กฎหมายจราจรใหม่ 2566 ทำผิดกฎจะโดนอะไรบ้าง
กฎหมายความเร็วรถใหม่ 2566
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม ร่างกฎหมายใหม่ได้กำหนดอัตราความเร็วการขับรถยนต์ไว้ ทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้นและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ได้กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกินตามประเภทของรถ ได้แก่
กฎหมายความเร็วรถบรรทุก
- รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถบรรทุกผู้โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กฎหมายความเร็วรถยนต์
- รถยนต์ 4 ล้อใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ขับรถเลนขวาสุดบนทางหลวง ต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถที่ใช้ในการเกษตร ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 45 กม./ชม
- รถจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กฎหมายความเร็วรถจักรยานยนต์ / มอเตอร์ไซค์
- รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไปให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
-
กฎหมายความเร็วบนทางด่วน 2566
- รถยนต์ 4 ล้อ วิ่งบนทางด่วนได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถบรรทุกมากกว่า 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารเกิน 15 คน ขับบนทางยกระดับหรือทางด่วนได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถโรงเรียน-รับส่งนักเรียน ขับบนทางด่วนได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ละเมิดกฎหมายจราจร มีโทษอะไรบ้าง
- ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ขับรถฝ่าไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ไม่หยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับขี่บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับตั้งแต่ 400 - 1,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสได้รับเงินส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
- ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้โดยสาร “ตอนหลัง” ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คนขับ คนซ้อนไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับเท่าไหร่ 2566
- กรณีผู้ขับขี่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับ 400 บาท
- คนซ้อนไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับ 800 บาท
ยกเว้น ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช หรือผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นที่ใช้ผ้าหรือสิ่งอื่นโพกศีรษะตามประเพณีนิยมนั้น หรือบุคคลใดที่กำหนดในกฎกระทรวง
ไม่พกใบขับขี่ ปรับเท่าไหร่ 2566
หากผู้ใดขับรถไม่มีใบขับขี่ จะมีโทษต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่มีหรือไม่พกใบขับขี่รถยนต์ เสียค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ไม่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ปรับประมาณ 200 - 500 บาท
- ขับรถในขณะที่ใบขับขี่หมดอายุ ถูกพักใช้ ถูกเพิกถอน หรือถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ จะต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ประกอบการยินยอมให้ขับรถสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับรถไม่มีใบขับขี่ เพราะให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาต ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
โดนใบสั่งแต่ไม่จ่ายค่าปรับ โดนหมายจับย้อนหลัง 1 ปี
โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2. กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งในขั้นตอนที่ 1. และ 2. ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจ ทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทย, เค้าเตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์
3. กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ เพื่อออกหมายจับ
4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้ตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2. ได้
5. ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึกในระบบ ฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบากในเรื่องการเดินทาง ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม
6. กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายจับด้วยตนเอง หรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน พนักงานสอบสวนจะยกเลิกหมายจับ และลบประวัติออกจากระบบ
อ้างอิงจาก: google