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 427 หน่วย วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม ไนอาซีน 2.2 มิลลิกรัม