วิชาลงทุน โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ถ้าถามว่าจะเป็นนักลงทุนที่เยี่ยมยอดจะต้องเรียนอะไร คำตอบของคนจำนวนมากจะบอกว่า ต้องจบปริญญาบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาการเงิน เพราะหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วย วิชาที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การบริหารพอร์ตโฟลิโอและการลงทุนที่จำเป็นทุกด้าน ไล่ตั้งแต่การวิเคราะห์งบการเงินของกิจการ
นอกจากนั้น ยังสอนพื้นฐานของการทำธุรกิจอื่นๆ ทุกด้าน ตั้งแต่การผลิต การบริหารงานบุคคล และกลยุทธ์อื่นๆของธุรกิจ
ถ้าการลงทุนเป็นศาสตร์แบบเดียวกับวิศวกรรมหรือการแพทย์แล้วละก็ คำตอบก็น่าจะถูกต้อง เพราะคงเป็นเรื่องยากที่คนจบวิชาตกแต่งภายในจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบโครงสร้างตึก หรือคนจบ
นิเทศศาสตร์จะกลายเป็นหมอชื่อดัง
แต่การลงทุนเป็นเรื่องของศาสตร์ไม่ถึงครึ่ง และศาสตร์ที่ใช้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร
ว่าที่จริงผมคิดว่า คนที่เรียนจบระดับมัธยม ถ้าตั้งใจจริงก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนที่สำคัญกว่าและยากกว่าในเรื่องของการลงทุนนั้นเป็นศิลปะ และนี่คือส่วนที่จะสร้างความแตกต่างระหว่าง “เซียนหุ้น”กับ “นักลงทุนธรรมดา”
“ปีเตอร์ ลินซ์” เรียนจบปริญญาตรี ดูเหมือนจะทางด้านภาษา เขาบอกว่า วิชาที่มีประโยชน์จริงๆ ต่อการลงทุนเป็นวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญา ส่วนวิชาการเงินและการลงทุนที่เขาเรียนมาในระดับปริญญาโท นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว เขารู้สึกว่าทำให้เขาหลงทางเข้าใจผิด ถึงขนาดบอกว่าคนที่เรียนวิชาเหล่านี้ จะมีปัญหาที่จะต้องลบล้างสิ่งที่เรียนมา ถ้าต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนเช่นเดียวกับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ
“บิล มิลเลอร์” เซียนหุ้นระดับเดียวกับ ปีเตอร์ ลินซ์ แม้จะดังน้อยกว่า เรียนจบมาทางด้านปรัชญา ซึ่งดูไปแล้วห่างจากเรื่องของการเงินและการลงทุนที่จะต้องพิจารณาถึงตัวเลข การคาดการณ์อนาคต การวิเคราะห์ในเรื่องของการแข่งขัน และการบริหารจัดการของบริษัทธุรกิจต่างๆ แต่มิลเลอร์กลับเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จากการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ล้วนๆ
“ชาร์ลี มังเจอร์” รองประธานของเบอร์กไชร์ และเพื่อนคู่หูของบัฟเฟตต์ เรียนจบทางด้านกฎหมาย และเป็นนักกฎหมายมานานก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักลงทุนเต็มตัว แต่เบื้องหลังจริงๆ ของเขานั้น
เขาเป็น “นักศึกษา” ตัวยง เขาเรียนรู้วิชาต่างๆ มากมาย ซึ่งน่าจะรวมไปถึงฟิสิกส์และปรัชญา
เช่นเดียวกับสถิติและจิตวิทยา เขาบอกว่าการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการสอดประสานของวิชาต่างๆ เช่น นำความคิดของฟิสิกส์มาประยุกต์รวมกับปรัชญา หรือนำวิชาสถิติมาเกี่ยวข้องกับจิตวิทยากัน
พูดโดยสรุปก็คือ ยิ่งคุณมีความรู้กว้างในศาสตร์และศิลป์ที่แตกต่างคนละเรื่องมากเท่าไร คุณก็จะได้เปรียบในการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น
“วอร์เรน บัฟเฟตต์” เรียนจบสายตรงมาทางด้านของธุรกิจและการลงทุน แต่อาจารย์ของเขา คือ “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment นั้น เป็นพหูสูตในหลายๆ เรื่อง เขาเป็นเซียนด้านคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษากรีก ละตินและดนตรี เรียนจบระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และถ้าจำไม่ผิด เขาเขียนบทละครเป็นงานอดิเรก
สิ่งที่เซียนหุ้นดูเหมือนจะมีเหมือนๆ กันหมดก็คือ คนเหล่านั้นมักเป็นนักอ่านตัวยง เป็นนักคิด หลายๆ คนสนใจและเรียนเกี่ยวกับปรัชญา บางคนก็ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งหมดมีความรู้กว้างขวางในหลายๆสาขาวิชา ส่วนหนึ่งก็คงจะมาจากนิสัยรักการอ่าน และดูเหมือนว่า “ความลึก”จะเป็นเรื่องรอง เห็นได้จากการที่เซียนหุ้นส่วนใหญ่มักจะมีมุมมองที่“กว้าง” และมักหลีกเลี่ยงประเด็นที่ลึกและเข้าใจยาก
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน และการลงทุนนั้น คุณไม่ต้องเรียนรู้ตัวอักษรกรีกในคณิตศาสตร์ประเภทเบตา ซิกมา ที่นักวิชาการใช้กัน
ในความเห็นของผม วิชาพื้นฐานการลงทุนที่จะต้องเรียนรู้คงต้องมีเพื่อให้สามารถ “อ่าน” ธุรกิจออก ก็คือวิชาบัญชีพื้นฐานและการวิเคราะห์การเงินพื้นฐาน ซึ่งหาหนังสือที่จะอ่านเองได้ไม่ยาก
นอกจากนั้น คุณควรรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดหรือกลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจ ซึ่งมีหนังสือที่เขียนให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก
จากนั้น คุณก็สามารถอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน โดยเฉพาะหนังสือคลาสสิกหลายๆ เล่มทางด้าน Value Investment เหล่านี้คือพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการลงทุนแต่จะทำได้ดีแค่ไหน ผมคิดว่า “ความกว้าง” ของ “ความรู้”น่าจะมีส่วนมากกว่าการเรียน MBA ทางด้านการเงิน แน่นอนว่า มันเป็นการปูพื้นฐานที่ครบครันในที่เดียว หรือเรียกว่า “One Stop Service” แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
ในการประสบความสำเร็จจากการลงทุน นอกจากนั้น คุณจะต้องระวังว่า สิ่งที่สอนบางอย่างอาจทำให้คุณไขว้เขว และอาจทำให้คุณล้มเหลวจากการลงทุนได้โดยเฉพาะถ้าคุณเชื่อตามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูงสุด คุณไม่มีโอกาสชนะในการลงทุน ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องคิด